“ทวีปัญญาสโมสร” สโมสรแรกในราชสำนักรัชกาลที่ ๖

           พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ทรงจัดตั้งทวีปัญญาสโมสร ขึ้น ณ พระราชวังสราญรมย์ ซึ่งเป็นสโมสรแรกในราชสำนักเมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๔๗ โดยมีพระราชประสงค์เพื่อส่งเสริมความสามัคคี เพิ่มพูนความรู้ และแลกเปลี่ยนความคิดระหว่างกัน ตลอดจนเพื่อส่งเสริมการประพันธ์และการละครอีกด้วย โดยมีสมาชิกเป็นพระราชวงศ์ ข้าราชบริพาร และบุคคลภายนอก ที่ได้รับการรับรองจากกรรมการสภา ซึ่งกรรมการสภาในการดำเนินงานของทวีปัญญาสโมสรชุดแรกนั้น ประกอบด้วย สภานายกและเลขานุการดำรงตำแหน่งโดย สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ปฏิคมและบรรณารักษ์ดำรงตำแหน่งโดย สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนครราชสีมา ผู้ช่วยปฏิคมคือ ม.จ.ถูกถวิล ผู้ช่วยบรรณารักษ์คือ ม.จ.พงษ์พิณเทพ เหรัญญิกคือ นายหยวก ผู้ช่วยเลขานุการคือ นายสอาด ที่ปรึกษาคือ พระยาราชวัลภานุสิษฐ กรรมการพิเศษประกอบด้วย ม.จ.วงษ์นิรชร และ ม.จ.อิทธิเทพสรร สำหรับตำแหน่งพนักงานใหญ่แผนกปฏิคมคือ นายชุ่ม ภายหลังมีการเพิ่มตำแหน่งกรรมการอีก ๒ ตำแหน่ง ได้แก่ อุปนายก และสาราณียกร
           ในส่วนของสมาชิกเข้าใหม่ของทวีปัญญาสโมสรนั้น ต้องเสียเงินค่าสมัคร ๕ บาท และเสียเงิน ค่าบำรุงสโมสรปีละ ๓๖ บาท โดยเก็บทุกครึ่งปี หรือจะเสียค่าบำรุงสโมสรครั้งเดียว ๔๐๐ บาทก็ได้ เมื่อสมาชิกได้ลงนามและเสียค่าบำรุงสโมสรแล้ว จะได้รับโปเจียม คือ เข็มติดอกเสื้อทำด้วยผ้า จากกรรมการ ๑ อัน เพื่อติดมาในวันที่มีการประชุมซึ่งมีทั้งการประชุมสมาชิกทั่วไป และการประชุมใหญ่กับกรรมการสภาตามที่สภานายกเห็นสมควร หากไม่ติดมาจะถูกบันทึกนามไว้ในห้องสมุด ถ้าเกิน ๓ ครั้งจะถูกปรับ ๓๒ อัฐ สำหรับที่ทำการสโมสรนั้น เดิมตั้งอยู่ในพระราชวังสราญรมย์ ภายหลังเริ่มคับแคบจึงได้ย้ายมาตั้งที่ทำการใหม่ ณ พระราชอุทยานสราญรมย์ ซึ่งมีลักษณะเป็นเรือนกระจก เปิดให้บริการเมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๔๗ ระหว่างเวลา ๑๐.๐๐ - ๒๒.๐๐ น. ภายในมีห้องสมุดและมีหนังสือพิมพ์ ที่ออกในเมืองไทยและเมืองนอกบางฉบับให้สมาชิกได้อ่าน อีกทั้งยังมีโรงละครขนาด ๑๐๐ ที่นั่ง ตั้งอยู่ในพระราชอุทยานสราญรมย์ ริมถนนราชินีอีกด้วย ชื่อว่า โรงละครทวีปัญญา นอกจากนี้ภายในทวีปัญญาสโมสรยังมีการเล่นกีฬาในร่ม อาทิ บิลเลียด ปิงปอง หมากรุก และไพ่ฝรั่ง รวมทั้งมีเครื่องกีฬากลางแจ้ง ไว้ให้เล่นด้วย เช่น เทนนิส คริกเก้ต โครเก้ ฮ้อกกี้ ฯลฯ อีกทั้งยังใช้เป็นสถานที่จัดงานรื่นเริงในโอกาส ต่าง ๆ ที่สำคัญยังใช้เป็นสถานที่ออกหนังสือพิมพ์รายเดือน ซึ่งทรงพระราชทานชื่อว่า ทวีปัญญา ภายหลังด้วยพระราชภาระที่มากขึ้นของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กิจการของทวีปัญญาสโมสรจึงสิ้นสุดลงโดยปริยายในปีพุทธศักราช ๒๔๕๐
            สำหรับเรือนกระจกซึ่งเคยเป็นที่ทำการของทวีปัญญาสโมสรได้ถูกปรับเปลี่ยนใช้สอยเปลี่ยนมือเรื่อยมาและยังคงตั้งตระหง่านโดดเด่นอยู่ในพระราชอุทยานสราญรมย์เช่นเดิมจนถึงปัจจุบัน

-------------------------------------------------------------------------
เรียบเรียง : นางสาวรวิวรรณ พุฒซ้อน บรรณารักษ์ชำนาญการ กลุ่มบริการทรัพยากรสารสนเทศ สำนักหอสมุดแห่งชาติ
-------------------------------------------------------------------------
บรรณานุกรม
วรชาติ มีชูบท. จดหมายเหตุวชิราวุธ ตอนที่ ๑๒๙ สโมสร สมาคม และชมรม. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ ๑๖ เมษายน ๒๕๖๔, จาก: http://www.vajiravudh.ac.th/VC_Annals/vc_annal129.htm. ๒๕๕๗. วรชาติ มีชูบท. ราชสำนักรัชกาลที่ ๖. กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๖๑. สารานุกรมพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เล่ม ๑ (ก-ม). กรุงเทพฯ: เจริญวิทย์การพิมพ์, ๒๕๒๓. สุนทรพิพิธ, พระยา. พระมหากรุณาธิคุณแห่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. พระนคร: โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น, ๒๕๑๔.

(จำนวนผู้เข้าชม 3130 ครั้ง)

Messenger