ศิลปสถาปัตยกรรมโบราณสถานพระธาตุแช่แห้ง
องค์ความรู้เรื่อง : ศิลปสถาปัตยกรรมโบราณสถานพระธาตุแช่แห้ง จังหวัดน่าน
เรียบเรียงโดย : นายพลพยุหะ  ไชยรส นักโบราณคดีปฏิบัติการ สำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่
          พระธาตุแช่แห้งถือเป็นพระธาตุที่มีความสำคัญมากที่สุดของนครน่านโดยเป็นพระธาตุที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ที่ทำให้เป็นเขตศักดิ์สิทธิ์โดยการขุดคูน้ำคันดินล้อมรอบหรือที่เรียกว่า “เวียงพระธาตุ” โดยใช้คูน้ำเป็นอุทกเสมาแสดงขอบเขตของพื้นที่  ในตำนานพื้นเมืองน่านระบุว่าพญากานเมืองได้รับพระราชทานพระบรมสารีริกธาตุจากกษัตริย์สุโขทัยหลังที่พระองค์เสด็จไปช่วยสร้างวัดหลวงอภัยและได้นำพระบรมสารีริกธาตุไปบรรจุไว้ในพระธาตุที่สร้างขึ้นบนเนินดินพูเพียงแช่แห้งในปี พ.ศ.1899 ตามชัยภูมิที่พระธัมมปาลเถระ ได้แนะนำ ความว่า “…พระญาครานเมืองนิมนต์มาเมตตาอยู่เมืองพัวแล เมื่อนั้นพระญาร่ำเพิงดูที่ควรจุธาตุ จิ่งไหว่เจ้าไทยว่า ข้าแห่งมหาราชคุรุเจ้า จักควรจุธาตุไว้ที่ใดดีชา ขอเจ้ากูจุ่งพิจารณาดูที่ควรจุไว้เทอะ มหาเถรเจ้า (ธัมมปาลเถระ) พิจารรณาที่ ดูที่ทุกถ้วนถี่เมืองกาวก็หันพูเพียงที่ควรจุธาตุ…”  ทั้งนี้ยังไม่มีหลักฐานทางโบราณคดีหรือประวัติศาสตร์ใดในปัจจุบันที่ช่วยทำให้ทราบลักษณะทางศิลปะสถาปัตยกรรมพระธาตุแช่แห้งในสมัยราชวงศ์พูคาได้ (พุทธศตวรรษที่ 19 - 21)
          ต่อมาหลังจากที่ท้าวผาแสงเจ้าผู้ครองนครน่านองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์พูคาสิ้นพระชนม์ลงในปี พ.ศ.2003 พระเจ้าติโลกราชได้ส่งท้าวขาก่านมาครองเมืองน่าน ท้าวขาก่านได้บูรณะปฏิสังขรณ์พระธาตุแช่แห้งขึ้นใหม่โดยอาจได้รับแรงบันดาลใจจากพระธาตุหริภุญชัยเป็นต้นแบบ  มีระเบียบการก่อสร้างพระธาตุดังนี้ฐานล่างสุดเป็นฐานเขียงในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสซ้อนลดหลั่นกันสองชั้น ชั้นที่สองประดับสถูปิกะที่มุมสี่ทิศ เหนือขึ้นไปเป็นฐานบัวคว่ำบัวหงายที่มีการคาดลวดบัวลูกแก้วอกไก่สองเส้นบริเวณท้องไม้ ด้านบนฐานประดับสถูปิกะสี่ด้าน ถัดไปเป็นฐานเขียงในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ผังแปดเหลี่ยม และผังสิบสองเหลี่ยม ตามลำดับ คั่นด้วยฐานประดับกลีบบัวรองรับชุดฐานบัวในผังกลมซ้อนลดหลั่นกันอีกสามชั้น เหนือขึ้นไปเป็นบัวปากระฆังซึ่งรอบรับองค์ระฆังขนาดเล็ก ประดับด้วยรัดอกและดอกไม้สี่กลีบ ส่วนยอดเป็นบัลลังก์มีลักษณะเป็นฐานบัวลูกแก้วอกไก่ในผังย่อมุมไม้ยี่สิบ ถัดไปเป็นปล้องไฉน และปลียอ
          แม้จะได้รับแรงบันดาลใจจากพระธาตุหริภุญไชย หาแต่ช่างพื้นเมืองยังมีการปรับเปลี่ยนระเบียบการก่อสร้างให้แตกต่างออกไปเช่นการลดทอนลวดบัวบางส่วนออกไปและให้ความสำคัญกับฐานเขียงที่คั่นระหว่างชั้นบัวคว่ำบัวหงายในผังยกเก็จกับชุดฐานบัวรองรับองค์ระฆัง โดยมีการเพิ่มความสูงและจำนวนชั้นของฐานเขียงทำให้เจดีย์มีลักษณะที่สูงเพรียว นอกจากนี้ยังมีข้อแตกต่างของชั้นฐานบัวรองรับองค์ระฆังอีกด้วย โดยการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจเกิดจากสุนทรียศาสตร์ของช่างพื้นเมือง  สำหรับการกำหนดอายุนั้นสามารถกำหนดได้จากลักษณะฐานบัวคว่ำบัวหงายที่มีลวดบัวลูกแก้วอกไก่สองเส้นคาดไว้ซึ่งเป็นที่นิยมแพร่หลายในล้านนาช่วงพุทธศตวรรษที่ 21
          นอกจากองค์พระธาตุแล้วยังปรากฏวิหารหลวงสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยพระยาหน่อเสถียรไชยสงคราม ราวปี พ.ศ.2138  ที่ปรากฏในปัจจุบันนั้นสร้างขึ้นในสมัยเจ้าสุมนเทวราชเป็นเจ้าผู้ครองเมืองน่าน ในปี พ.ศ.2363 วิหารหลวงมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาสร้างด้วยไม้ลดหลั่นกัน 3 ชั้น หรือเรียกว่า “ซด” ด้านหน้าวิหารเป็นผนังเรียบ ปรากฏลวดลายปูนปั้นรูปพญานาคประดับทางเข้า โดยเป็นพญานาคเกี้ยวกระหวัดหางขึ้นพันกัน 3 ชั้น เป็นสัญลักษณ์แทนไตรลักษณ์ ประกอบด้วย การเกิด การตั้งอยู่ และการดับสลาย  ที่บริเวณสันหลังคาของวิหารปรากฏลวดลายปูนปั้นเป็นรูปพญานาคด้วยเช่นกัน ส่วนโครงสร้างภายในวิหารนั้นประกอบด้วย ตอนบนเป็นโครงไม้ ไม่มีฝ้าเพดาน เสารับน้ำหนักของชั้นหลังคาเป็นเสาเหลี่ยม มีบัวหัวเสาเป็นปูนปั้นรูปดอกบัวตูม ภายในวิหารประดิษฐานพระเจ้าล้านทอง โดยตามตำนานพื้นเมืองน่านระบุว่าสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2065 ในรัชสมัยพญายอดคำฟ้า ความว่า “….ในปีเต่าสง้านั้น สักกพทได้ 884 ตัว (พ.ศ.2065) เจ้าวัดแช่แห้งชื่อธัมมเสนาแล เถรปาสุรสีลแล มหาสังฆราชาสุรสีลาสรีบุญเรืองแลสังฆะชปะสีลประหยาแล พระญายอดคำฟ้า หมื่นซ้ายธัมมประหยา ส้างพระเจ้าล้านทองแล…”  พระเจ้าล้านทองมีลักษณะทางพุทธศิลป์ที่ยังคงสืบเนื่องจากพระพุทธรูปอิทธิพลศิลปะสุโขทัยหมวดใหญ่ ระยะที่ 2 หากแต่มีความเป็นพื้นถิ่นมากยิ่งขึ้น เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น พระพักตร์กลม พระขนงโก่ง พระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกโด่ง พระหนุเป็นปม ขมวดพระเกศาเล็ก มีกรอบไรพระศก พระรัศมีเป็นเปลว พระวรกายอวบอ้วน ครองจีวรห่มเฉียง ชายสังฆาฏิตกลงเสมอพระนาภี ปลายแตกเป็นเขี้ยวตะขาบ ประทับนั่งขัดสมาธิราบแสดงปางมารวิชัยเหนือฐานบัวคว่ำ – บัวหงาย กำหนดอายุปลายพุทธศตวรรษที่ 21
          นอกจากศิลปกรรมข้างต้นแล้ว ยังปรากฏพระพุทธไสยาสน์เป็นพระนอนปูนปั้นขนาดใหญ่ พบเพียงองค์เดียวที่ปรากฏในเมืองน่าน ลักษณะพุทธศิลป์อาจได้รับอิทธิพลจากศิลปะอยุธยาโดยเฉพาะพระพักตร์ และชายจีวรที่แหลมงองุ้มลง ที่พระเขนยมีจารึกกล่าวถึงนางแสนพลัวสร้างพระพุทธรูปไสยาสน์ พ.ศ.2129 ความว่า “…จุลศกราชได้ 948 ตัว (พ.ศ.2129) อุยาสิกานามแสนพลัวประกอบด้วยสัทธา สร้างพระพุทธปฏิมาองค์นี้ไว้….”  หากเมื่อนำไปเทียบกับรัชสมัยแล้วเจ้าผู้ครองนครน่านแล้วจะตรงกับรัชสมัยของพญาหน่อคำเสถียรไชยสงคราม
          จากข้างต้นแสดงให้เห็นว่าพระธาตุแช่แห้งเป็นศาสนสถานที่มีความสำคัญที่สุดในเมืองน่านได้รับการอุปถัมภก์ บูรณปฏิสังขรณ์ ในหลายรัชกาลตั้งแต่เริ่มสถาปนาพระธาตุขึ้นในช่วงพุทธศตวรษาที่ 19 – 20 และยังคงเป็นศาสนสถานคู่บ้านคู่เมืองน่านจวบจนทุกวันนี้ มีคุณค่าทั้งทางด้านศิลปะสถาปัตยกรรม และโบราณคดีอย่างสูง
               --------------------------------------------------------                       
ที่มาของข้อมูล
จารึกล้านนา ภาค 1 เล่ม 1 : จารึกจังหวัดเชียงราย น่าน พะเยา แพร่ (กรุงเทพฯ : มูลนิธิเจมส์ เอช ดับเบิ้ลยู ทอมป์สัน, 2534)
เชษฐ์ ติงสัญชลี, บทบาทของฐานสี่เหลี่ยมเพิ่มมุมของเจดีย์แบบล้านนา ในศิลปะล้านช้าง พุทธศตวรรษที่ 21-22 (กรุงเทพฯ : คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2541).
สรัสวดี อ๋องสกุล, พื้นเมืองน่าน : ฉบับวัดพระเกิด (กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้ง, 2539)
สมพงษ์ ชีวสันต์, สถาปัตยกรรมพะเยาและน่าน (เชียงใหม่ : โครงการศึกษาวิจัยศิลปสถาปัตยกรรมล้านนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2532)
ศรีศักร วัลลิโภดม, ประวัติศาสตร์โบราณคดีของล้านนาประเทศ (กรุงเทพฯ : มติชน, 2545)
ศักดิ์ชัย สายสิงห์, ศิลปะล้านนา (กรุงเทพฯ : มติชน, 2556)
ศศิธร ปรุดรัมย์, พระธาตุแช่แห้ง : ที่มาและรูปแบบของเจดีย์ทรงระฆังแบบล้านนาที่เมืองน่าน (กรุงเทพฯ : คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2541)
สุรศักดิ์ ศรีสำอาง, เมืองน่าน โบราณคดี ประวัติศาสตร์ และศิลปะ (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2537



















(จำนวนผู้เข้าชม 2215 ครั้ง)

Messenger