“ทวีปัญญา” หนังสือพิมพ์ของเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ
          พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งยังทรงเป็นมกุฎราชกุมารหรือเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธทรงเสด็จพระราชดำเนินไปประทับและทรงศึกษาวิชาประวัติศาสตร์ กฎหมายและการปกครองอยู่ที่ ไครสต์เซิร์ช (Christ Church) มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (Oxford University) ประเทศอังกฤษ ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๔๒ – ๒๔๔๔ ภายหลังทรงสำเร็จการศึกษาและเสด็จนิวัติพระนครแล้ว ได้ทรงจัดตั้ง ทวีปัญญาสโมสรขึ้น ณ พระราชวังสราญรมย์ และด้วยทรงสนพระทัยในด้านประพันธ์และการพิมพ์หนังสือ จึงได้ทรงออกหนังสือพิมพ์ประจำทวีปัญญาสโมสรขึ้นฉบับหนึ่ง ทรงพระราชทานชื่อว่า ทวีปัญญา
          หนังสือพิมพ์ทวีปัญญานั้น เกิดขึ้นจากการประชุมกรรมการสภาทวีปัญญาสโมสร ครั้งที่ ๘ โดยกรรมการสภาได้มีข้อตกลงร่วมกันให้มีหนังสือพิมพ์ประจำสโมสรขึ้น โดยตีพิมพ์ออกเผยแพร่แก่สมาชิกและบุคคลทั่วไปเดือนละครั้ง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในฐานะสภานายกและเลขานุการของทวีปัญญาสโมสร ทรงชักชวนข้าราชบริพารที่มีความรู้ ความสามารถ ทดลองเขียนบทความและ เรื่องต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง ทั้งร้อยแก้ว โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ไปลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ทวีปัญญา ซึ่งจะได้รับค่าตอบแทนหน้าพิมพ์ละ ๔ อัฐ ถ้าระบุไว้ว่าต้องการ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตรวจบทความต่าง ๆ ด้วยพระองค์เองทุกครั้งในฐานะทรงเป็นบรรณาธิการก่อนที่จะจัดพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ทวีปัญญา สำหรับบทความและเรื่องต่าง ๆ ที่ออกเผยแพร่นั้นมีทั้งเรื่องจริงและนิยาย พร้อมทั้งรายงานต่าง ๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับทวีปัญญาสโมสร สำหรับเรื่องต่าง ๆ ที่พระองค์ทรง พระราชนิพนธ์นั้น ส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวที่สะท้อนแนวพระราชดำริเกี่ยวกับเสรีภาพและการปกครอง ตลอดจนการเรียกร้องให้รักษาเอกลักษณ์ของชาติไทย
          หนังสือพิมพ์ทวีปัญญา เริ่มออกเผยแพร่ในเดือนเมษายน พุทธศักราช ๒๔๔๗ จำหน่ายแก่สมาชิกราคาฉบับละ ๓๒ อัฐ และบุคคลทั่วไปราคาฉบับละ ๑ บาท ส่วนการลงโฆษณาและแจ้งความอื่น ๆ นั้น ถ้าแต่งคำโฆษณามาแล้วคิดราคาบรรทัดละ ๑ เฟื้อง ถ้าให้ทางกรรมการสภาแต่งคำโฆษณาให้ด้วย จะคิดเพิ่มเป็นบรรทัดละ ๑ เฟื้อง ๒ ไพ ในฉบับแรก สำหรับในฉบับต่อ ๆ ไป คิดบรรทัดละ ๑ เฟื้อง หากลงเต็มหน้านับเป็น ๑๖ บรรทัด คิดราคา ๑ บาท ๒ สลึง ส่วนรูปภาพราคารูปละ ๑ บาท ถึงแม้จะจำหน่ายหนังสือพิมพ์ทวีปัญญาเพียงฉบับละ ๓๒ อัฐ และ ๑ บาท ดังที่กล่าวในข้างต้นแล้วนั้นก็ยังขาดทุน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชวิจารณ์ว่า เป็นเพราะไม่มีโฆษณาเหมือนหนังสือพิมพ์ฝรั่ง และทรงมุ่งหวังที่จะให้ผู้อ่านส่งจดหมายแนะนำ ติชมเพื่อปรับปรุงทวีปัญญาให้ดีขึ้น สำหรับเนื้อหาภายในเล่มของหนังสือพิมพ์ทวีปัญญา ประจำเดือนเมษายน ร.ศ. ๑๒๓ ซึ่งเป็นฉบับพิมพ์ครั้งแรกนั้น ประกอบด้วยเรื่องราวของคำนำ สาเหตุของการสงครามในระหว่างยี่ปุ่นกับรัสเซีย นิทาน ทุภาสิต อาษาเจ้าจนตัวตาย อาษานายจนพอแรง นิราศเมืองเหนือ นากพระโขนงที่สอง เบ็ตเล็ต และรายงานประจำเดือน
          ต่อมาด้วยพระราชภาระที่มากขึ้นของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กิจการของทวีปัญญาสโมสรยุติลงในปีพุทธศักราช ๒๔๕๐ รวมถึงหนังสือพิมพ์ทวีปัญญาจึงสิ้นสุดลงโดยปริยายด้วยเช่นกัน



-----------------------------------------------------------------
เรียบเรียงข้อมูล : นางสาวรวิวรรณ พุฒซ้อน บรรณารักษ์ชำนาญการ กลุ่มบริการทรัพยากรสารสนเทศ สำนักหอสมุดแห่งชาติ
-----------------------------------------------------------------
บรรณานุกรม
ทวีปัญญาสโมสร. ทวีปัญญา เล่ม ๑. พระนคร: ทวีปัญญาสโมสร, ร.ศ. ๑๒๓. มหามกุฎราชวิทยาลัย, มูลนิธิ. ทวีปัญญาเล่ม ๑. พระนคร: โรงพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัย, ๒๕๒๒. สมาคมนิตยสารแห่งประเทศไทย. ประวัตินิตยสารไทย Now & Then. กรุงทพฯ: สมาคมนิตยสารแห่งประเทศไทย, ๒๕๕๐. สารานุกรมพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เล่ม ๑ (ก-ม). กรุงเทพฯ: เจริญวิทย์การพิมพ์, ๒๕๒๓. สุนทรพิพิธ, พระยา. พระมหากรุณาธิคุณแห่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. พระนคร: โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น, ๒๕๑๔. สุกัญญา ตีระวนิช. รายงานผลการวิจัยเรื่อง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กับการหนังสือพิมพ์. กรุงเทพฯ: มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพรมงกุฎเกล้า เจ้าอยู่หัว, ๒๕๓๒.

(จำนวนผู้เข้าชม 2832 ครั้ง)

Messenger