เทคโนโลยีการประปาในกรุงศรีอยุธยาและลพบุรี
          ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระองค์ทรงสนพระทัยต่อเทคโนโลยีและศิลปวิทยาการสมัยใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่รับอิทธิพลมาจากชาวต่างชาติที่เข้ามาในช่วงเวลานั้น เทคโนโลยีที่น่าสนใจอีกประการในสมัยนั้น คือ ระบบประปา โดยมีหลักฐานว่าระบบการส่งน้ำประปาที่ทันสมัยเกิดจากที่สมเด็จพระนารายณ์โปรดให้วิศวกรชาวฝรั่งเศส เปอร์เซีย และอิตาลี เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างระบบระบายน้ำ มีการวางท่อประปาที่ใช้ท่อดินเผาซึ่งมีลักษณะเป็นท่อวงกลมทรงกระบอก ปลายด้านหนึ่งมีขนาดที่เล็กกว่าปลายอีกด้านหนึ่งเพื่อให้สวมกันเป็นท่อยาวในการลำเลียงน้ำเข้ามาใช้ในพระราชวังหรือสถานที่สำคัญ ดังเช่นหลักฐานที่พบในพระราชวังทั้งในเมืองละโว้และกรุงศรีอยุธยา
          โดยเมืองละโว้ หรือลพบุรี พบหลักฐานว่ามีการนำน้ำใช้ในพระราชวังจาก 2 แหล่ง คือ - น้ำจากทะเลชุบศร นำเข้ามาโดยใช้วิธีการต่อท่อผ่านประตูน้ำปากจั่นไหลลงมาสระแก้ว (อยู่ในบริเวณสวนสัตว์ลพบุรี) และต่อมายังอ่างแก้ว จากนั้นมีการวางท่อต่อตรงเข้าสู่เมืองลพบุรี - น้ำจากห้วยซับเหล็ก ซึ่งเป็นน้ำสะอาดเกิดจากแรงธรรมชาติไหลลงมาจากซอกเขาที่อยู่ในระดับสูงน้ำไหลแรงเข้ามาใช้ในเมือง เนื่องจากระยะทางค่อนข้างไกลจึงมีการดำเนินการเป็นสองช่วง ช่วงแรกทำเป็นลำรางชักบังคับน้ำจากลำห้วยซับเหล็กยาวทอดจนมาถึงบริเวณท่าศาลา ช่วงที่สองตั้งแต่ท่าศาลาจนถึงตัวเมืองลพบุรี โดยวิธีการฝังท่อดินเผาลงดิน ระหว่างเส้นทางแนวท่อน้ำเข้าสู่เมืองลพบุรี มีการสร้างท่อ (ปล่อง) ระบายความดันของน้ำไว้เป็นระยะๆ
          ระบบประปาเมืองลพบุรีใช้หลักการถ่ายเทน้ำจากที่สูงสู่ที่ต่ำ จากหลักฐานอ่างเก็บน้ำและแนวท่อน้ำพบว่ามีลักษณะสัมพันธ์กับแนวกำแพงและกลุ่มอาคารพระที่นั่งต่างๆ โดยเฉพาะตึกที่ใช้เป็นสถานที่เลี้ยงต้อนรับทูตต่างประเทศในช่วงเวลานั้น
          ส่วนกรุงศรีอยุธยาพบมีการกล่าวถึงระบบประปาในพระราชพงศาวดารว่า มีระหัดสำหรับวิดน้ำตั้งอยู่ทางด้านเหนือของพระราชวังริมแม่น้ำลพบุรี จากการขุดแต่งพระราชวังโบราณเมื่อ พ.ศ. 2527 พบแนวท่อน้ำประปาดินเผาจากบริเวณเป็นที่ตั้งของระหัดน้ำ วางทะลุกำแพงเข้ามาในเขตพระราชฐาน โดยระบบประปาใช้หลักการ คือ การยกระดับน้ำขึ้นมาเก็บไว้ยังถังน้ำประปาในที่สูงเพื่อการแจกจ่ายตามท่อน้ำประปาดินเผาไปใช้ในที่ต่างๆ และจากการขุดแต่งทางโบราณคดีพระราชวังโบราณเมื่อ พ.ศ. 2560 พบร่องรอยของระบบประปา บริเวณทางทิศเหนือของพระที่นั่งสุริยาสน์อัมรินทร์ โดยพบเป็นแนวท่อประปาดินเผา 2 แนว สันนิษฐานว่าแนวหนึ่งใช้สำหรับนำน้ำเข้ามาใช้และอีกแนวใช้สำหรับปล่อยน้ำทิ้งเนื่องจากพบร่องรอยที่สันนิษฐานว่าเป็นปล่องระบายความดัน นอกจากนี้บนท่อประปาบางชิ้นยังพบจารึกอักษรไทย ภาษาไทยสมัยอยุธยาตอนปลาย อ่านได้เบื้องต้นความว่า “หามรุก” และ “ยกามํเสั้ายม” จากภาพรวมของหลักฐานสันนิษฐานเบื้องต้นได้ว่า ท่อประปาคงทำขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลายในช่วงสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช /












---------------------------------------------------------------
เรียบเรียงโดย นางสาววีณา บุญเชิญ ผู้ช่วยนักโบราณคดี อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา

---------------------------------------------------------------

(จำนวนผู้เข้าชม 5125 ครั้ง)

Messenger