เครื่องมือช่วยการเข้าถึง
color contrast
text size
highlighting content
zoom in


พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสต้น เมืองปัตตานี
           สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ หัวเมืองที่ตั้งอยู่ในบริเวณแหลมมลายูนั้น ถูกแบ่งออกเป็น ๒ เขต คือ หัวเมืองบริเวณชายทะเลอ่าวสยาม (หัวเมืองปักษ์ใต้) ได้แก่ มณฑลชุมพร มณฑลนครศรีธรรมราช มณฑลปัตตานี และหัวเมืองบริเวณชายทะเลอ่าวเบงกอล (หัวเมืองทะเลตะวันตก) ได้แก่ มณฑลภูเก็ต นอกจากนี้ยังมีหัวเมืองมลายูประเทศราช ซึ่งได้แก่ เมืองไทรบุรี เมืองกลันตัน เมืองตรังกานู โดยหัวเมืองต่างๆ เหล่านี้เดินทางไปได้ยากมาก ยังมิได้ปรากฏว่าพระเจ้าแผ่นดินองค์ใดได้เสด็จประพาส จนกระทั่งสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้เสด็จประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๑ (ร.ศ. ๗๗)
           ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้เสด็จประพาสเมืองแหลมมลายูครั้งแรกเมื่อคราวเสด็จประพาสสิงคโปร์และชวา พ.ศ. ๒๔๑๓ (ร.ศ. ๘๙) หลังจากนั้นก็ทรงเว้นว่างไปถึง ๑๗ ปี จนมาถึงปี พ.ศ. ๒๔๓๑ (ร.ศ. ๑๐๗) จึงได้เสด็จประพาสหัวเมืองแหลมมลายูอีกครั้งทั้งในดินแดนไทยและอังกฤษ ซึ่งเป็นการเสด็จตามมณฑลปักษ์ใต้ในพระราชอาณาเขตเป็นหลัก
          ในปีพ.ศ. ๒๔๓๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสเมืองปัตตานี โดยเสด็จพระราชดำเนินไปตามถนนสายอาเนาะรู ไปยังศาลเจ้าซูกง (ศาลเจ้าเล่วจูเกียหรือศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวในปัจจุบัน) ตามหลักฐานที่ระบุในจดหมายเหตุรายวันของสมเด็จพระบรมราชปิตุลาธิบดี เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ตอนหนึ่งว่า “เวลาสี่โมงเช้าเรือทอดสมอที่หน้าเมืองปัตตานี เจ้าเมืองกรมการเมืองตานีมาคอยรับเสด็จถึงเรือโดยเร็ว เสด็จไปประทับที่เรือเวสาตรี ทรงครึ่งยศทหาร เราก็แต่งครึ่งยศตามเสด็จไป ผู้ที่มาเยือนนั้น พระยาตานีตาย พระศรีบุรีรัฐพินิต ๑ พระพิพิธภักดี ๑ เมืองยิหริ่งพระยายิหริ่ง ๑ พระโยธานุประดิษฐ ๑ เมืองสายพระยาสาย ๑ พระวิเศษวังชา ๑ ประทางตราภัทราภรณ์ ผู้ช่วยทั้งสี่คนคนละดวง แล้วเสด็จกลับมาเรืออุบล วันนี้เป็นวันคล้ายวันประสูติสมเด็จแม่ ที่เรือเวสาตรีได้ยิงสลุต ๒๑ นัด สองโมงเศษเสด็จขึ้นเมืองตานี เมื่อถึงท่าเขาลงมาคอยรับเสด็จทั้งผู้ชายผู้หญิง ทรงพระดำเนินไปตามตลาดจนถึงพลับพลาซึ่งปลูกไว้รับเสด็จ ทำดี ดูเข้าใจไทยมาก การรับรองแข็งแรง ของถวายก็มาก ข้างในพวกผู้หญิงก็มาถวายของมาก มีฝนตกเล็กน้อย แล้วเสด็จมาทรงเรือพระที่นั่งมาประทับที่วัดของจีนจูหลาย กัปตันจีนสร้าง มีพระสงฆ์อยู่ ๑๔ รูป โบสถ์ทำอย่างจีน พระเข้าบ้านแขกไม่ได้ รับสั่งให้นิมนต์มาถวายเงิน สมเด็จแม่ก็ถวายด้วย แล้วประทานเงินกัปตันจีนไว้ห้าชั่ง ให้ทำศาลาการเปรียญ เป็นที่สำหรับเด็กเรียนหนังสือ ให้เป็นที่สำหรับเจ้าเมืองกรมการประชุมถือน้ำด้วย”
          ต่อมาเมื่อคราวเสด็จเมืองหนองจิก วันที่ ๓๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๓๒ ขณะที่ประทับอยู่ในเรือพระที่นั่งหน้าเมืองหนองจิกนั้น ทรงทราบว่าศาลาการเปรียญที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นที่วัดบางน้ำจืด เมื่อคราวเสด็จตรังกานูเกือบเสร็จแล้วจึงอัญเชิญพระราชหัตถเลขาฉบับที่ ๓ ซึ่งกล่าวถึงเหตุการณ์ดังนี้ “พระยาตานีมาคอยอยู่ ๔ วันแล้วพึ่งกลับไปพระยาหนองจิกให้ไปบอก ก็ขึ้นมาพร้อมกับพระศรีบุรีรัฐ พระพิพิธภักดี หลวงจีนคณานุรักษ์ ทราบว่าศาลาการเปรียญที่วัดตานี ซึ่งฉันสร้างไว้นั้น เกือบเสร็จแล้ว จึงคิดว่าเป็นโอกาสดีพอที่จะฉลองได้ จึงปล่อยให้พวกเมืองตานีกลับไปจัดการรับที่เมืองตานี”
          วันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๓๒ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ วัดบางน้ำจืด โดยเรือพระที่นั่งบูรทิศในการพระราชพิธีฉลองศาลาการเปรียญ ทรงมีพระราชหัตถเลขา ในการพระราชพิธีดังกล่าวถึงเหตุการณ์ในการฉลองศาลาการเปรียญและได้พระราชทานนามวัดว่า "วัดตานีนรสโมสร" และได้รับยกฐานะเป็นพระอารามหลวง ชั้นตรีชนิดสามัญ นับเป็นอารามหลวงแห่งแรกของจังหวัดปัตตานี ตั้งแต่วันที่ ๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๙





--------------------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ ยะลา https://www.facebook.com/751655098538170/posts/1332154277154913/
--------------------------------------------------------------
เอกสารอ้างอิง :
ห้องสมุดดิจิทัลวชิรณาญ (ออนไลน์). แหล่งที่มา http://vajirayana.org/.../%E0%B8%9E%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0... ห้องสมุดดิจิทัลวชิรณาญ (ออนไลน์). แหล่งที่มา http://vijirayana.org/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8... มาฆีตานิง : ท่องไปในวงแหวนพหุวัฒนธรรมเมืองปัตตานี. สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ออนไลน์). แหล่งที่http://xn--pattaniheritagecity-z70dtn.psu.ac.th/.../%E0.../ South deep outlook.com (ออนไลน์). แหล่งที่มา http://southdeepoutlook.com/.../detail_south_editorial/77/ จุฬาลงกรณ์ราชบรรณาลัย. สำนักงานวิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ออนไลน์). แหล่งที่มา http://rama5.flexiplan.co.th/th/timeline/detail/4859

(จำนวนผู้เข้าชม 3697 ครั้ง)