ภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์เขาหัวหมวก จังหวัดนครนายก

          แหล่งภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์เขาหัวหมวก ตั้งอยู่ที่ตำบลศรีกะอาง อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก พบภาพเขียนปรากฏอยู่บนก้อนหินโดดขนาดใหญ่วางตัวตามแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก มีหินก้อนเล็กรูปทรงสามเหลี่ยมวางอยู่ด้านบนคล้ายกับสวมหมวก จึงเป็นที่มาของชื่อเรียก “เขาหัวหมวก”
          ลักษณะภาพเขียนสีที่พบเขียนด้วยสีแดง กระจายตัวอยู่บนผนังก้อนหินใหญ่ ใช้เทคนิคการลงสีแบบโครงร่างภายนอก (outline) คือ การเขียนโครงร่างภายนอกเป็นเส้นกรอบรูปและปล่อยพื้นที่ภายในว่างหรือตกแต่งภายในด้วยลวดลายประกอบ และแบบการลงสีแบบเงาทึบ (silhouette) คือ การวาดโครงร่างและทาสีทับภายใน จากการสำรวจสามารถแบ่งกลุ่มภาพเขียนสีออกเป็น ๓ กลุ่ม ได้แก่
          ๑. กลุ่มภาพบนผนังก้อนหินทิศเหนือ พบภาพเขียนสีแดงกระจายตัวอยู่เป็นจำนวนมากกว่าด้านอื่น ๆ ภาพที่พบส่วนใหญ่เป็นภาพลายเรขาคณิต เช่น เส้นตรง เส้นหยัก (ซิกแซค) เรียงกันในแนวตั้ง สภาพซีดจางและเลือนหายบางส่วน
          ๒. กลุ่มภาพบนผนังก้อนหินทิศใต้ พบภาพเขียนสีแดงอยู่บริเวณที่มีร่องรอยของหินกะเทาะหลุดร่วง จำนวน ๓ ภาพ ภาพสัตว์ ๒ ภาพ หันหน้าไปทางทิศตะวันตก เป็นสัตว์มีเขาและโหนกบนสันหลังคล้ายกับ วัวป่า/กระทิง และภาพไม่ทราบรูปแบบที่แน่ชัด ๑ ภาพ

          ๓. กลุ่มภาพบนผนังก้อนหินทิศตะวันตก พบภาพเขียนสีแดง ๖ ภาพ เป็นภาพสัตว์มีเขาและโหนกบนสันหลัง วัว/กระทิง หันหน้าไปทางทิศเหนือ คล้ายกับภาพที่พบบนผนังทิศใต้ และภาพที่ไม่สามารถระบุได้ แน่ชัด เนื่องจากมีสภาพซีดและเลือนลาง
          การพบภาพเขียนสีดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าบริเวณเขาหัวหมวกน่าจะเป็นพื้นที่สำคัญของกลุ่มคนใน ยุคก่อนประวัติศาสตร์ เนื่องจากมีสภาพแวดล้อมเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์และเป็นจุดสำคัญที่สามารถมองเห็นสภาพภูมิประเทศหรือภูเขาโดยรอบและพื้นที่บริเวณหุบเขาด้านล่างในมุมกว้าง ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับ การดำรงชีวิตหรือความเชื่อ เช่น การล่าสัตว์ สภาพธรรมชาติ จากการศึกษาเปรียบเทียบสันนิษฐานว่าภาพเขียนสีเขาหัวหมวกน่าจะเขียนขึ้นในช่วงสมัยสังคมกสิกรรม หรือเมื่อประมาณ ๓,๕๐๐ - ๑,๕๐๐ ปีมาแล้ว โดยภาพที่พบส่วนใหญ่คล้ายคลึงกับภาพเขียนสีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางของประเทศไทย เช่น ภาพวัวป่า/กระทิง มีการสำรวจพบที่เขาปลาร้า จังหวัดอุทัยธานี ถ้ำผาฆ้อง ๒ จังหวัดเลย ภูถ้ำมโฬหาร จังหวัดเลย ถ้ำวัว อุทยานแห่งชาติภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี เขาวังกุลา จังหวัดกาญจนบุรี ภาพลายเรขาคณิตหรือลายเส้น เช่น เส้นตรง เส้นหยักฟันปลา (ซิกแซก) มีการสำรวจพบที่ถ้ำช้าง เพิงหินร่อง จังหวัดอุดรธานี ถ้ำแต้ม 4 จังหวัดอุบลราชธานี ถ้ำลายมือ ๑ จังหวัดขอนแก่น เขาพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี


-------------------------------------------------------------
ผู้จัดทำและเรียบเรียงข้อมูล : นางสาววิไลวรรณ อยู่ทองจุ้ย นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ ๓ พระนครศรีอยุธยา

(จำนวนผู้เข้าชม 7125 ครั้ง)

Messenger