เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
วัดโตนดหลาย โบราณสถานที่ปรากฎเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ในย่านภาคกลาง
วัดโตนดหลาย ตั้งอยู่ที่ตำบลแพรกศรีราชา อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท แผนผังของวัดนั้นวางตัวตามแนวแกนทิศตะวันออก - ตะวันตก ซึ่งวิหารของวัดโตนดหลาย หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ภายในกำแพงแก้วของวัดโตนดหลาย ปรากฎศาสนสถานอันประกอบไปด้วย เจดีย์ประธาน วิหาร เจดีย์ราย และมณฑป
โบราณสถานแห่งนี้มีความเฉพาะพิเศษ คือ มีเจดีย์อันเป็นประธานของวัดเป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์หรืออีกชื่อคือทรงดอกบัวตูม ซึ่งเป็นรูปแบบเจดีย์ในศิลปะสุโขทัย แม้จะมีรายละเอียดของรูปแบบงานศิลปกรรมที่ต่างไปจากเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ที่พบภายในอาณาเขตของอาณาจักรสุโขทัยอยู่บ้าง แต่ก็ยังแสดงถึงแรงบันดาลใจทางศิลปะที่ถ่ายทอดถึงกันอย่างชัดเจน
ส่วนยอดเดิมของเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์วัดโตนดหลายนั้นหักหายไป ต่อมาจึงมีการบูรณะต่อเติมตามหลักการอนุรักษ์เพื่อให้เจดีย์วัดโตนดหลายมีรูปแบบที่สมบูรณ์ให้มากที่สุด
จากการขุดแต่งและขุดค้นทางโบราณคดี ณ วัดโตนดหลาย แห่งนี้ ได้พบโบราณวัตถุที่เป็นหลักฐานบอกเล่าถึงการใช้พื้นที่บริเวณโบราณสถานแห่งนี้ในอดีต ซึ่งพบหลักฐานว่ามีการอยู่อาศัยมาตั้งแต่ ทวารวดี เพราะได้พบโบราณวัตถุประเภทหม้อก้นกลม ปากผายออก เนื้อดินผสมกรวด ทราย แกลบข้าว ผิวภาชนะมีสีเหลืองนวล ขึ้นรูปภาชนะด้วยมือ ซึ่งเป็นรูปแบบภาชนะที่ได้จากการเผากลางแจ้ง และยังพบภาชนะดินเผาแบบหม้อมีสันก้นตื้น ตกแต่งด้วยลายเชือกทาบ ลายเส้นขนาน และลายขูดขีด โดยภาชนะรูปแบบนี้ เป็นที่นิยมในกลุ่มสังคมวัฒนธรรมทวารวดี เช่น ที่บ้านคู่เมือง อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี บ้านท่าแค อ.เมือง จ.ลพบุรี บ้านจันเสน อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์
นอกจากนี้ในการขุดแต่งยังพบหม้อมีพวย ที่มีลักษณะคล้ายกับหม้อมีพวยที่พบในชุมชนและเมืองโบราณสมัยทวารวดีทั่วไปเช่นกัน
ในส่วนชั้นดินด้านบนที่อยู่เหนือชั้นดินในวัฒนธรรมทวารวดี ซึ่งเป็นชั้นดินที่ร่วมสมัยกับเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ได้พบเศษภาชนะดินเผาจากแหล่งเตาบ้านบางปูน จังหวัดสุพรรณบุรี กับเศษภาชนะดินเผาเคลือบเขียวจากแหล่งเตาศรีสัชนาลัย และเครื่องถ้วยเวียดนาม ที่กำหนดอายุได้อยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ จึงสันนิษฐานอายุของวัดโตนดหลายนี้ไว้ได้ว่าสร้างในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ และยังแสดงถึงแรงบันดาลใจในการก่อสร้างที่มาจากทางสุโขทัย อีกด้วย
กรมศิลปากรได้ทำการขุดแต่งและบูรณะโบราณสถานแห่งนี้ ๒ ครั้ง โดยครั้งแรก ได้ขุดแต่งบูรณะในปี พ.ศ. ๒๕๓๖ ถัดมาในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ จึงมีการขุดแต่งและขุดค้นทางโบราณคดีอีกครั้งหนึ่ง
------------------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชัยนาทมุนี
------------------------------------------------------------
(จำนวนผู้เข้าชม 1215 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน