จิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถ วัดภูมินทร์
          จิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถ วัดภูมินทร์ เขียนขึ้นในราวปีพุทธศักราช ๒๔๑๐-๒๔๑๗ ในสมัยพระเจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้าผู้ครองนครน่าน (ในช่วงต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕) เขียนด้วยเทคนิคสีฝุ่นบนรองพื้นดินสอพอง มีความสวยงาม และมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการแต่งกาย วิถีชิวิต ภาพเขียนบ่งบอกถึงวัฒนธรรมของคนในท้องถิ่นนั้น ๆ ได้อย่างชัดเจน เขียนเล่าเรื่องราว ๓ เรื่องหลักๆ พื้นที่ส่วนใหญ่เขียนเรื่อง "คัทธนกุมารชาดก"หนึ่งในปัญญาสชาดก (ชาดกนอกนิบาต) กล่าวถึงพระโพธิสัตว์คัทธนกุมารผู้ทรงมีพลังเปรียบดังพญาช้างสาร สร้างคุณงามความดี และความกตัญญูรู้คุณ เรื่องที่สองเขียนเรื่อง"เนมิราชชาดก"ชาดกชาติที่ ๔ หนึ่งในทศชาติชาดก เสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์พระเนมิราช บำเพ็ญอธิษฐานบารมี เรื่องสุดท้ายเป็นเรื่องพุทธประวัติ นอกจากนี้ยังมีภาพบุคคลที่มีขนาดเท่าจริง ถือได้ว่าเป็นเอกลักษณ์เฉพาะจิตรกรรมแห่งนี้ ซึ่งเป็นบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวในจิตรกรรม ได้แก่ ภาพปู่ม่านย่าม่าน (ปู่ใช้เรียกแทนผู้ชาย ย่าใช้เรียกแทนผู้หญิง ม่านเรียกชาวพม่า) เป็นภาพหญิงชายแต่งกายแบบพม่า แสดงท่าทางกระซิบกัน หรือที่รู้จักกันใน"ภาพกระซิบรัก" ซึ่งเป็นภาพที่มีความโดดเด่น และนักท่องเที่ยวให้ความสนใจเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังมีภาพบุคคลชายหญิงแต่งกายเหมือนชนชั้นสูงอีกด้วย เรามาดูการจัดวางภาพเพื่อเล่าเรื่องราวต่างๆ ภายในพระอุโบสถกัน วัดภูมินทร์ ตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดน่าน


ภาพแสดง : หนุ่มสาวชาวเมืองอินทรปัต (เรื่องราว คัทธนกุมารชาดก) (ผนังทางด้านทิศเหนือ)



ภาพแสดง : บรรยากาศเมืองอินทรปัต มีท่าเทียบเรือสินค้าจากชาวยุโรป (ผนังทางด้านทิศเหนือ ด้านขวามือล่าง)



ภาพแสดง : (ผนังทางด้านทิศเหนือ ) ผนังเริ่มต้นเรื่องราว “คัทธนกุมาร” จาก “ผนังซ้ายมือล่าง” กำเนิดพระโพธิสัตว์คัทธนกุมาร (ผนังตอนกลาง) คัทธนกุมารออกผจญภัยตามหาพระบิดาและได้พบพระสหายทั้งสอง "นายไม้ไผ้ร้อยกอและนายเกวียนร้อยเล่ม" (ผนังขวามือล่าง) คัทธนพร้อมพระสหายทั้งสามเดินทางผ่านเมืองอินทรปัต (ผนังส่วนบน) ตรงกลางผนังเป็นภาพพระพุทธเจ้าและพระสาวก ซ้าย-ขวา เป็นภาพการศึกษาเล่าเรียน / พระธรรมวินัย



