คลังสิ่งพิมพ์มีมาตั้งแต่หอสมุดสำหรับพระนคร ตามที่พระยาอนุมานราชธนกล่าวไว้ในเรื่องสมเด็จกรมพระยาราชานุภาพและหอสมุดแห่งชาติ (อนุมานราชธน, พระยา, ๒๕๐๕ : ๑๖-๑๗) ความว่า “หอสมุดสำหรับพระนครจัดแบ่งหอสมุดออกเป็น ๒ หอ คือหอพระสมุดชิรญาณหอหนึ่ง สำหรับเก็บหนังสือตัวเขียน และหอพระสมุดวชิราวุธหอหนึ่ง สำหรับเป็นที่เก็บหนังสือตัวพิมพ์ ทั้งที่เป็นภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ
          หอพระสมุดวชิราวุธ ซึ่งเป็นที่รวบรวมหนังสือตัวพิมพ์แยกออกเป็นภาษาไทยส่วนหนึ่งและภาษาต่างประเทศส่วนหนึ่ง ในส่วนที่เป็นภาษาไทยนอกจากหนังสือที่มีอยู่แล้วแต่เดิมจากผู้มีจิตศรัทธา ให้เป็นสมบัติของหอพระสมุดบ้าง ซื้อบ้างจากโรงพิมพ์ซึ่งตีพิมพ์หนังสือเรื่องใดขึ้น ก็ต้องส่งหอพระสมุดเรื่องละ ๒ เล่ม ตามที่กฎหมายบังคับไว้ เล่มหนึ่งเก็บไว้ที่พอพระสมุดสำหรับประชาชนอ่าน อีกเล่มหนึ่งเก็บไว้ในสถานที่ เรียกว่า ห้องหนังสือพิสูจน์ สำหรับเป็นหลักฐานอ้างอิง เมื่อเกิดคดีขึ้นในโรงศาล เมื่อศาลสั่ง
          ในพ.ศ. ๒๕๐๙ หอสมุดแห่งชาติได้ก่อสร้างอาคารที่ให้บริการในปัจจุบัน จึงได้มีการย้ายหนังสือทั้งหมด รวมทั้งห้องหนังสือพิสูจน์ ให้เข้ามาอยู่ในความดูแลของงานจัดหาหนังสือ ห้องหนังสือพิสูจน์ได้เปลี่ยนเป็นงานคลังสิ่งพิมพ์ด้วยเช่นกัน ในปี พ.ศ. ๒๕๓๘ มีการปรับปรุงโครงสร้าง การจัดส่วนราชการ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น กองหอสมุดแห่งชาติเปลี่ยนเป็นหอสมุดแห่งชาติ การขยายโครงสร้างภายในจึงขยับปรับเปลี่ยนตามไปด้วย กล่าวคืองานคลังสิ่งพิมพ์จึงได้เปลี่ยนเป็นฝ่ายคลังสิ่งพิมพ์ อยู่ภายใต้ของส่วนพัฒนาทรัพยากรห้องสมุดและในปี พ.ศ. ๒๕๓๓ ได้เปลี่ยนเป็นคลังสิ่งพิมพ์ภายใต้การบังคับบัญชาของกลุ่มพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศ จนถึงปัจจุบัน
          ภารกิจการดำเนินงานของคลังสิ่งพิมพ์ แบ่งออกเป็น
๑. การจัดเก็บ การคัดแยกสิ่งพิมพ์ตามลักษณะสิ่งพิมพ์แต่ละประเภท เช่น หนังสือ วารสาร หนังสือพิมพ์ เพื่อลงทะเบียนและจัดเก็บ
๒. การรักษาให้คงสภาพ จากสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เช่น แสง ความชื้น และ มอดแมลง

๑. การลงทะเบียน เก็บสิ่งพิมพ์ทุกประเภท ที่กลุ่มพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศได้รับตามพระราชบัญญัติ จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๕๐ อย่างละ ๑ เล่ม/ฉบับ ได้แก่ หนังสือ วารสาร หนังสือพิมพ์ ที่จัดพิมพ์ในประเทศ โดยทำการลงทะเบียนในฐานข้อมูล และทำบัตรหลักฐาน
๒. การจัดเก็บรักษา จัดเก็บลงกล่องเพื่อป้องกันแสง ใส่พริกไทยห่อด้วยผ้าขาวบางเพื่อป้องกันมอดและแมลง และควบคุมอากาศ ด้วยเครื่องปรับอากาศ และเครื่องควบคุมความชื้น หากตรวจพบมอดและแมลง จะต้องทำการกำจัดโดยการนำสิ่งพิมพ์ไปแช่แข็งด้วยอุณหภูมิ -๑๘ องศาเซลเซียส

///คลังสิ่งพิมพ์มีสิ่งพิมพ์มากขึ้นจึง สำนักหอสมุดแห่งชาติได้จัดทำโครงการก่อสร้างอาคารคลังสิ่งพิมพ์ โดยได้รับการอนุมัติให้ก่อสร้างอาคาร ณ ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม บริเวณใกล้สำนักช่างสิบหมู่ และหอภาพยนตร์(องค์การมหาชน) ทำการก่อสร้างเมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๔๔ ในวงเงิน ๔๕,๕๔๐,๐๐๐ บาท (สี่สิบห้าล้านห้าแสนสี่หมื่นบาทถ้วน) แล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๑๔ เมษายน ๒๕๔๘ และเริ่มดำเนินการจนถึงปัจจุบัน เป็นอาคาร ๕ ชั้น มีสิ่งพิมพ์ทั้งหมด ๑,๘๔๗,๘๔๐ เล่ม/ฉบับ ข้อมูลสรุป ณ วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๓







------------------------------------------------------------------------
เรียบเรียงโดย นายสรพล ขาวสะอาด บรรณารักษ์ชำนาญการ กลุ่มพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศ สำนักหอสมุดแห่งชาติ
------------------------------------------------------------------------
บรรณานุกรม
จุฑาภัค ศิริพรวัฒนะกุล. ความรู้ด้านการจัดการคลังสิ่งพิมพ์. กรุงเทพฯ: สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, [2549]

(จำนวนผู้เข้าชม 2330 ครั้ง)

Messenger