จดหมายเหตุว่าด้วยเรื่อง"การยกอำเภอแกลงไปขึ้นเมืองระยอง"
          เหตุที่เขียนเรื่องนี้ เนื่องจากผู้เขียนได้เคยไปร่วมกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่เมืองแกลง มีผู้เฒ่าผู้แก่มาคุยว่า...เมื่อก่อนอำเภอแกลงเค้าขึ้นกับเมืองจันท์นะ แต่ไม่รู้ทำไมถึงกลายมาขึ้นกับเมืองระยองได้...
          ผู้เขียนก็ใคร่อยากรู้เหตุผลของเรื่องนี้เช่นกัน จนเมื่อไม่กี่วันนี้ได้พบเอกสารจดหมายเหตุของส่วนกลางเป็นบันทึกการประชุม"เรื่องที่จะใช้พระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหาร ร.ศ.124 ในมณฑลจันทบุรี" การประชุมในครั้งนั้น(วันที่ 17 ธันวาคม ร.ศ.125 บ่าย 3 โมง 10 นาที) เป็นการประชุม ณ ค่ายทหารเมืองจันทบุรี ประธานในการประชุมคือ นายพลเอก พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ
          เนื้อหาเกี่ยวข้องกับการเกณฑ์ทหาร ซึ่งแต่เดิมการทหารของแรกตั้งมณฑลจันทบุรี เป็นทหารเรือสังกัดกรมทหารเรือ โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าสายสนิทวงษ์ เป็นผู้จัดการคนในมณฑลนี้
          ดังนั้นกรมทหารเรือร่วมกับกระทรวงมหาดไทย นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาเห็นว่าควรใช้พระราชบัญญัติลักษณเกณฑ์ทหาร คือจะจัดตั้งโรงเรียนพลทหารเรือขึ้นที่เมืองจันทบุรีแห่งหนึ่ง และเมืองระยองแห่งหนึ่ง รับคนในเมืองหนึ่งคราวละ 200 คน ปีละ 2 คราว จึงเป็นที่มาการประชุมครั้งนี้
          การประชุมในครั้งนี้มีหลายเรื่อง แต่ที่น่าสนใจคือ...ผู้เขียนได้พบว่า...สาเหตุที่ต้องให้อำเภอแกลงไปขึ้นกับเมืองระยองเพราะ...จำนวนพลเมืองของ 2 เมือง ไม่เท่ากัน ในเวลาเกณฑ์ทหาร -พลเมืองจันทบุรี มีประมาณ 40,000 คน แกลงมีประมาณ 20,000 คน ขลุงมีประมาณ 10,000 คน -พลเมืองระยองมีประมาณ 20,000 คน
          ประธานในการประชุมจึงรับสั่งว่า ..."คนเมืองระยองมีน้อย ถ้ายกอำเภอแกลงไปขึ้นเมืองระยอง จะมีการดีการเสียประการใดบ้าง"
          พระยาวิชยาธิบดี สมุหเทศาภิบาลมณฑลจันทบุรี บอกว่า"การเสียยังไม่เห็น แต่ส่วนดีนั้น พลเมืองจะได้เท่ากันเป็นการสะดวกอย่างหนึ่ง ผลประโยชน์ของเมืองระยองมีน้อยจะได้เพิ่มผลประโยชน์ขึ้นเป็นการสะดวกในการที่จะต้องจ่ายอย่างหนึ่ง ทางเดินจากอำเภอแกลงไปเมืองระยองสะดวกกว่าไปเมืองจันทบุรีอย่างหนึ่ง แต่จะได้ตรึกตรองทำความเห็นชี้การได้เสียยื่นภายหลังให้ละเอียดต่อไป..."
          ซึ่งเหตุผลดังกล่าวจากส่วนหนึ่งของการประชุมในคราวนั้น คงมีผลให้เกิดการยกอำเภอแกลงของเมืองจันทบุรี ไปขึ้นกับเมืองระยองในเวลาต่อมา
          ถ้ามีโอกาสไปอำเภอแกลงคราวหน้า ผู้เขียนคงมีข้อมูลไปเล่าให้ผู้เฒ่าผู้แก่ได้ฟังให้หายข้องใจกันละคราวนี้




















--------------------------------------------------------------------
ผู้เขียน สุมลฑริกาญจณ์ มายะรังษี นักจดหมายเหตุชำนาญการ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี
--------------------------------------------------------------------
อ้างอิง สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ร.5 ก13.3/10 เอกสารรัชกาลที่ 5. เรื่องเกณฑ์ทหารมณฑลจันทบุรี แลมณฑลปราจิณบุรี (26 กันยายน ร.ศ.125 – 27 มกราคม ร.ศ.126

--------------------------------------------------------------------

(จำนวนผู้เข้าชม 1173 ครั้ง)

Messenger