ภาพแสดง : ผนังทิศตะวันออก "ผนังซ้ายมือ" คัทธนพร้อมพระสหายได้พบนางกองสี และปราบ"งูยักษ์"ช่วยเหลือชุบชีวิตเจ้าเมือง และชาวเมืองขวางทะบุรีที่ถูกงูยักษ์กิน ให้ฟื้นคืนชีพกลับมามีชีวิตดังเดิม ด้วยของวิเศษไม้เท้าและพิณ และให้พระสหายนายไม้ไผ่ ร้อยกอดูแลเมือง "ผนังขวามือ" คัทธนพร้อมพระสหายได้พบนางคำสิง และปราบ"นกยักษ์"ช่วยเหลือชุบชีวิตเจ้าเมือง และชาวเมืองชวาทะวดีที่ถูกนกยักษ์กิน ให้ฟื้นคืนชีพกลับมามีชีวิตดังเดิม ด้วยของวิเศษไม้เท้าและพิณ และให้นายเกวียนร้อยเล่ม ดูแลเมือง "ผนังส่วนบน" ตรงกลางผนังเขียนภาพพระพุทธเจ้าและพระสาวก ซ้ายมือเขียนภาพบุคคล ขวามือเขียนภาพเสือ



ภาพแสดง : ผนังด้านทิศใต้ "ผนังซ้ายมือล่าง" เมืองจำปาทบุรี คัทธนได้อภิเสกสมรสกับนางสีดา จากการได้ช่วยเหลือให้ นางสีดารอดพ้นจากนางยักษ์จับกิน มีโอรส ชื่อ คัทธจัน(โอรสองค์ที่ ๒)
/ผนังข้างประตูด้าน ซ้ายมือ เขียนภาพบุคคลสตรีในชุดพื้นเมือง "ผนังขวาล่าง" บน: เจ้าเมืองจำปาทบุรี เสด็จออกล่าสัตว์ นางยักษ์จะกินพระองค์ และได้ขอชีวิตจากนางยักษ์ โดยจะนำชาวเมืองมาให้นางยักษกินแทนตน
/กลาง: คัทธน ช่วยเหลือนางสีดาจากนางยักษ์
/ล่าง: คัทธนเดินทางมาที่เมืองจำปาทบุรี ได้พักอาศัยอยู่กับหญิงชราและต่อมาได้ "นางสีไว" เป็นภรรยา มีโอรส ชื่อ คัทธเนตร(โอรสองค์ที่ ๑)
/ผนังข้างประตูด้านขวามือ เขียนภาพบุคคลบุรุษในชุดพื้นเมือง "ผนังกลางตอนกลาง" เป็นภาพการสู้รบกันระหว่างคัทธจันกับคัทธเนตร สองพี่น้องต่างพระมารดา เพื่อแย่งชิงราชสมบัติ และของวิเศษ "ผนังส่วนบน"ตรงกลางผนังเป็นภาพพระพุทธเจ้าและพระสาวก ซ้าย-ขวา เป็นภาพการศึกษาเล่าเรียน/พระธรนมวินัย



ภาพแสดง : ผนังทิศตะวันตก "ผนังตอนล่าง" เขียนเรื่องพระเนมิราชชาดก (ชาดกที่ ๔ ในทศชาติชาดก) "อธิฐานบารมี" พระเนมิราชเสด็จสวรรค์ชั้น"ดาวดึงส์" และ"นรกภูมิ"
/ผนังข้างประตูด้านซ้ายมือเขียนภาพบุคคล"ปู่ม่าน-ย่าม่าน" "ผนังตอนบน" เขียนเรื่องพุทธประวัติ ตอน เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานของสัมมาสัมพุทธเจ้า


ภาพแสดง : พระอุโบสถ


-------------------------------------------------------------------------
เรียบเรียงโดย : นางสาวกรอุมา นุตะศรินทร์ นักวิชาการช่างศิลป์ชำนาญการพิเศษ และนายสมัคร ทองสันท์ นายช่างศิลปกรรมอาวุโส กองโบราณคดี

(จำนวนผู้เข้าชม 27122 ครั้ง)

Messenger