จดหมายเหตุว่าด้วยเรื่อง"เสื่อกกญวนเมืองจันท์"
          เสื่อของเมืองจันทบุรีในเอกสารจดหมายเหตุได้กล่าวไว้ว่ามีหลายชนิด ทั้งทำจากต้นกก จากต้นคลุ้มคล้า จากก้านดอกอ้อ และจากหวาย แต่ผู้เขียนขอกล่าวในตอนนี้เฉพาะเสื่อต้นกกเพียงเท่านั้น
           จากรายงานวิจัยของผศ.ดร.ชัยยนต์ ประดิษฐศิลป์ เรื่องการทอเสื่อของชาวเว้ที่อพยพจากการถูกเบียดเบียนทางศาสนาประมาณ 130 คน มาตั้งแต่ช่วงอยุธยาตอนปลายว่า ...ก่อนที่อพยพเข้ามาจันทบุรีนั้น ชาวเวียดนามกลุ่มนี้ได้พำนักอยู่ในเขตเขมรระยะหนึ่งพร้อมปลอมตัวเป็นชาวเขมร...ทำให้ชาวคาทอลิกเวียดนามได้นำเอาภูมิปัญญาการทอเสื่อจากเขมรเข้ามาประยุกต์ใช้หลังจากได้มาตั้งฐานในจังหวัดจันทบุรี เรียกว่า"เสื่อญวนอพยพ"หรือ"เสื่อญวนหลังวัด"
           "เอาไว้ขายเลี้ยงชีพ เลี้ยงอาราม" คือวัตถุประสงค์ในการทอเสื่อของกลุ่มซิสเตอร์ของวัดโรมันคาทอลิกที่นิยมทอกันในยามว่าง สมัยนั้นเรียกเสื่อฝีมือซิสเตอร์ว่า"เสื่ออาราม"หรือ"เสื่อแม่ชี"เป็นเสื่อที่มีลวดลายการยกดอก ส่วนคริสตชนจะทอเสื่อรวดหรือเสื่อธรรมดา ไม่มีลวดลายสำหรับไว้ใช้งานในบ้านหรือในวัด
          จากพระราชหัตถเลขาในรัชกาลที่ 5 คราวตรวจราชการหัวเมืองชายทะเลตะวันออก ร.ศ.95 ได้พระราชนิพนธ์เรื่องการทอเสื่อของญวนว่า...เสื่อกกแดงนั้น มีแต่พวกญวนทำแห่งเดียว วิธีทำนั้นเอาต้นกกมาจักให้เล็ก ผึ่งแดดให้แห้ง แล้วจึงย้อมสีต่าง ๆ ตามที่จะให้เป็นลาย สีแดงนั้นย้อมด้วยน้ำฝาง สีดำย้อมด้วยหมึก สีเหลืองย้อมด้วยแกแล บ้างที่ย้อมขมิ้น สีน้ำเงินย้อมด้วยครามแต่ใช้น้อย แล้วเอาเข้าสดึงทอเปนลายต่าง ๆ เปนเสื่อ ผืน/ลวด บ้างยาวตามแต่จะต้องการ กว้างเฉภาะชั่วต้นกก เปนสินค้าออกนอกเมือง...(ภาษาคงตามต้นฉบับ :ผู้เขียน)
          ในเวลาต่อมาความนิยมในเสื่อญวนยังคงอยู่เนื่องจากมีความเป็นเอกลักษณ์ในตนเองคือการทอจากกกกลม ซึ่งมีเส้นเล็กและมีความเหนียวมากจึงทำให้เสื่อกกมีลายที่ละเอียดประณีต สามารถออกแบบให้เป็นลายต่างๆได้ จึงเป็นที่ต้องการของทางรัฐบาลในการนำไปจัดแสดงยังนานาประเทศ ยกตัวอย่างเช่น
          พ.ศ.2457 เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย มีคำสั่งให้สมุหเทศาภิบาลมณฑลจันทบุรี ให้จัดส่งผลิตภัณฑ์และสิ่งของเครื่องใช้ที่เป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านไปร่วมจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์เมืองแซนฟรานแซสโก ณ ประเทศอเมริกา หนึ่งในนั้นได้แก่"เสื่อกก"ลายยกดอกตราอาม ลายยกดอกหน้าสัตว์ ลายยกดอกครุฑ และลายธรรมดา จากการนำไปจัดแสดงครั้งนั้นได้รับรางวัลเป็นเหรียญเกียรติยศพร้อมใบประกาศ
          นอกจากนี้ ในพ.ศ.2475 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีคำสั่งถึง ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ว่า...มีความประสงค์ให้ว่าจ้างช่างที่มีฝีมือดี(ในสำนักชี)จัดทอเสื่อ...เพื่อร่วมในการแสดงในงานพิพิธภัณฑ์นานาประเทศ ณ เมืองเรไยนา ประเทศแคนาดา ชนิดที่สั่งทำ ได้แก่ เสื่อชั้นเดียวลายละเอียดสีขาวสลับสีน้ำเงิน เสื่อชั้นเดียวลายละเอียดสีแดงสลับสีดำ และเสื่อสองชั้นลายตาหมากรุกสีแดงสลับสีดำ ในระยะหลังต้นกกบริเวณชุมชนวัดโรมันคาทอลิกเริ่มหมดไปจึงมีการสั่งกกจากชาวไทยพุทธ อีกทั้งสั่งทอเสื่อผืนจากบางสระเก้า จึงนับเป็นก้าวแรกของการทอกกญวนโดยฝีมือชาวบางสระเก้า
          ต่อมาเมื่อสีวิทยาศาสตร์ที่หาง่ายและคงทนมาแทนที่ กอรปกับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ได้มาประทับที่จังหวัดจันทบุรี และได้ทรงโปรดเกล้าฯจ้างคนงานทอเสื่อจากบางสระเก้ามาทอเสื่อในเขตพระตำหนัก พร้อมกันนั้นพระองค์ทรงออกแบบผลิตภัณฑ์เสื่อกกให้มีรูปแบบหลากหลายและปรับปรุงสีที่ใช้ย้อมกกให้มีความคงทนและหลากสียิ่งขึ้น จนกลายเป็น"เสื่อกกจันทบูร"ที่มีชื่อเสียงในปัจจุบันนี้นั่นเอง









---------------------------------------------------------------
ผู้เขียน สุมลฑริกาญจณ์ มายะรังษี นักจดหมายเหตุชำนาญการ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี
---------------------------------------------------------------
อ้างอิง
ชัยยนต์ ประดิษฐศิลป์ และคณะ. 2552. ชีวิตทางเศรษฐกิจและการปรับตัวของชุมชนวัดโรมันคาทอลิก จังหวัดจันทบุรี. กรุงเทพฯ : บริษัท ก.พล (1996) จำกัด. สำนักหอจดหมายเหตุเเห่งชาติ. ระยะทางเสด็จประพาสเมืองจันทบุรี. เลขที่ บ1.1/2. ร.ศ.95. หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี. เอกสารกระทรวงมหาดไทย ชุดมณฑลจันทบุรี (13)มท 2.2.4/16 เรื่องกระทรวงมหาดไทย สั่งให้จัดทำยานพาหนะต่างๆ ส่งเข้าไปกรุงเทพฯ (11 พฤษภาคม 2457 – 2 มิถุนายน 2462). หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี. เอกสารกระทรวงมหาดไทย ชุดมณฑลจันทบุรี (13)มท 2.2.4/287 เรื่องกระทรวงมหาดไทยให้จ้างช่างทอเสื่อกกจันทบุรีเพื่อส่งไปแสดงพิพิธภัณฑ์ที่เมืองเรไยนา ประเทศแคนาดา(13 ม.ค.-28 ก.พ.2475).

(จำนวนผู้เข้าชม 2924 ครั้ง)

Messenger