วิหารคริสตจักรตรังตำบลทับเที่ยง อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง

กำเนิดคริสตจักรโปรเตสแตนต์ในประเทศไทย
          คริสตจักรโปรเตสแตนต์ในประเทศไทย มีประวัติศาสตร์ย้อนไปตั้งแต่ในปี พ.ศ.๒๓๗๑ เมื่อศาสนาจารย์จาคอบ ทอมลิน จากสมาคมมิชชันนารีลอนดอน และศาสนาจารย์นายแพทย์คาร์ล กุตสลาฟ จากสมาคมมิชชันนารีฮอลันดา เข้ามาเผยแผ่คริสตศาสนานิกายโปรเตสแตนต์เป็นครั้งแรกในประเทศสยาม ต่อมาจึงมีคณะมิชชันนารีเดินทางเข้ามาเผยแผ่คริสตศาสนาอีกหลายคณะ รวมทั้งมิชชันนารีคณะอเมริกันเพรสไบทีเรียนด้วย

มิชชันนารีคณะอเมริกันเพรสไบทีเรียน
          ในปี พ.ศ.๒๓๘๐ มิชชันนารีคณะอเมริกันเพรสไบทีเรียนเข้ามาในประเทศไทยเป็นครั้งแรก และเมื่อถึงพ.ศ.๒๓๙๒ ศาสนาจารย์สตีเฟน แมตตูน แหม่มแมตตูน(ภรรยา) ศาสนาจารย์นายแพทย์แซมมูเอล เรโนลด์ เฮาส์ ศาสนาจารย์สตีเฟน บุช และภรรยา ได้ดำเนินการประชุมเพื่อสถาปนาคริสตจักรอเมริกันเพรสไบทีเรียนในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ตั้งที่ทำการของมิชชันอยู่ที่บริเวณชุมชนกุฎีจีน กรุงเทพมหานคร และต่อมาย้ายไปยังย่าน
สำเหร่ทั้งหมดในพ.ศ.๒๔๐๐
          สำเหร่จึงกลายมาเป็นศูนย์กลางการทำงานของคณะอเมริกันเพรสไบทีเรียน เป็นที่ตั้งของโบสถ์คริสตจักรที่ ๑ มีบ้านพักมิชชันนารี โรงเรียน โรงพิมพ์ ครบครัน มิชชันนารีที่เพิ่งเดินทางมาใหม่สามารถเข้ามาอาศัยเพื่อเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมไทย ก่อนที่จะเดินทางออกไปเผยแผ่ศาสนาและจัดตั้งศูนย์มิชชันนารีในเมืองต่างๆ สำหรับในภาคใต้ได้มีการจัดตั้งศูนย์มิชชันนารีที่นครศรีธรรมราชเมื่อพ.ศ.๒๔๔๓ และจัดตั้งศูนย์มิชชันนารีที่ตรังในพ.ศ.๒๔๕๓

แรกเริ่มศาสนาคริสต์ในตรัง
          ราว ๒๔๔๘(ค.ศ.๑๙๐๕) ศาสนาจารย์จอห์น แคริงตัน(Rev.John Carrington) แห่งสมาคมพระคริสตธรรมอเมริกันเดินทางมาเผยแพร่คริสต์ศาสนาที่จังหวัดตรัง ในครั้งนั้นท่านได้มอบหนังสือเล่มหนึ่งแก่หลวงเพชรสงคราม (นายบุญนารถ ไชยสอน) ซึ่งทำให้หลวงเพชรสงครามหันมานับถือคริสต์ศาสนาในเวลาต่อมา แต่เนื่องจากเมืองตรังในขณะนั้นไม่มีหมอสอนศาสนาประจำอยู่ จึงทำให้ยังไม่มีโอกาสเข้าพิธีรับบัพติศมา(พิธีรับศีลล้างบาป) จนกระทั่งศาสนาจารย์ ดร.ยูจีน เพรสลี ดันแลป (Rev.Dr. Eugene Pressly Dunlap) เดินทางมายังจังหวัดตรังจึงได้เข้ารับบัพติศมา และถือว่าหลวงเพชรสงครามเป็นคริสเตียนคนแรกของจังหวัดตรัง

