เชี่ยนหมากและวัฒนธรรมการกินหมากของไทย
          ... กล่าวกันว่าการกินหมากอาจจะเป็นวัฒนธรรมที่ไทยรับมาจากอินเดียมาช้านาน แต่ไม่มีหลักฐานชัดเจน จนถึงสมัยสุโขทัย ราวพุทธศตวรรษที่๑๙ จึงมีหลักฐานปรากฏในศิลาจารึกว่า ในเมืองสุโขทัยนั้นมีป่าหมากและป่าพลู จึงเป็นไปได้ว่าชาวสุโขทัยนิยมกินหมากกันมากจนถึงกับปลูกต้นหมากและต้นพลูไว้ในเมือง ในปัจจุบันคนจำนวนไม่น้อย อาจไม่รู้ว่าการกินหมากเป็นอย่างไร? หมาก ( หมาก ชื่อเรียกต้นปาล์มหลายชนิดในวงศ์ Palmae โดยเฉพาะชนิด Areca catechu Linn รสฝาด เคี้ยวกินกับปูน พลู ซึ่งรวมเรียกการกินหมาก ) ใช้เนื้อในของผลหมากสดหรือหมากตากแห้ง ใบพลู ( พลู ชื่อไม้เถาชนิด Piper betal Linn. ในวงศ์ Piperaceae มีรสเผ็ดร้อนใช้กินกับหมากและใช้ทำยาได้ ) มักใช้ใบพลูสดที่ไม่อ่อนหรือแก่จนเกินไป บางทีใช้ใบพลูแห้ง หรือเรียกว่าพลูนาบ (นาบกับกระทะที่ตั้งไฟจนร้อนให้แห้ง)
ปูนแดง ( ปูนแดง ปูนสุกที่ผสมกับผงขมิ้นและน้ำจะเป็นสีแดง สำหรับป้ายพลูกินหมาก )
           การกินหมากอาจจะมีส่วนประกอบอื่นอีกตามความชอบของแต่ละคน เช่น การบูร สีเสียด ยาจืด ด้วยก็ได้ การกินหมากจะต้องป้ายปูนแดงลงบนใบพลูแล้วเคี้ยวไปพร้อมกับหมาก ซึ่งจะมีรสเผ็ดร้อน ผู้กินหมากเคี้ยวไปเรื่อยๆ (คล้ายเคี้ยวหมากฝรั่ง) พร้อมกับบ้วนน้ำหมากทิ้งเมื่อมีน้ำหมากมากเกินไป การกินหมากจะไม่กลืนซากหมากหรือกากหมากที่เคี้ยว แต่ต้องคายทิ้ง เมื่อหมากหมดรสแล้ว
          สิ่งที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของการกินหมากอีกอย่างหนึ่งคือ “เชี่ยนหมาก” เชี่ยนหมาก เป็นภาชนะสำหรับใส่เครื่องกินหมาก มีรูปแบบแตกต่างและทำด้วยวัสดุหลายชนิด เช่น ทอง เงิน ทองเหลือง ไม้ หวาย ย่านลิเพา ฯลฯ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับฐานะของเข้าของ เพราะนอกจากจะเป็นภาชนะใส่เครื่องกินหมากแล้ว ในสมัยก่อนเชี่ยนหมากยังเป็นเครื่องแสดงฐานะทางสังคมหรือเจ้าของอีกด้วย
          การกินหมากเป็นวัฒนธรรมที่แพร่หลายในสมัยก่อน แม้แต่พระมหากษัตริย์และเจ้านายชั้นสูงในราชสำนักก็ยังกินหมากกันทั่วไป แม้ในสมัยต่อมาจะเลิกกินหมากแล้วก็ตาม เชี่ยนหมาก หรือ “พานพระขันหมาก” ก็ยังเป็นเครื่องประกอบอยู่ในเครื่องราชูปโภคที่ประกอบพระราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์ ดังที่ พระวงวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ได้ทรงนิพนธ์ไว้ในหนังสือ เรื่อง พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ตอนหนึ่งว่า “... พานพระขันหมากสำหรับรัชกาลที่ ๑ ทรวดทรงและฝีมืองามยิ่งนัก เป็นฝีมือเอกประเภทเดียวกับ พานพระมหากฐิน และพานพระบายศรี ซึ่งเป็นชิ้นศิลปกรรมในรัชกลที่ ๑ และกล่าวกันว่าพานพระขันหมากนี้ ได้สร้างหุ่นไม้ขึ้นทดลองก่อน แต่เมื่อทรงได้ดีงามพอใจแล้ว จึงได้ลงมือทำด้วยทอง ...”
          นอกจากเชี่ยนหมากจะเป็นหลักฐานการกินหมากของคนไทยแล้ว เชี่ยนหมากและอุปกรณ์การกินหมากอื่นๆ เช่น เต้าปูน กรรไกรหนีบหมาก ตลับสีผึ้ง ตะบัน สิ่งเหล่านี้ เป็นงานศิลปหัตถกรรมที่แสดงให้เห็นความสามารถด้านการช่างของคนไทยในแต่ละภาคแต่ละท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี













----------------------------------------------------------
ผู้เรียบเรียง : นางสาววารุณี วิริยะชูศรี บรรณารักษ์ หอสมุดแห่งชาติจังหวัดสุพรรณบุรี เฉลิมพระเกียรติ
----------------------------------------------------------
ข้อมูลอ้างอิง
วิบูลย์ ลี้สุวรณ. มรดกวัฒนธรมพื้นบ้าน. กรุงเทพฯ : ต้นอ้อ 1999, 2544. เลขหมู่ 306.0899591 ว634ม

(จำนวนผู้เข้าชม 16371 ครั้ง)