เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
ประติมากรรมดินเผารูปราชยลักษมี พบจากเมืองโบราณอู่ทอง
ประติมากรรมดินเผารูปราชยลักษมี พบจากเมืองโบราณอู่ทอง จัดแสดง ณ ห้องอู่ทองศรีทวารวดี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
ประติมากรรมดินเผารูปราชยลักษมี สูงประมาณ ๙.๕ เซนติเมตร ด้านหน้าเป็นรูปพระลักษมี เกล้าพระศก ทรงกุณฑลทรงกลม พระกรขวาโอบลำตัวสิงห์ที่หมอบอยู่ด้านข้าง สิงห์มีแผงคอม้วนคล้ายลายกระหนก ตาโปน จมูกใหญ่ แยกเขี้ยวยิงฟันคล้ายประติมากรรมดินเผารูปสิงห์ ที่พบในเมืองโบราณอู่ทอง ด้านหลังประติมากรรมรูปราชยลักษมี ตกแต่งด้วยลวดลายคล้ายเปลวไฟซ้อนกัน รองรับด้วยฐานทรงกลมตกแต่งด้วยลายกลีบบัว กำหนดอายุสมัยทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๔ (ประมาณ ๑,๒๐๐ – ๑,๔๐๐ ปีมาแล้ว) มีผู้สันนิษฐานว่า อาจใช้เป็นฝาจุกภาชนะ หรือประดิษฐานเพื่อการเคารพบูชา หรือใช้เป็นเครื่องรางสำหรับติดตัวพ่อค้าหรือนักเดินทาง
ราชยลักษมี เป็นรูปแบบหนึ่งของพระศรี - ลักษมี ซึ่งมักปรากฏคู่กับสิงห์ ในศิลปะอินเดียพบรูปราชยลักษมีปรากฏบนเหรียญตราในลักษณะของพระลักษมี คือ ทรงถือดอกบัว บ่วงบาศหรือตะกร้าแห่งพืชผล นั่งบนหลังสิงห์หรือย่างพระบาทข้ามตัวสิงห์ ส่วนเหรียญอีกด้านเป็นรูปของกษัตริย์ หมายถึงโชคลาภ ความอุดมสมบูรณ์และเป็นเครื่องยืนยันถึงสิทธิในการเป็นกษัตริย์ ไม่พบการสร้างรูปราชยลักษมีเป็นประติมากรรมลอยตัวขนาดเล็ก ดังนั้นประติมากรรมราชยลักษมีที่เมืองโบราณอู่ทองนี้ จึงเป็นรูปแบบเฉพาะที่เกิดขึ้นในศิลปะทวารวดี โดยมีการคลี่คลายจากศิลปะอินเดียที่เป็นต้นแบบ โดยการลดทอนรายละเอียดบางประการออกไป ได้แก่ ไม่ทรงถือสิ่งของ และเปลี่ยนอิริยาบถจากนั่งบนหลังสิงห์หรือย่างพระบาทข้ามตัวสิงห์ มาเป็นการนั่งโอบสิงห์
อนึ่ง นอกจากประติมากรรมรูปราชยลักษมีชิ้นนี้แล้ว ในประเทศไทยยังมีการพบประติมากรรมรูปราชยลักษมีอีกอย่างน้อย ๒ ชิ้น ได้แก่ ประติมากรรมดินเผารูปราชยลักษมีประกอบกับประติมากรรมรูปคชลักษมี พบที่เมืองโบราณอู่ทอง ๑ ชิ้น และใบเสมารูปราชยลักษมีจากเมืองฟ้าแดดสงยาง จังหวัดกาฬสินธุ์ ๑ ชิ้น ทั้งนี้ยังไม่มีหลักฐานการค้นพบเหรียญตรารูปราชยลักษมีคู่กับกษัตริย์ตามอย่างอินเดีย ดังนั้นประติมากรรมรูปราชยลักษมีเหล่านี้ จึงไม่น่าจะมีความหมายเกี่ยวข้องกับกษัตริย์ตามคติที่ปรากฏในอินเดีย แต่น่าจะสร้างขึ้นเป็นรูปเคารพ สัญลักษณ์แห่งโชคลาภและความอุดมสมบูรณ์ เช่นเดียวกับคติการสร้างรูปคชลักษมี ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของพระลักษมี และพบได้ทั่วไปตามเมืองโบราณในสมัยทวารวดี ในช่วงระยะเวลาเดียวกัน
----------------------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
----------------------------------------------------------------
เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร. โบราณคดีเมืองอู่ทอง. นนทบุรี : สหมิตรพริ้นติ้ง, ๒๕๔๕. เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว. รูปแบบและความเชื่อของงานศิลปกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับพระศรี-ลักษมีที่พบใน ประเทศไทยก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๙. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชา ประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๐.
(จำนวนผู้เข้าชม 1134 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน