จังหวัดสุพรรณบุรีในจารึกหลักที่ ๔๘ : จารึกลานทอง
          สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า เมืองอู่ทองนี้เองเป็นเมืองที่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) ทรงครองอยู่ก่อนที่จะอพยพผู้คนหนีโรคห่าไปสร้างกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ. ๑๘๙๓ ต่อมาได้มีการค้นพบจารึกหลักที่ ๔๘ จารึกลานทอง จารึกขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๙๕๑ ตรงกับรัชกาลสมเด็จพระรามราชาธิราช (พ.ศ.๑๙๓๘ - ๑๙๕๒) แห่งกรุงศรีอยุธยา เจ้าสามีหรพงศ์ เป็นผู้สร้างจารึกแผ่นทองคำ ลักษณะเหมือนลาน ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้นิยมเรียกว่า จารึกลานทองวัดส่องคบ จารึกแผ่นนี้พระครูบริรักษ์บรมธาตุขุดพบในเจดีย์วัดส่องคบ อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท ซึ่งตั้งอยู่ปากน้ำบริเวณสบกันของแม่น้ำน้อยและแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๔ และได้มอบให้อธิบดีกรมศิลปากร เมื่อวันที่ ๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๕ ในคราวเดินทางไปตรวจโบราณสถานจังหวัดชัยนาท เจ้าหน้าที่งานบริการหนังสือภาษาโบราณ กองหอสมุดแห่งชาติ สำรวจและคัดจำลองอักษร เมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๖ เนื่องจากจารึกแผ่นนี้เส้นอักษรบางมาก การอ่านและจำลองเส้นอักษรจึงทำได้ยากอย่างยิ่ง แต่เจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการรวบรวมจารึกเพื่อจัดพิมพ์ในครั้งนี้ ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าจารึกแผ่นนี้ในภาพถ่ายเห็นเส้นอักษรไม่ชัดเจน จึงจำเป็นต้องใช้วิธีคัดจำลองเส้นอักษรให้เหมือนจริงที่สุดเท่าที่จะทำได้ แม้ว่าเวลาทำงานจะมีจำกัดก็ตาม และในการคัดจำลองเส้นอักษรนั้น ใคร่ขอบอกไว้เป็นเบื้องต้นก่อนว่า อาจจะมีส่วนเส้นที่คลาดเคลื่อนไปจากต้นฉบับเดิมได้บ้างไม่มากก็น้อยอย่างแน่นอน จารึกเป็นอักษรขอมภาษาไทย บนลานทอง จำนวน ๒ ด้าน มี ๑๕ บรรทัด ด้านที่ ๑ มี ๙ บรรทัด ด้านที่ ๒ มี ๖ บรรทัด มีข้อความระบุชื่อเมืองสุพรรณภูมิ ไว้ ๒ ครั้ง
          ข้อความในจารึกนี้ทำให้ทราบว่าเมืองสุพรรณภูมิที่ปรากฏชื่อในจารึกพ่อขุนรามคำแหง ยังคงพัฒนาสืบเนื่องมาจนถึงสมัยอยุธยา มิได้ร้างไป และน่าจะเป็นเมืองที่มีความสำคัญในสมัยอยุธยาตอนต้นมิใช่น้อย การอ้างถึงการทำบุญกุศลก่อนที่จะมาทำบุญที่อยุธยา เป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความสัมพันธ์ระหว่างสุพรรณภูมิและอยุธยาได้ว่าผู้กระทำบุญนั้นเคยอยู่ที่สุพรรณภูมิมาก่อน กล่าวได้ว่าสุพรรณภูมิอาจเป็นเมืองที่เป็นฐานอำนาจของอยุธยา ในสมัยอยุธยาตอนต้นด้วย หากผู้กระทำบุญนั้นมีฐานะเป็นเจ้านาย จารึกลานทอง ปัจจุบันอยู่ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพมหานคร










-----------------------------------------------------------------
ผู้เรียบเรียง : นางอภิญญานุช เผ่าพงษ์คล้าย บรรณารักษ์ชำนาญการหอสมุดแห่งชาติจังหวัดสุพรรณบุรี เฉลิมพระเกียรติ
-----------------------------------------------------------------
ข้อมูลอ้างอิง
วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดสุพรรณบุรี. กรุงเทพฯ : กระทรวงศึกษาร่วมกับกระทรวงมหาดไทย, 2544. เลขหมู่ 959.373 ว394 สำนักนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและโบราณคดี. ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 3 ประมวลจารึกที่พบในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลางของประเทศไทย อันจารึกด้วยอักษรและภาษาไทย, ขอม, มอญ, บาลี, สันสกฤต. กรุงเทพฯ : คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และโบราณคดีสำนักนายกรัฐมนตรี, 2508. เลขหมู่ 417.7 ศ537ป

(จำนวนผู้เข้าชม 2916 ครั้ง)