แนะนำหนังสือออกใหม่ “พระพิมพ์ : พระเครื่องเมืองไทย”

          กรมศิลปากร ขอแนะนำหนังสือออกใหม่ “พระพิมพ์ : พระเครื่องเมืองไทย” รวบรวมองค์ความรู้ เกี่ยวกับการดำเนินงานทางโบราณคดี ประวัติการค้นพบพระพิมพ์ตามแหล่งหรือกรุต่าง ๆ พร้อมแสดงภาพพระพิมพ์ พระเครื่องชิ้นสำคัญที่งดงาม หาชมได้ยาก จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั่วประเทศ ราคาเล่มละ ๑,๓๕๐ บาท ปกแข็ง พิมพ์สี่สีทั้งเล่ม ผู้สนใจสามารถซื้อหนังสือได้ที่ร้านหนังสือกรมศิลปากร (อาคารเทเวศร์) หรือสั่งซื้อทางออนไลน์ได้ที่ https://bookshop.finearts.go.th

          “พระพิมพ์” เป็นพระพุทธรูปและรูปเคารพขนาดเล็กในพระพุทธศาสนา สร้างขึ้นตามแบบพิมพ์ ด้วยมวลสารและวัสดุต่าง ๆ ตามศรัทธาและกำลังทรัพย์ของผู้สร้าง พระพิมพ์ที่สร้างขึ้นในช่วงแรกมีวัตถุประสงค์เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนา เป็นการทำบุญ หรือเป็นเครื่องรำลึกแทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สำหรับยึดเหนี่ยวจิตใจในการดำเนินชีวิตให้ถูกต้องตามครรลองแห่งธรรม พระพิมพ์แต่ละยุคสมัยได้มีพัฒนาการแปรเปลี่ยนไปตามความนิยมของสังคม จนกระทั่งล่วงมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ คติการบูชาพระพุทธรูปขนาดเล็กได้แปรเปลี่ยนไปกลายเป็นเครื่องรางของขลังแห่งความศักดิ์สิทธิ์ และเป็นที่รวมของอานุภาพพุทธคุณที่อาจดลบันดาลให้ผู้ศรัทธาประสบในสิ่งที่ปรารถนาและคุ้มครองป้องกันภยันตรายต่าง ๆ ได้ พระพิมพ์จึงกลายเป็น “พระเครื่องราง” หรือ “พระเครื่อง” ในปัจจุบัน


ภาพ : พระพิมพ์ปางมารวิชัยในซุ้มเรือนแก้ว  ศิลปะอยุธยา  พุทธศตวรรษที่ ๒๐  หรือประมาณ ๖๐๐ ปีมาแล้ว


ภาพ : พระพิมพ์พระพุทธรูปปางสมาธิ แวดล้อมด้วยเครื่องสูง ศิลปะทวารวดี พุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๕ หรือประมาณ ๑,๑๐๐ - ๑,๒๐๐ ปีมาแล้ว


ภาพ : พระพิมพ์ปางมารวิชัย ประดับบนฐานบัว (พระหูยาน) ศิลปะลพบุรี พุทธศตวรรษที่ ๑๘ - ๑๙ หรือประมาณ ๗๐๐ - ๘๐๐ ปีมาแล้ว


ภาพ : พระพิมพ์และแม่พิมพ์ลีลา (พระลีลาถ้ำหีบ) ศิลปะสุโขทัย  พุทธศตวรรษที่ ๒๐  หรือประมาณ ๖๐๐ ปีมาแล้ว


ภาพ : พระพิมพ์ลีลาในซุ้มเรือนแก้ว (พระกำแพงศอก) พุทธศตวรรษที่ ๒๐  หรือประมาณ ๖๐๐ ปีมาแล้ว


          พระพิมพ์ พระเครื่อง นอกจากจะสะท้อนให้เห็นถึงคติความเชื่อทางศาสนา สุนทรียภาพ และ เทคนิคศิลปกรรมในแต่ละยุคสมัยแล้ว ยังเป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่แสดงถึงวิถีชีวิตของผู้คน ความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนและบ้านเมืองที่มีพัฒนาการนับตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน กรมศิลปากรตระหนักถึงการแบ่งปันองค์ความรู้ด้านศิลปโบราณวัตถุอันเป็นมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ จึงจัดพิมพ์หนังสือ “พระพิมพ์ : พระเครื่องเมืองไทย” ขึ้น โดยรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับการดำเนินงานทางโบราณคดี การค้นพบพระพิมพ์ตามแหล่งหรือกรุต่าง ๆ การศึกษาตรวจพิสูจน์พระพิมพ์ตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ การศึกษาจำแนกพระพิมพ์ตามรูปแบบศิลปกรรมแต่ละยุคสมัย พร้อมแสดงภาพพระพิมพ์ พระเครื่องชิ้นสำคัญ ที่เก็บรักษาและจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อเผยแพร่ให้แก่สาธารณชนและรักษาสืบทอดมรดกศิลปวัฒนธรรม ที่เป็นภูมิปัญญาของบรรพชนสู่อนุชนต่อไป

ภาพ : พระพิมพ์นาคปรก ขนาบข้างด้วยพระโพธิสัตว์  ศิลปะศรีวิชัย  พุทธศตวรรษที่ ๑๓ - ๑๔  หรือประมาณ ๑,๒๐๐ - ๑,๓๐๐ ปีมาแล้ว


ภาพ : พระพิมพ์ปางมารวิชัยภายใต้ต้นโพธิ์  ศิลปะล้านนา  พุทธศตวรรษที่ ๒๑ - ๒๒  หรือประมาณ ๔๐๐ - ๕๐๐ ปีมาแล้ว


ภาพ : พระพิมพ์ปางห้ามพระแก่นจันทน์ภายในซุ้ม  (พระพุทธบาทปิลันทน์ พิมพ์ซุ้มประตู) ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๕ หรือประมาณ ๑๐๐ ปีมาแล้ว


ภาพ : พระพิมพ์ปางมารวิชัย (พระพิจิตรนาคกลาง) ศิลปอยุธยา พุทธศตวรรษที่ ๒๐  หรือประมาณ ๖๐๐ ปีมาแล้ว

          หนังสือเล่มนี้มีจำนวน ๔๐๐ หน้า ปกแข็ง พิมพ์สี่สีทั้งเล่ม ราคา ๑,๓๕๐ บาท ผู้สนใจสามารถซื้อ หนังสือได้ที่ร้านหนังสือกรมศิลปากร (อาคารเทเวศร์) หรือสั่งซื้อทางออนไลน์ที่ https://bookshop.finearts.go.th สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ facebook fanpage ศูนย์หนังสือกรมศิลปากร หรือ โทรศัพท์ ๐ ๒๑๖๔ ๒๕๐๑ ต่อ ๑๐๐๔ (ในวันและเวลาราชการ)

(จำนวนผู้เข้าชม 2415 ครั้ง)

Messenger