เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
กรมศิลปากรยกเครื่องพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า มิติใหม่พิพิธภัณฑ์ก่อนประวัติศาสตร์บ้านเก่า
กรมศิลปากรปรับโฉมใหม่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า จังหวัดกาญจนบุรี พิพิธภัณฑสถาน แห่งชาติแห่งแรกในประเทศไทย ที่รวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับ “วัฒนธรรมบ้านเก่า” กลุ่มวัฒนธรรมสมัยหินใหม่ ทางภาคตะวันตกของประเทศไทย ที่เป็นจุดเริ่มต้นของงานโบราณคดีอย่างสากลเป็นครั้งแรกของประเทศไทย
กรมศิลปากรได้ดำเนินโครงการพัฒนาและ เพิ่มศักยภาพพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า เพื่อให้เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติศูนย์ศึกษาวัฒนธรรมบ้านเก่า รวมถึงองค์ความรู้ด้านโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่มีความถูกต้อง ครบถ้วน เป็นปัจจุบัน และเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีมาตรฐาน ทั้งรูปแบบอาคารที่สะดุดตา โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากหลุมขุดค้นทางโบราณคดีเป็นทรงสี่เหลี่ยมสื่อถึงการพบโบราณวัตถุที่แทรกอยู่ในชั้นดิน ภูมิทัศน์ที่เปิดให้สัมผัสบรรยากาศภูมิประเทศเพื่อให้เข้าใจถึงการตั้งถิ่นฐานที่อยู่อาศัยบนพื้นที่แหล่งโบราณคดีจริง รวมไปถึงนิทรรศการภายในที่ตั้งใจให้เป็นพิพิธภัณฑ์ก่อนประวัติศาสตร์ที่สมบูรณ์ที่สุด
การจัดแสดงนิทรรศการมีเนื้อหาเน้นเกี่ยวกับวัฒนธรรมบ้านเก่าและแหล่งโบราณคดีอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง “วัฒนธรรมบ้านเก่า” หมายถึงกลุ่มวัฒนธรรมสมัยหินใหม่ทางภาคตะวันตกของประเทศไทย ที่ผู้คนตั้งถิ่นฐานถาวรอยู่ตามที่ราบ หรือเชิงเขาไม่ไกลจากลำน้ำ ดำรงชีวิตด้วยการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ และล่าสัตว์ รู้จักทำขวานหินขัดและมีภาชนะดินเผาที่หลากหลาย มีภาชนะรูปทรงเด่นคือหม้อสามขา ภาชนะทรงพาน ภาชนะมีคอและเชิงสูง และภาชนะทรงถาดก้นลึก กำหนดอายุราว ๓,๕๐๐ – ๔,๐๐๐ ปีมาแล้ว และมีความสัมพันธ์กับแหล่งโบราณคดีร่วมสมัยทางภาคใต้ของประเทศไทยและทางตอนเหนือของมาเลเซีย โดยมีการจัดแสดงการขุดค้นและหลักฐานทางโบราณคดีที่ได้จากการขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านเก่า เช่น โครงกระดูก เครื่องมือหินขัด เครื่องประดับ ภาชนะดินเผาที่เรียกว่า “หม้อสามขา” เอกลักษณ์ของวัฒนธรรมบ้านเก่า จัดแสดงเครื่องมือหินจำลอง จำนวน ๘ ชิ้นที่พบโดย ดร. เอช อาร์ ฟาน เฮเกเรน นักโบราณคดีชาวดัตช์ที่ถูกจับเป็นเชลยและถูกเกณฑ์มาสร้างทางรถไฟที่จังหวัดกาญจนบุรีในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้โบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทยโดยเฉพาะที่บ้านเก่าได้รับความสนใจจากนักโบราณคดีทั้งนักโบราณคดีไทยและต่างประเทศเข้ามาขุดค้นอย่างต่อเนื่องและจริงจัง จนมีการตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า ในเวลาต่อมา ทั้งนี้ เครื่องมือหินทั้ง ๘ ชิ้นปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์พีบอดี มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด กรมศิลปากรกำลังประสานเพื่อนำกลับมาจัดแสดงด้วย
นอกจากผู้ชมจะได้เข้าชมการจัดแสดงนิทรรศการภายในพิพิธภัณฑ์แล้ว ยังสามารถเยี่ยมชมหลุมขุดค้นทางโบราณคดีที่โรงเรียนวัดท่าโป๊ะ ซึ่งตั้งอยู่ข้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า โดยมีการขุดพบโครงกระดูกจำนวนมาก และกรมศิลปากรยังมีการขุดค้นและดำเนินงานทางโบราณคดีอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ พิพิธภัณฑ์บ้านเก่าเป็นพิพิธภัณฑ์ประจำแหล่งที่อยู่ในพื้นที่แหล่งโบราณคดีจริง ดังนั้นองค์ประกอบทุกอย่างจึงมีความสำคัญ กรมศิลปากรจึงปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อให้ผู้เข้าชมเข้าใจถึงลักษณะภูมิประเทศของบ้านเก่า เนื่องจากบ้านเก่าเป็นวัฒนธรรมยุคหินใหม่ที่อยู่ในสังคมเกษตรกรรมเริ่มเข้าตั้งถิ่นฐานในที่ราบเพื่อการเพาะปลูก ดังนั้นในพื้นที่ด้านหลังพิพิธภัณฑ์จะมีทางเดินชมธรรมชาติที่เห็นถึงแหล่งน้ำด้วย สำหรับแผนงานต่อไป กรมศิลปากรมีโครงการจัดตั้งศูนย์ศึกษาวัฒนธรรมบ้านเก่าขึ้น ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า เพื่อเป็นสถานที่ศึกษา วิจัย ของนักวิชาการด้านโบราณคดี ทำให้ความรู้ทางวิชาการโบราณคดีวัฒนธรรมบ้านเก่าดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง และสามารถเชื่อมโยงความรู้ด้านงานโบราณคดีกับองค์ความรู้ด้านต่างๆ เข้าด้วยกันแบบสหวิชาการ และเมื่อรวมถึงอุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ที่อยู่ใกล้กัน จะเพิ่มศักยภาพการท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีได้เป็นอย่างดี
(จำนวนผู้เข้าชม 2061 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน