เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
กรมศิลปากรเปิดให้เข้าชมนิทรรศการถาวรประวัติศาสตร์ - โบราณคดีก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ในอาคารมหาสุรสิงหนาท พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
นายพนมบุตร จันทรโชติ รองอธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า กรมศิลปากรได้พัฒนาการจัดแสดง นิทรรศการถาวรภายในอาคารมหาสุรสิงหนาท ตามโครงการอนุรักษ์และพัฒนาพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ระหว่าง พ.ศ.๒๕๕๕ – ๒๕๖๔ โดยบูรณะอาคารและพัฒนาการจัดแสดงนิทรรศการถาวรทั้งอาคาร มาตั้งแต่ ปี ๒๕๖๒ ปัจจุบันอาคารมหาสุรสิงหนาทจัดแสดงศิลปะเอเชีย และหลักฐานทางประวัติศาสตร์ - โบราณคดีที่พบบนผืนแผ่นดินไทยตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จนถึงสมัยประวัติศาสตร์ก่อนพุทธศักราช ๑๘๐๐ อันเป็นช่วงเวลาที่ดินแดนในประเทศไทยปัจจุบันปรากฏหลักฐานการอยู่อาศัยของมนุษย์ จนถึงยุคที่รับวัฒนธรรมจากภายนอกโดยเฉพาะประเทศอินเดีย ก่อเกิดการพัฒนาจากบ้านสู่รัฐ ได้แก่ ห้องศิลปะเอเชีย ห้องก่อนประวัติศาสตร์ ห้องทวารวดี ห้องลพบุรี และห้องศรีวิชัย
ห้อง ๔๐๑ : ห้องศิลปะเอเชีย
จัดแสดงโบราณวัตถุที่เป็นงานศิลปกรรมในภูมิภาคเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ศิลปะอินเดีย ศิลปะลังกา ศิลปะจีน ศิลปะญี่ปุ่น ศิลปะจาม และศิลปะพุกาม-พม่า ส่วนมากเป็นประติมากรรมในพุทธศาสนาซึ่งแสดงถึงการแพร่กระจายและความหลากหลายของรูปแบบศิลปกรรมในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งพุทธศิลป์บางประเทศได้เป็นต้นแบบการสร้างพระพุทธรูปในศิลปะไทย อาทิ ศิลปะลังกาที่ส่งอิทธิพลให้กับศิลปะสุโขทัย หรือศิลปะพม่าที่ส่งอิทธิพลให้กับการสร้างพระพุทธรูปในศิลปะล้านนา
ห้อง ๔๐๒ : ห้องก่อนประวัติศาสตร์
ประเทศไทยพบหลักฐานเครื่องมือที่ทำจากหินกะเทาะของคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตั้งแต่เมื่อประมาณ ๕๐๐,๐๐๐ ปีมาแล้ว และมีพัฒนาการมาเป็นลำดับจนประมาณ ๔,๐๐๐ ปีมาแล้ว จึงพบการผลิตเครื่องมือหินขัด ภาชนะเครื่องปั้นดินเผา การทอผ้า เมื่อเข้าสู่สมัยโลหะมีการนำแร่โลหะ เช่น ทองแดง ดีบุก เหล็ก มาหลอมทำอาวุธ เครื่องมือ เครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ช่วงเวลานี้มีการค้นพบโบราณวัตถุที่แลกเปลี่ยนกับชุมชนอื่นที่ห่างไกล จากการติดต่อสัมพันธ์ส่งผลให้เกิดพัฒนาการทางสังคมเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ในเวลาต่อมา
ห้อง ๔๐๓ : ห้องทวารวดี “ทวารวดี”
คำจารึกบนเหรียญเงินซึ่งพบตามชุมชนโบราณหลายแห่งใน พื้นที่ภาคกลางของประเทศไทย นักวิชาการสันนิษฐานว่าคืออาณาจักร “โตโลโปตี” ที่ปรากฏในเอกสารจีนสมัยราชวงศ์ถัง วัฒนธรรมทวารวดีแพร่กระจายไปตามชุมชนโบราณหลายแห่งของประเทศไทย นับตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๖ หรือ ๑,๐๐๐-๑,๔๐๐ ปีมาแล้ว ส่วนใหญ่ได้รับแรงบันดาลใจจากพระพุทธศาสนา โดยพบหลักฐานจำนวนมากในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันตก ส่วนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้มีรูปแบบที่คลี่คลายผสมผสานกับวัฒนธรรมท้องถิ่น โบราณวัตถุสำคัญ เช่น ธรรมจักร วัดเสน่หา (ร้าง) นครปฐม พระพุทธรูปปางแสดงธรรม คูบัว ราชบุรี ฯลฯ