กำเนิดคริสตจักรตรัง
          คริสตจักรตรัง เป็นส่วนหนึ่งของคณะเพรสไบทีเรียนสยาม(คริสตศาสนานิกายโปรแตสแตนท์) ปัจจุบันสังกัดคริสตจักรภาคที่ ๑๗ คริสตจักรตรังกำเนิดขึ้นในพ.ศ.๒๔๔๘(ค.ศ.๑๙๐๕) เมื่อพระยารัษฎานุปะดิษฐ์(คอซิมบี้ ณ ระนอง) มอบเงิน ๓,๐๐๐ ดอลลาร์ ให้ศาสนาจารย์ ดร.ยูจีน เพรสลี ดันแลป (Rev.Dr. Eugene Pressly Dunlap) เพื่อดำเนินการสร้างโรงพยาบาลทับเที่ยงขึ้นที่จังหวัดตรัง และอนุญาตให้ดำเนินการเผยแผ่คริสตศาสนาได้โดยเสรี แต่ก็ยังไม่นับเป็นวันเริ่มต้นของคริสตจักรตรังอย่างเป็นทางการ

สถานีประกาศทับเที่ยง
          วันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๔๕๓ (ค.ศ.๑๙๑๐) ศาสนาจารย์ ดร.ยูจีน เพรสลี ดันแลป ได้เลือกที่ดินในบริเวณตลาดทับเที่ยงเป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลทับเที่ยงและเป็นที่ตั้งของสถานีมิชชั่น(Station)หรือสถานีประกาศ ซึ่งหมายถึงฐานหรือสถานีปฏิบัติงานของคณะ จึงนับเป็นวันเริ่มต้นของคริสตจักรตรังอย่างเป็นทางการ โดยผู้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการดำเนินงานในระยะเริ่มแรกนี้ได้แก่ ศาสนาจารย์ ดร.ยูจีน เพรสลี ดันแลป (Rev.Dr. Eugene Pressly Dunlap) นางอีเมไลน์ วิลสัน คริสส์(Mrs.Emaline Wilson Criss) ภรรยาของท่าน นายแพทย์ลูเชียส คอนสแตนท์ บัลค์ลีย์ (Dr.Lucius Constant Bulkley) นางเอ็ดน่า บูรเนอร์ บัลค์ลีย์ (Mrs.Ednah Bruner Bulkley) ครูตุ้น(ชาวจีน) และนายจวง จันทรดึกผู้ช่วยด้านการแพทย์ชาวไทย ทั้งนี้ได้เริ่มให้มีการถือศีลระลึกถึงความมรณาของพระเยซู และมีการให้บัพติศมา ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๕ (ค.ศ.๑๙๑๒)

โรงสวดทับเที่ยง
          ต่อมาในพ.ศ.๒๔๕๖ (ค.ศ.๑๙๑๓) คริสตจักรตรังได้รับอนุญาตให้ซื้อที่สำหรับสร้างสุสานและโบสถ์ ทั้งนี้ในวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๔๕๖ มีสมาชิกคริสตจักรตรัง ๗๐ คน มาช่วยกันปรับที่ดิน และสร้างโบสถ์ทำด้วยไม้ไผ่ หลังคามุงจาก บนดินที่ได้ช่วยกันปรับพูนขึ้น รวมทั้งสร้างม้านั่ง และประดับประดาจนเสร็จสิ้นภายใน ๑ วัน เรียกกันว่า “โรงสวดทับเที่ยง” ใช้เป็นสถานที่นมัสการแทนสถานที่เดิมคือห้องประชุมของโรงพยาบาลทับเที่ยง

วิหารทับเที่ยง
          ต่อมาใน พ.ศ.๒๔๕๘ (ค.ศ.๑๙๑๕) ได้สร้างโบสถ์หลังใหม่ก่อด้วยอิฐฉาบปูนเรียกชื่อว่า “วิหารทับเที่ยง” ซึ่งยังคงปรากฏมาถึงปัจจุบัน โดยในวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๕๘ ได้มีการประกอบพิธีถวายอาคารหลังนี้ และทำการการฉลองเป็นเวลา ๓ วันในระหว่างวันที่ ๒๘-๓๐ พฤศจิกายน ๒๔๕๘ วิหารแห่งนี้สามารถรองรับผู้คนซึ่งเดินทางมานมัสการได้ราว ๒๐๐ คน

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม
          “วิหารทับเที่ยง” มีลักษณะเป็นอาคารชั้นเดียว ก่ออิฐถือปูน ขนาดกว้าง ๑๒ เมตร ยาว ๑๙ เมตร มีหน้าต่างด้านละ ๗ บาน ประตูด้านหน้า ๑ ประตู ด้านหลัง ๒ ประตู หน้าต่างและประตู มีกรอบวงกบรูปวงโค้ง มีคิ้วปูนอยู่เหนือกรอบวงกบ ภายในแบ่งเป็นห้องโถงเล็กด้านหน้าประตู และห้องโถงใหญ่ภายใน โดยที่ผนังเหนือซุ้มหน้าห้องโถงเล็กมีอักษรจารึกว่า “วิหารคริศศาสนาสร้างค.ศ.๑๙๑๕” ส่วนหลังคามุงด้วยกระเบื้องซีเมนต์แบบเก่า ด้านข้างของอาคารมีหอระฆัง โดยส่วนหลังคาของหอระฆังเมื่อแรกสร้างนั้นมีลักษณะเป็นดาดฟ้า รูปทรงคล้ายป้อมทหารโบราณ โดยในเวลาต่อมาได้ทำการต่อเติมหอระฆังและย้ายระฆังจากชั้นที่ ๒ ไปไว้ชั้นที่ ๓ รวมทั้งเปลี่ยนรูปทรงหลังคาของหอระฆังด้วย

การบูรณะ พ.ศ.๒๕๒๘ (ค.ศ.๑๙๘๕)
          ดำเนินการระหว่างเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม การบูรณะในครั้งนี้ได้เปลี่ยนวัสดุมุงหลังคาจากกระเบื้องซีเมนต์แบบเก่า มาเป็นกระเบื้องใยสังเคราะห์ ปรับปรุงเพดานด้วยการบุกระเบื้องยิปซัม เปลี่ยนพื้นจากพื้นปูนหยาบเป็นปูพื้นด้วยกระเบื้องเซรามิกส์สีขาวครีม ทาสีผนังทั้งภายนอกและภายใน และทำเวทีใหม่ให้ลดความสูงลง การบูรณะ พ.ศ.๒๕๕๐(ค.ศ.๒๐๐๗) พ.ศ.๒๕๕๐ คณะกรรมการบริหารคริสตจักรตรังเห็นสมควรให้มีการบูรณะวิหารทับเที่ยงที่ชำรุดทรุดโทรมลง จึงมีคำสั่งลงวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๐ แต่งตั้งนายเทิดศักดิ์ ตรีรัตนพันธ์ เป็นผู้ควบคุมดูแลการบูรณะ ให้นายสนิท พานิช เป็นวิศวกรที่ปรึกษา โดยใช้งบประมาณจากการถวายของสมาชิกคริสตจักรตรังในการดำเนินการ การบูรณะในครั้งนี้ได้เปลี่ยนกลับมาใช้กระเบื้องว่าวตามแบบโบราณ ซ่อมแซมผนังส่วนที่แตกร้าวโดยใช้กรรมวิธีแบบโบราณ เสริมกระจกใสบริเวณหน้าต่าง ออกแบบตู้ไม้สำหรับติดตั้งเครื่องปรับอากาศ เปลี่ยนวัสดุปูพื้นจากเซรามิกส์เป็นแผ่นหินอ่อนจากสระบุรี ปรับปรุงระบบไฟฟ้าทั้งหมด ทั้งนี้การบูรณะได้ดำเนินการแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๑

รางวัลอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่น
          พ.ศ.๒๕๕๒ วิหารคริสตจักรตรัง ได้รับการคัดเลือกจากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้ได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น ประเภทปูชนียสถานและวัดวาอาราม

โบราณสถานวิหารคริสตจักรตรัง
          พ.ศ.๒๕๔๕ กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนวิหารคริสตจักรตรัง เป็นโบราณสถานของชาติ ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๙ ตอนพิเศษ ๑๑๗ ง วันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๕

















































------------------------------------------------------
เรียบเรียงโดย นายสารัท ชลอสันติสกุล นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ ๑๑ สงขลา

(จำนวนผู้เข้าชม 2847 ครั้ง)

Messenger