เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
แหล่งภาพเขียนสีเกาะยางแดง
...เกาะต่างๆ ในอ่าวพังงา ที่เราแล่นเรือผ่านนั้น หากสังเกตบริเวณผนังเพิงผาหรือถ้ำ อาจพบภาพเขียนสีหรือศิลปะถ้ำ ที่มนุษย์ในอดีตได้เขียนหรือวาดเอาไว้ เมื่อครั้งที่แวะเข้ามาพักพิงและใช้พื้นที่เพื่อวัตถุประสงค์ในหลายๆประการ ที่เกาะยางแดงแห่งนี้ แม้จะไม่ปรากฏภาพบุคคลและสัตว์ประเภทต่างๆ ดังที่พบที่เกาะอื่นๆ แต่ที่นี่ปรากฏภาพที่อาจสื่อถึงพืชพันธุ์ธรรมชาติที่อาจเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของมนุษย์ในยุคนั้นได้...
ที่ตั้งและสภาพทั่วไป
แหล่งภาพเขียนสีเกาะยางแดง ตั้งอยู่ที่ ตำบลกะไหล อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา ในเขตอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา อยู่บนเกาะซึ่งไม่ปรากฏชื่อในแผนที่ทหาร ใกล้กับเกาะทะลุใต้ เป็นเขาหินปูนขนาดเล็ก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหมู่เกาะที่อยู่ติดกัน ตัวเกาะมีรูปร่างยาวรี วางตัวตามแนวแกนทิศเหนือ – ใต้ มีความยาวประมาณ ๒๕๐ เมตร กว้างประมาณ ๘๐ เมตร
การเข้าถึงแหล่ง
จากอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา เดินทางโดยเรือระยะทางประมาณ ๑๗.๒ กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ ๒๐ – ๒๕ นาที โดยผ่านคลองเกาะปันหยี เกาะปันหยี มาทางทิศใต้ผ่านเขาพิงกัน และมุ่งหน้าทางตะวันตก มุ่งสู่เกาะทะลุใต้ ทางด้านซ้ายหรือด้านทิศใต้เป็นที่ตั้งของเกาะยางแดง ซึ่งอยู่ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเขาพิงกัน และควรเดินทางมาถึงช่วงที่น้ำทะเลขึ้นสูง เพื่อให้เรือสามารถแล่นเลาะเลียบเกาะทางฝั่งด้านทิศตะวันออกที่มีลักษณะเป็นอ่าวขนาดเล็กที่มีสภาพค่อนข้างตื้น ไปยังตำแหน่งทางขึ้นสู่เพิงผาที่ปรากฏภาพเขียนสีได้
ลักษณะและรูปแบบ
บริเวณที่ปรากฏภาพเขียนสี เป็นเพิงผาขนาดเล็กและแคบ หันไปทางทิศตะวันออก ลักษณะเป็นโพรงถ้ำขนาดเล็กในแนวนอน ขนาดกว้างประมาณ ๒ เมตร ยาวประมาณ ๗ เมตร และสูงประมาณ ๑ เมตร ทางขึ้นค่อนข้างชันมาก เพิงผาอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๓ – ๕ เมตร มีหินงอกหินย้อย และสามารถเข้าไปอยู่ในโพรงถ้ำได้เพียงครั้งละ ๑ – ๒ คนเท่านั้น ที่ผนังของเพิงผาปรากฏกลุ่มภาพเขียนสีแดงเข้ม เป็นภาพลายเส้นคล้ายดอกไม้ ลายเส้นอื่นๆ และร่องรอยภาพสีแดงที่ค่อนข้างลบเลือน
ภาพที่ปรากฏชัดเจนเป็นกลุ่มภาพลายเส้นสีแดงเข้ม มีจำนวน ๕ – ๖ ภาพ อยู่ใกล้กัน ขนาดกลุ่มภาพโดยรวมกว้างประมาณ ๑๐๐ เซนติเมตร สูงประมาณ ๖๐ –๗๐ เซนติเมตร
ภาพที่ปรากฏชัดเจนที่สุด อยู่ด้านล่างสุดของกลุ่มภาพ เป็นภาพลายเส้นโค้งและเส้นตรงประกอบกันคล้ายรูปดอกไม้หรือดอกหญ้าชูขึ้น ขนาดภาพกว้างและยาวด้านละประมาณ ๑๕ เซนติเมตร สูงจากพื้นเพิงผา ๔๐ เซนติเมตร ส่วนภาพอื่นๆ เป็นภาพลายเส้นตรง เส้นตรงปลายแหลม และเส้นโค้งต่างๆ ซึ่งบางภาพเขียนประกอบกันคล้ายภาพเรขาคณิต แต่ไม่มีรูปทรงที่ชัดเจน และที่ผนังด้านในปรากฏร่องรอยสีแดง
สาระสำคัญ
เกาะยางแดง มีตำแหน่งที่ตั้งอยู่กลางทะเลในอ่าวพังงา โดยด้านทิศตะวันออกของเกาะเป็นอ่าวขนาดเล็ก ซึ่งมนุษย์ในอดีตสามารถใช้จอดเรือและหลบคลื่นลม และสามารถใช้เพิงผาและถ้ำขนาดเล็กเป็นแหล่งพักพิงชั่วคราว
ทั้งนี้สภาพภูมิประเทศในอดีต เพิงผานี้อาจมีสภาพที่เหมาะสมและมีขนาดใหญ่มากพอที่มนุษย์จะสามารถเข้าไปใช้พื้นที่ด้านในเพื่อประกอบกิจกรรม หรือพิธีกรรม ซึ่งอาจมีการขีดเขียนวาดภาพบนผนังเพิงผาเพื่อถ่ายทอดเรื่องราว วิถีชีวิตความเป็นอยู่ และสภาพแวดล้อมรอบตัว ซึ่งสันนิษฐานว่าอยู่ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อประมาณ ๕,๐๐๐ – ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว
กลุ่มภาพสีแดงเข้มที่ปรากฏบนผนังเพิงผา สันนิษฐานว่าอาจเป็นกลุ่มภาพเล่าเรื่องแสดงเหตุการณ์หรือบอกเล่าเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต โดยมีภาพที่สำคัญเป็นภาพลายเส้นคล้ายดอกไม้ ดอกหญ้า หรือพืชชนิดใดชนิดหนึ่ง ที่ผู้เขียนได้พบเห็นมา หรือเขียนบอกเล่าชนิดของพืชที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการอุปโภคและบริโภคได้
ส่วนภาพลายเส้นอื่นๆ ที่บางภาพเขียนประกอบกันคล้ายภาพเรขาคณิต อาจเป็นการขีดเขียนเพื่อสื่อสาร เขียนภาพประกอบ หรืออาจเป็นภาพที่ยังเขียนไม่แล้วเสร็จ
-------------------------------------------------------
สำรวจ/เรียบเรียง/กราฟิก :
นายธวัชชัย ชั้นไพศาลศิลป์ นักโบราณคดีชำนาญการ กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช
(จำนวนผู้เข้าชม 2284 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน