รัว รืง มืง สะเร็น หัวข้อ เครื่องประดับกำไลสัมฤทธิ์ (สำริด)
องค์ความรู้ : เครื่องประดับกำไลสัมฤทธิ์ (สำริด)
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์
เครื่องประดับสำริด มักพบอยู่เสมอทั้งในบริเวณพื้นที่โบราณสถานและแหล่งโบราณคดี ได้แก่ กำไลสำริด กำไลข้อเท้าสำริด แหวนสำริดและต่างหูสำริด นอกจากใช้เป็นเครื่องประดับร่างกายของมนุษย์ สัตว์ เครื่องมือเครื่องใช้ อาคาร เพื่อความสวยงาม สร้างรสนิยมและแสดงสถานะทางสังคม เครื่องประดับไม่ได้ถูกผลิตขึ้นเพื่อเป็นเครื่องประดับตกแต่งเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทและความสำคัญที่แฝงไว้ เช่น ความเชื่อ พัฒนาการทางสังคม สัญลักษณ์ สถานภาพ มูลค่าเชิงเศรษฐกิจ และสภาพแวดล้อม
แหล่งโบราณคดีที่เป็นหลุมฝังศพมักพบโบราณวัตถุประเภทเครื่องประดับกำไลสำริด นักโบราณคดีส่วนใหญ่จึงสันนิษฐานว่า กำไลสำริดนอกจากเป็นสิ่งที่สวมใส่ในชีวิตประจำวันแล้ว ยังเป็นสิ่งที่อุทิศให้กับผู้ตายเพื่อนำไปใช้ในชีวิตหลังความตายตามความเชื่อของคนในยุคสมัยนั้น เป็นการแสดงถึงความผูกผัน การให้เกียรติ และสถานะทางสังคมของผู้ตาย โดยแหล่งโบราณคดีที่พบหลักฐานโบราณวัตถุ ประเภทเครื่องประดับกำไลสำริดสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ มีดังนี้
๑. แหล่งโบราณคดีโนนแท่น ตำบลโพนครก อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ เป็นแหล่งโบราณคดีที่เป็นหลุมฝังศพ โดยส่วนหนึ่งจากการขุดค้นพบโบราณวัตถุ กำไลสำริด ลักษณะเป็น ๒ วงซ้อนกัน จากการขุดค้นแหล่งโบราณคดีโนนแท่น อยู่ทางทิศเหนือของหลุมขุดค้น ใกล้ประตูทางออกโรงเรียนโนนแท่นพิทยาคม พบเมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๕ ปัจจุบันเก็บรักษา ณ คลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์
๒. บ้านอาม็อง ตำบลท่าสว่าง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ จากการศึกษาข้อมูลพื้นที่ที่พบโบราณวัตถุ ปรากฏแหล่งโบราณคดีบ้านท่าระโยง ตำบลท่าสว่าง อำเมือง จังหวังสุรินทร์ ซึ่งห่างจากจุดที่พบประมาณ ๑ กิโลเมตร จากการสำรวจพื้นที่เบื้องต้นพบโบราณวัตถุประเภทภาชนะดินเผาสมัยก่อนประวัติศาสตร์ จำนวน ๑๖ ใบ และพบเศษกระดูกอยู่ภายในภาชนะดินเผา นักโบราณคดีได้ดำเนินการขุดกู้ภาชนะดินเผา เพื่อนำมาตรวจสอบและทำความสะอาด โดยส่วนหนึ่งจากการทำความสะอาดพบโบราณวัตถุกำไลสำริดอยู่ภายในภาชนะดินเผา ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกการและจะนำไปอนุรักษ์ซ่อมแซมตามลำดับขั้นตอนต่อไป ปัจจุบันเก็บรักษา ณ คลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
กำไลสำริดที่พบยุคเริ่มแรกในประเทศไทย พบที่แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี ในวัฒนธรรมบ้านเชียง ยุคสมัยต้น อายุประมาณ ๔,๓๐๐-๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว เป็นกำไลแบบเรียบไม่มีการตกแต่ง ถัดมาในยุคสมัยกลาง อายุประมาณ ๓,๐๐๐-๒,๓๐๐ ปีมาแล้ว (ยุคสำริดในประเทศไทย) เริ่มมีการตกแต่งมากขึ้น เช่นประดับปุ่มลายก้นหอยและพบกำไลสำริดมีเส้นเหล็กพันประดับรอบวง ในสมัยปลาย อายุประมาณ ๒,๓๐๐-๑,๘๐๐ ปีมาแล้ว เป็นช่วงที่กำไลสำริดมีความประณีตงดงามมาก การประดับตกแต่งมีความซับซ้อนยิ่งขึ้น นิยมประดับลูกกระพรวน และลวดลายต่าง ๆ บนวงกำไล เช่น ลายก้นหอย ลายขดม้วนเรียงต่อกันในแนวนอน ลายฟันปลา ลายเกลียวเชือก รวมทั้งมีรูปแบบที่หลากหลาย เช่น กำไลทรงกระบอก กำไลปลอกแขน เป็นต้น
เรียบเรียงโดย : นางสาวอาภาภรณ์ เปล่งปลั่งศรี นักวิชาการวัฒนธรรม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์
อ้างอิง
กรมศิลปากร. รายงาน เรื่องแจ้งพบโบราณวัตถุ บ้านอาม็อง ตำบลท่าสว่าง จังหวัดสุรินทร์. ๒๕๖๔.
กรมศิลปากร. รายงาน เรื่องโบราณวัตถุที่จะส่งมอบให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์. ๒๕๕๕.
ประสงค์ ชาวนาไร่. “การศึกษาประติมากรรมเครื่องใช้สำริดในศิลปะเขมรในประเทศไทย.” ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต โบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๒๙.
ศิริพันธ์ ตาบเพ็ชร์. โบราณคดีสำหรับเยาวชน เล่ม ๓ เครื่องประดับสมัยเริ่มแรกในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: กรม, ๒๕๖๔
(จำนวนผู้เข้าชม 17978 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม
-
นโยบายเว็บไซต์ |
มาตรฐาน