ห้อง ๔๐๔ : ห้องลพบุรี “ลพบุรี”
มาจากชื่อเมืองหรือรัฐ “ลวปุระ” ใช้เรียกรูปแบบศิลปกรรมที่มี ความใกล้ชิดกับรูปแบบศิลปกรรมวัฒนธรรมเขมรในราชอาณาจักรกัมพูชา สะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรมในพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยปัจจุบัน ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ หรือประมาณ ๑,๔๐๐ ปีมาแล้ว ต่อมาช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๘ หรือประมาณ ๘๐๐-๑,๑๐๐ ปีมาแล้ว พบหลักฐานงานศิลปกรรมสร้างขึ้นเนื่องในความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์ และศาสนาพุทธ ผ่านระบบการเมืองการปกครอง
ห้อง ๔๐๕ : ห้องลพบุรี
ศาสนสถานในศิลปะลพบุรีสร้างด้วยถาวรวัตถุ ประเภทอิฐหรือหิน จึงปรากฏหลักฐานชิ้นส่วนประดับสถาปัตยกรรมต่างๆ อาทิ ทับหลัง เสาประดับกรอบประตู สำหรับประติมากรรมรูปเคารพมีทั้งที่สลักจากศิลาและหล่อจากสำริด รูปแบบศิลปะลพบุรีมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับศิลปะเขมรสมัยเมืองพระนคร และต่อยอดเป็นพื้นฐานงานศิลปกรรมในสมัยอยุธยาตอนต้น นอกเหนือจากหลักฐานงานศิลปกรรมด้านศาสนา ปรากฏหลักฐานงานศิลปกรรมเกี่ยวเนื่องกับวิถีชีวิต ประเภทเครื่องปั้นดินเผาที่รังสรรค์เป็นงานศิลปกรรมประดับอาคาร และเครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน
ห้อง ๔๐๖ : ห้องศิลปะศรีวิชัย ศรีวิชัย
เป็นชื่อรัฐในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๘ หรือประมาณ ๘๐๐-๑,๓๐๐ ปีมาแล้ว ตั้งอยู่บริเวณคาบสมุทรแหลมมลายูภาคใต้ของประเทศไทยจนถึงเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ในประเทศไทยพบหลักฐานทางโบราณคดีวัฒนธรรมศรีวิชัย อาทิ โบราณสถาน จารึก รูปเคารพในศาสนาพราหมณ์ทั้งไศวนิกายและไวษณพนิกาย ศาสนาพุทธฝ่ายมหายาน สำหรับประติมากรรมศิลปะชวา เป็นโบราณวัตถุที่ได้รับมอบในคราวพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสชวา ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๓๙ และอีกส่วนหนึ่งได้รับเพิ่มเติมในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗
ทั้งนี้ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ได้เปิดให้ประชาชนเข้าชมการจัดแสดงนิทรรศการถาวร ภายในอาคารมหาสุรสิงหนาท คงเหลือการจัดแสดงนิทรรศการถาวรห้องลพบุรี ซึ่งจะแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม ๒๕๖๔ และจะมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการต่อไป
ผู้สนใจสามารถเข้าชมการจัดแสดงนิทรรศการประวัติศาสตร์-โบราณคดีก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๘ อาคารมหาสุรสิงหนาท พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เปิดให้บริการทุกวันพุธ - วันอาทิตย์ ระหว่างเวลา ๐๘.๓๐ – ๑๖.๐๐ น. ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม โทรศัพท์ ๐ ๒๒๒๔ ๑๔๐๒ , ๐ ๒๒๒๔ ๑๓๓๓ โทรสาร ๐ ๒๒๒๔ ๑๔๐๔
(จำนวนผู้เข้าชม 2748 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน