แผ่นดินเผารูปเทวดาเหาะ พบจากเจดีย์หมายเลข ๓ เมืองโบราณอู่ทอง

แผ่นดินเผารูปเทวดาเหาะ จำนวน ๒ แผ่น
พบจากเจดีย์หมายเลข ๓ เมืองโบราณอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี

          แผ่นดินเผาขนาดใหญ่ รูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า แผ่นที่ ๑ มีสภาพเกือบสมบูรณ์ กว้างประมาณ ๓๐ เซนติเมตร ยาว ๓๖ เซนติเมตร แผ่นที่ ๒ ชำรุดหักหายไปส่วนหนึ่ง กว้างประมาณ ๑๙ เซนติเมตร ยาว ๓๒ เซนติเมตร หากมีสภาพสมบูรณ์น่าจะมีรูปแบบเช่นเดียวกับแผ่นดินเผาแผ่นที่ ๑ แผ่นดินเผาทั้งสองแผ่นมีการตกแต่งผิวหน้าด้วยภาพนูนต่ำรูปบุคคลเหาะ สันนิษฐานว่าผลิตขึ้นโดยใช้เทคนิคการขึ้นรูปด้วยแม่พิมพ์แล้วนำไปเผา เพื่อให้ได้ประติมากรรมรูปแบบเดียวกันจำนวนหลายชิ้น มีร่องรอยแกลบข้าวในเนื้อดิน ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของอิฐ หรือประติมากรรมดินเผาที่สร้างขึ้นในสมัยทวารวดี กำหนดอายุสมัยทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๔ (ประมาณ ๑,๒๐๐ – ๑,๔๐๐ ปีมาแล้ว)
          รูปบุคคลในท่าเหาะ ซึ่งน่าจะหมายถึงเทวดาเหาะนี้ ยกเข่าซ้ายตั้งขึ้น งอเข่าขวาเหยียดไปทางด้านหลัง มือซ้ายยกขึ้นระดับอกถือวัตถุซึ่งน่าจะเป็นดอกไม้ ส่วนมือขวาปล่อยไปทางด้านหลัง สวมเครื่องประดับศีรษะ ตุ้มหูแบบห่วงกลมขนาดใหญ่ และสร้อยคอ นุ่งผ้าสั้นเหนือเข่า คาดผ้าผูกเอวโดยผูกเป็นปมที่ด้านขวาและปล่อยชายผ้าปลิวไปทางด้านหลังแสดงถึงการเคลื่อนไหว ลักษณะของเทวดาเหาะนี้คล้ายคลึงกับรูปเทวดาเหาะที่พบในภาพสลักเล่าเรื่อง และบนประภามณฑลของพระพุทธรูป ซึ่งปรากฏในศิลปะอินเดียหลายสมัย ทั้งนี้ช่างพื้นเมืองทวารวดีน่าจะรับอิทธิพลทางด้านรูปแบบมาปรับเปลี่ยนจนมีเอกลักษณ์เฉพาะของตน
          แผ่นดินเผานี้น่าจะใช้เพื่อประดับส่วนฐานของเจดีย์ ในลักษณะเดียวกับประติมากรรมรูปคนแคระแบกที่พบทั่วไปตามเมืองโบราณสมัยทวารวดี หรืออาจประกอบอยู่กับภาพเล่าเรื่องประดับเจดีย์ก็เป็นได้ นอกจากที่เมืองโบราณอู่ทองแล้วยังพบประติมากรรมรูปบุคคลเหาะในลักษณะคล้ายกัน เป็นประติมากรรมปูนปั้นประดับศาสนสถานที่เขาคลังใน เมืองโบราณศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ อีกด้วย

---------------------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
---------------------------------------------------------------
เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร. โบราณคดีเมืองอู่ทอง. นนทบุรี : สหมิตรพริ้นติ้ง, ๒๕๔๕. วิภาดา อ่อนวิมล. “อิฐมีลวดลายในสมัยทวารวดี”. เอกสารการศึกษาเฉพาะบุคคล ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๖. สฤษดิ์พงศ์ ขุนทรง. รายงานการวิจัยเรื่องพัฒนาการของเมืองอู่ทองจากหลักฐานทางโบราณคดี. กรุงเทพฯ : คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๙.

(จำนวนผู้เข้าชม 551 ครั้ง)

Messenger