วัคซีนเข็มแรกเกิดขึ้นเมื่อใด?

          วัคซีน (Vaccine) คือ สารชนิดหนึ่งที่ฉีดเข้าไปร่างกาย เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรคต่าง ๆ ส่วนใหญ่ทำมาจากเชื้อโรค แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ทำจากเชื้อโรคที่ตาย และทำจากเชื้อโรคที่อ่อนแอ เมื่อฉีดเข้าไปในร่างกาย ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันกับโรคนั้น ๆ วัคซีนริเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2337 ท่ามกลางการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงของโรคไข้ทรพิษ นายแพทย์ชาวอังกฤษ เอดเวิร์ด เจนเนอร์ (Edward Jenner) สังเกตเห็นว่าหญิงรีดนมวัวที่เคยติดโรคฝีดาษวัวแล้วจะไม่เป็นไข้ทรพิษ จึงได้เริ่มการค้นคว้าทดลองโดยนำหนองจากแผลฝีดาษวัวของหญิงรีดนมวัวดังกล่าว ไปทดลองกับสัตว์หลายชนิดจนมีผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ ต่อมาในวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2339 เริ่มทดลองในคนเป็นครั้งแรกกับเจมส์ ฟิปส์ (James Phipps) เด็กชายอายุ 8 ปี โดยการกรีดผิวหนังที่แขนแล้วนําหนองฝีดาษวัวใส่ลงไป จากนั้นอีกประมาณ 2 เดือน นายแพทย์เจนเนอร์นําเอาหนองฝีจากผู้ป่วยไข้ทรพิษไปทดลองสะกิดที่ผิวหนังของเด็กชายรายเดิม ผลปรากฏว่าเด็กชายผู้นั้นไม่ติดโรคไข้ทรพิษ หลังทําการทดสอบวิธีการดังกล่าวอีกหลายครั้ง จนมั่นใจว่าวิธีการดังกล่าวสามารถป้องกันไข้ทรพิษได้ จึงได้นํารายงานผลการทดลองเสนอต่อราชสมาคมแห่งลอนดอน (Royal Society of London) แต่ถูกส่งคืนอย่างไม่ได้รับความสนใจ นายแพทย์เจนเนอร์จึงตัดสินใจตีพิมพ์เผยแพร่ผลการศึกษาดังกล่าวด้วยทุนส่วนตัว ซึ่งยังคงถูกคัดค้านจากวงการแพทย์ เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องหลอกลวง แม้ผลงานของนายแพทย์เจนเนอร์จะถูกปฏิเสธจากวงการแพทย์ แต่กลับได้รับความนิยมจากประชาชน และการยอมรับขยายวงกว้างออกไปเรื่อย ๆ
          ในปี พ.ศ. 2343 รัฐสภาอังกฤษรับรองผลงานของนายแพทย์เจนเนอร์ เรียกหนองฝีวัวนั้นว่า “Vaccine-วัคซีน” ซึ่งมาจากภาษาละตินว่า Vacca แปลว่าวัว และเรียกวิธีการป้องกันโรคดังกล่าวว่า Vaccination แม้ว่าวัคซีนจะเริ่มจากการใช้ป้องกันโรคไข้ทรพิษที่นำมาจากฝีดาษวัว แต่ปัจจุบันวัคซีนกลายเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อรักษาโรคระบาดหลาย ๆ โรค รวมทั้งโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19
          สำหรับประเทศไทย ไข้ทรพิษ หรือ ฝีดาษ เป็นโรคติดต่อร้ายแรงที่มีมาตั้งแต่โบราณ ทางภาคใต้เรียก “ไข้น้ำ” ส่วนภาคเหนือเรียก “ตุ่มสุก” หรือ “เป็นตุ่ม” ตามลักษณะอาการที่จะมีตุ่มเม็ดเล็ก ๆ ขึ้นดาษตามตัว โรคนี้มีบันทึกในพระราชพงศาวดารสมัยกรุงศรีอยุธยาว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 หน่อพุทธางกูร และสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ล้วนประชวรและเสด็จสวรรคตด้วยไข้ทรพิษ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีบันทึกเรื่องการระบาดของไข้ทรพิษบ่อยครั้ง แม้กระทั่งในสมัยรัตนโกสินทร์ โรคนี้ก็ยังแพร่ระบาดเป็นประจำและไม่มีหนทางรักษา
       วัคซีนในไทยเริ่มต้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) มีการปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2378 โดยหมอบลัดเลย์ (Dr. Dan Beach Bradley) เป็นผู้นําเข้ามาเผยแพร่ ในระยะแรกต้องนำเข้าพันธุ์หนองฝีวัวจากสหรัฐฯ ภายหลังได้ใช้การปลูกฝีด้วยวิธีการ นําเอาหนองฝีจากผู้ป่วยไข้ทรพิษมาทําการปลูกฝี ซึ่งเป็นวิธีการที่ชาวจีนค้นพบ แต่วิธีดังกล่าวยังมีอันตราย จึงกลับมาใช้การนําพันธุ์หนองฝีวัวจากสหรัฐฯเช่นเดิม โดยคิดเงินค่าปลูกฝีคนละ 1 บาท (มีเงื่อนไขให้กลับมาติดตามตรวจดูผล หากฝีขึ้นดีจะคืนเงินให้ 50 สตางค์) เมื่อรัชกาลที่ 3 ทรงทราบถึงความสำเร็จของการปลูกฝีป้องกันโรค จึงโปรดให้แพทย์ประจำราชสำนัก หรือหมอหลวงทุกคนมาฝึกการปลูกฝี และออกไปปฏิบัติการทั้งในและนอกวัง เริ่มตั้งแต่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2380
          ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2385 หมอบรัดเลย์ได้เขียน “ตำราปลูกฝีโค” ถวายรัชกาลที่ 3 และตีพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือจดหมายเหตุ บางกอกรีคอร์เดอร์ (หนังสือพิมพ์ฉบับแรกในสยาม) ต่อมาในปี พ.ศ. 2387 “ตำราปลูกฝีโค ให้กันโรคธระพิศม์ไม่ให้ขึ้นได้” โดยหมอบรัดเลย์ถูกตีพิมพ์เป็นหนังสือเล่มครั้งแรก จำนวน 500 เล่ม และพิมพ์ซ้ำครั้งที่ 2 อีก 1,000 เล่ม ในปีเดียวกัน จากความสำเร็จของการปลูกฝีไข้ทรพิษทำให้หมอบรัดเลย์ได้ชื่อว่าเป็นผู้ริเริ่ม “วิชาเวชศาสตร์ป้องกัน” ในประเทศไทย
          ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) การปลูกฝีเพื่อป้องกันไข้ทรพิษกลายเป็นภารกิจสำคัญของรัฐบาล มีการรายงานความก้าวหน้าของเรื่องนี้ลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษาเป็นประจำ จากปัญหาพันธุ์หนองฝีวัวนำเข้าจากสหรัฐฯ ต้องใช้เวลาเดินทางนานถึง 9 เดือน ทำให้หนองฝีเสื่อมคุณภาพ รัชกาลที่ 5 จึงมีพระราชดำริให้คิดทำหนองฝีขึ้นใช้เอง กระทรวงธรรมการจึงส่งนายแพทย์ของไทยไปศึกษาดูงานที่ประเทศฟิลิปปินส์ ได้แก่ พระบำบัดสรรพโรค หรือนายแพทย์แฮนซ์ อดัมเซ็น (Hans Adamsen) และหลวงวิฆเนศน์ประสิทธิวิทย์ (อัทย์ หสิตะเวช) เมื่อทั้งสองท่านกลับมาเมืองไทยมีการทำพันธุ์หนองฝีครั้งแรกที่สำนักงานบริเวณสี่กั๊กพระยาศรี (สี่แยกพระยาศรี) ต่อมากระทรวงธรรมการเสนอให้รัฐบาลจัดตั้ง “กอเวอนเมนต์ซีร่ำแลโบแร็ตโตรี (Government Serum Laboratory)” สำหรับผลิตพันธุ์หนองฝีขึ้น ใช้ปลูกป้องกันไข้ทรพิษภายในประเทศ และได้ย้ายสถานผลิตพันธุ์หนองฝีไปตั้งที่ตำบลห้วยจรเข้ จังหวัดนครปฐม ก่อนโอนกิจการทั้งหมดมาไว้ที่สภากาชาดไทย ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) จนถึงปัจจุบัน










----------------------------------------------------------
เรียบเรียงโดย นางสาวเกศศิณี ผิวอ่อน บรรณารักษ์ กลุ่มพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศ สำนักหอสมุดแห่งชาติ
----------------------------------------------------------
บรรณานุกรม
จรรยา ยุทธพลนาวี. อ่านเรื่อง อ่านโรค ตอนที่ 2 ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมการจัดการโรคระบาดใน สังคม. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 10 มิถุนายน 2564,จาก: https://www.sac.or.th/main/th/article/detail/127. 2563. บีช แบรดลีย์, แดน. ตำราปลูกฝีโค ให้กันโรคธระพิศม์ไม่ให้ขึ้นได้. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: เอบีซีเอฟเอ็ม เพรส, 2387. “ประกาศกระทรวงมหาดไทย พแนกศุขาภิบาล” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 40 (16 กันยายน 2466) 1858. “ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่ออันตราย (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๓” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 137 ตอนพิเศษ 48 ง (29 กุมภาพันธ์ 2563) 1. รณดล นุ่มนนท์. วัคซีนเข็มแรก ช่วยมนุษย์ พ้นวิกฤตการณ์โรคระบาด. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 10 มิถุนายน 2564,จาก: https://www.prachachat.net/columns/news-671766. 2564. วัคซีนเข็มแรกของโลก วัคซีนเข็มแรกของไทย เกิดขึ้นเมื่อใด. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 10 มิถุนายน 2564,จาก: https://www.silpa-mag.com/history/article_60861. 2564. ศรัณย์ ทองปาน. สยามยามเผชิญโรคระบาด. สืบค้นจาก [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 10 มิถุนายน 2564,จาก: https://ngthai.com/history/31993/siampandemic/. 2563. หมอบรัดเลย์ และความสำเร็จของการปลูกฝี ไข้ทรพิษ ครั้งแรกในสยาม. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 10 มิถุนายน 2564,จาก: https://www.sarakadeelite.com/faces/dr-dan-beach-bradley/. อภิสิทธิ์ เรือนมูล. คน วัว และวัคซีน: เอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์ บิดาแห่งวิทยาภูมิคุ้มกัน. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 10 มิถุนายน 2564,จาก: https://waymagazine.org/humans-vacca-vaccines/. 2564.

(จำนวนผู้เข้าชม 6868 ครั้ง)