เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
แรกนาขวัญในหัวเมืองภาคใต้
ประวัติศาสตร์แห่งการแรกนาขวัญ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระบรมราชาธิบายเรื่องการแรกนา ไว้ในพระราชนิพนธ์เรื่อง พระราชพิธีสิบสองเดือนตอนพระราชพิธีเดือนหก ความตอนหนึ่งว่า
"...การแรกนาที่ต้องเป็นธุระของผู้ซึ่งเป็นใหญ่ในแผ่นดินเป็นธรรมเนียมมีมาแต่โบราณ เช่นในเมืองจีน สี่พันปีล่วงมาแล้ว พระเจ้าแผ่นดินก็ลงทรงไถนาเองเป็นคราวแรก พระมเหสีเลี้ยงตัวไหม ส่วนจดหมายเรื่องราวอันใดในประเทศสยามนี้ ที่มีปรากฏอยู่ในการแรกนานี้ก็มีอยู่เสมอเป็นนิตย์ไม่มีเวลาเว้นว่าง ด้วยการซึ่งผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินลงมือทําเองเช่นนี้ ก็เพื่อจะให้เป็นตัวอย่างแก่ราษฎร ชักนำให้มีใจหมั่นในการที่จะทํานา เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่จะได้อาศัยเลี้ยงชีวิตทั่วหน้า เป็นต้นเหตุของความตั้งมั่นและความเจริญไพบูลย์แห่งพระนครทั้งปวง แต่การซึ่งมีพิธีเจือปนต่างๆ ไม่เป็นแต่ลงมือไถนาเป็นตัวอย่าง เหมือนอย่างชาวนาทั้งปวงลงมือไถนาของตัวตามปรกติ ก็ด้วยความหวาดหวั่นต่ออันตราย คือน้ำฝนน้ำท่ามากไปน้อยไป ด้วงเพลี้ยและสัตว์ต่างๆ จะบังเกิดเป็นเหตุอันตราย ไม่ให้ได้ประโยชน์เต็มภาคภูมิ และมีความปรารถนาที่จะให้ได้ประโยชน์เต็มภาคภูมิเป็นกําลัง จึงได้ต้องแส่หาทางที่จะแก้ไข และทางที่จะอุดหนุน และที่จะเสี่ยงทายให้รู้ล่วงหน้าจะได้เป็นที่มั่นอกมั่นใจ ก็การที่จะแก้ไขเยียวยาน้ำฝนน้ำท่าซึ่งเป็นของเป็นไปโดยฤดูปรกติเป็นเอง โดยอุบายลงแรงลงทุนอย่างไรไม่ได้ จึงต้องอาศัยคำอธิษฐานเอาความสัตย์เป็นที่ตั้งบ้าง ทำการซึ่งไม่มีโทษนับว่าเป็นการสวัสดิมงคล ตามซึ่งมาในพระพุทธศาสนาบ้าง บูชาเซ่นสรวงตามที่มาทางไสยศาสตร์บ้าง ให้เป็นการช่วยแรงและเป็นที่มั่นใจตามความปรารถนาของมนุษย์ซึ่งคิดไม่มีที่สุด..."
แรกนาขวัญในหัวเมืองภาคใต้
นอกจากกรุงเทพมหานครแล้ว ยังมีหัวเมืองซึ่งประกอบพิธีแรกนาด้วยเช่นกัน เมืองเหล่านี้ล้วนเป็นเมืองเก่าแก่ และมีธรรมเนียมปฏิบัติสืบเนื่องมาแต่โบราณ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระบรมราชาธิบายเรื่องการแรกนาในหัวเมืองไว้ในพระราชพิธีสิบสองเดือน(พระราชพิธีเดือนหก)ตอนหนึ่งว่า “...หัวเมืองซึ่งมีการแรกนา มีของหลวงพระราชทานเกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๔ คือกรุงเก่าเมือง ๑ เพชรบุรีเมือง ๑ แต่เมืองซึ่งเขาทําแรกนามาแต่เดิม ไม่มีของหลวงพระราชทาน คือเมืองนครศรีธรรมราช เมืองไชยา ๒ เมืองนี้เป็นเมืองมีพราหมณ์ๆ เป็นธุระในการพิธี แต่ผู้ว่าราชการเมืองไม่ได้ลงแรกนาเอง มอบให้หลวงนาขุนนาเป็นผู้แรกนาแทนตัว เมืองสุพรรณบุรีอีกเมืองหนึ่งก็ว่ามีแรกนา ไม่ได้เกี่ยวข้องในการหลวงเหมือนกัน แต่ในปีนี้ได้จัดให้มีการแรกนาขึ้นเป็นการหลวงอีกเมืองหนึ่ง...” แรกนาขวัญในจิตรกรรมฝาผนัง
สำหรับงานจิตรกรรมฝาผนัง ภาพของพิธีแรกนาขวัญจะปรากฏอยู่ในส่วนของภาพพุทธประวัติ ตอน “วัปปมงคล” ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่พระเจ้าสุทโธทนะ พระราชบิดา ประกอบพิธีแรกนาขวัญ ส่วนเจ้าชาย สิทธัตถะราชกุมารนั้นโปรดให้ลาดพระแท่นบรรทมที่ใต้ต้นหว้าใหญ่ แต่พระราชกุมารกลับนั่งทำสมาธิจนได้ ปฐมฌาน และเกิดเหตุมหัศจรรย์เงาต้นหว้าซึ่งพระราชกุมารประทับอยู่นั้นไม่เคลื่อนที่แม้เวลาจะล่วงเลยไป เพียงใดก็ตาม จนเป็นเหตุให้พระเจ้าสุทโธทนะถวายอภิวันทนา(ไหว้) พระราชกุมาร เป็นครั้งที่ ๒ ดังปรากฏความในพรปฐมสมโพธิกถา กปิลวัตถุคมนปริวัตต์ ปริเฉทที่ ๑๗ ความว่า
“...ในสมัยนั้นสมเด็จกรุงสุทโธทนมหาราชพระพุทธบิดา ได้ทรงทัศนาพระปาฏิหารเปนมหัศจรรย์ จึงถวายอภิวันทนาการแล้ว กราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้ทรงพระภาค กาลในวันพระองค์ประสูติ์นั้นนำพระองค์มา เพื่อจะให้วันทนาพระกาลเทวิลดาบส ก็กระทำพระปาฏิหารขึ้นยืนเหยียบพระบาทอยู่ณเบื้องบนชฎาแห่ง พระมหาชฎิล ครั้งนั้นข้าพระองค์ก็ถวายอภิวันทนา พระบาทยุคลเปนปฐมวันทนา แลกาลเมื่อวันกระทำวัปปมงคลแรกนาขวัญก็นำพระองค์ไปบันทมในร่มไม้หว้า ได้ทัศนาฉายาไม้นั้นมิได้ชายไปตามตวัน ข้าพระองค์ก็ถวายบังคมเปนทุติยวันทนาวารคำรบ ๒ แลกาลบัดนี้ได้เห็นประปาฏิหารอันมิได้เคยทัศนากาลมาแต่ก่อน ข้าพระองค์ก็ถวายอัญชลีกรพระบวรบาทเปนตติยวันทนาวารคำรบ ๓ ในครั้งนี้...”
แรกนาขวัญในจิตรกรรมฝาผนังภาคใต้
ภาพจิตรกรรมฝาผนัง พุทธประวัติตอนวัปปมงคล ในพื้นที่ภาคใต้พบไม่มากนัก โดยวัดที่พบการเขียนภาพจิตรกรรมตอนนี้ได้แก่ วัดวัง ตำบลลำปำ อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง เขียนภาพโดยหลวงเทพบัณฑิต(สุ่น) กรมการเมืองพัทลุง โดยเขียนภาพขึ้นราวปลายรัชกาลที่ ๓ – ต้นรัชกาลที่ ๔ วัดท้าวโคตร ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช และวัดพัฒนาราม ตำบลตลาด อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นภาพที่เขียนขึ้นราวสมัยรัชกาลที่ ๔-๕
แรกนาขวัญในผ้าพระบฏในภาคใต้
ผ้าพระบฏ พบที่วัดหัวเตย ตำบลดอนทราย อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง ซึ่งเป็นผ้าพระบฏที่เขียนภาพพุทธประวัติ เป็นช่องที่เรียงต่อกันไปนั้น พบว่ามี ๑ ช่อง ซึ่งมีการเขียนภาพเกี่ยวกับพิธีแรกนาขวัญ โดยภาพในช่องดังกล่าวเป็นการเล่าเรื่องพระเจ้าสุทโธทนะถวายอภิวันทนา(ไหว้) เจ้าชายสิทธัตถะราชกุมาร สองครั้ง ครั้งแรกเมื่อเจ้าชายสิทธัตถะราชกุมาร กระทำปาฎิหาริย์เสด็จประทับเหนือเศียรอสิตดาบส และครั้งที่ ๒ เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะราชกุมารประทับใต้ต้นหว้า ขณะที่พระเจ้าสุทโธทนะประกอบพิธี แรกนาขวัญ ผ้าพระบฏผืนนี้มีข้อความกำกับระบุว่าเขียนขึ้นในพ.ศ.๒๓๔๕ (ช่วงปลายรัชกาลที่ ๑)
คนไถนาวิถีชีวิตท้องถิ่นชาวใต้
นอกจากภาพจิตรกรรมเรื่องแรกนาขวัญอันเนื่องมาจากพุทธประวัติแล้ว ยังภาพกฎภาพ “คนไถนา” ซึ่งสะท้อนภาพวิถีชิวิตของชาวใต้ ดังเช่นภาพคนไถนาที่เพดานอุโบสถวัดฉัททันต์สนาน ตำบลพร่อน อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส และภาพคนไถนาบนเพดานศาลา ภายในวัดชลธาราสิงเห ตำบลเจ๊ะเห อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งภาพจิตรกรรมทั้งสองภาพนี้สันนิษฐานว่าเขียนขึ้นราวกลางสมัยรัชกาลที่ ๘ ถึงช่วงต้นรัชกาลที่ ๙
--------------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : สำนักศิลปากรที่ ๑๑ สงขลา
(จำนวนผู้เข้าชม 1408 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน