กรมศิลปากรร่วมกับจังหวัดสุพรรณบุรี เปิดให้ชมการจัดแสดงภายในอาคารประติมากรรมขุนหลวงพะงั่วและประวัติศาสตร์สุพรรณบุรี ผ่านระบบออนไลน์

           นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า อาคารประติมากรรมขุนหลวงพะงั่วและประวัติศาสตร์สุพรรณบุรี ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้แห่งใหม่ทางด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ของจังหวัดสุพรรณบุรีและของประเทศไทย พร้อมเปิดให้บริการแล้วในวันนี้ (วันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๖๔) แต่เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรน่า ๒๐๑๙ และการประกาศปิดแหล่งเรียนรู้ของกรมศิลปากร เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ ๓ - ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๔ กรมศิลปากรจึงเปิดให้บริการแบบออนไลน์ โดยสามารถเข้าชมการจัดแสดงอาคารประติมากรรมขุนหลวงพะงั่วและประวัติศาสตร์สุพรรณบุรี ผ่านระบบ smartmuseum ของกรมศิลปากร https://smartmuseum-v2.finearts.go.th/home

           อาคารประติมากรรมขุนหลวงพะงั่วและประวัติศาสตร์สุพรรณบุรี ตั้งอยู่ที่ตำบลสนามชัย อำเภอ เมือง จังหวัดสุพรรณบุรี จัดแสดงประติมากรรมสำริดที่มีความยาวมากที่สุดในประเทศไทย เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ หรือขุนหลวงพะงั่ว ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ และประวัติศาสตร์เมืองสุพรรณบุรี จัดตั้งขึ้นตามดำริของ ฯพณฯ บรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรีคนที่ ๒๑ เริ่มก่อสร้างเมื่อพุทธศักราช ๒๕๕๓ โดยได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วนในการสนับสนุนงบประมาณ ได้แก่ จังหวัดสุพรรณบุรี มูลนิธิบรรหาร-แจ่มใส ศิลปอาชา กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กรมการท่องเที่ยว โดยกรมศิลปากรเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงาน มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดแสดงพระราชประวัติของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ หรือ ขุนหลวงพะงั่ว เจ้าเมืองสุพรรณบุรี ผู้ซึ่งต่อมาเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติเป็นสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ พระมหากษัตริย์ลำดับที่ ๓ ของกรุงศรีอยุธยา และทรงเป็นองค์ปฐมแห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ นอกจากนี้ยังบอกเล่าเรื่องราวของจังหวัดสุพรรณบุรีตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ สมัยสังคมเกษตรกรรม ยุคประวัติศาสตร์แรกเริ่มเรื่อยมาจนถึงยุคประวัติศาสตร์ สมัยรัตนโกสินทร์ อีกทั้งเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช พระบาทสมเด็จ พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงมีพระมหากรุณา ธิคุณต่อพสกนิกรชาวจังหวัดสุพรรณบุรีและชาวไทย
          การจัดแสดงได้นำเสนอเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ ทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวเนื่องกับเมืองสุพรรณบุรี จำนวน ๙ ตอน ผ่านงานประติมากรรมนูนสูง และนูนต่ำ หล่อด้วยโลหะสำริด ความยาว ๘๘ เมตร สูง ๔.๒๐ เมตร ซึ่งนับว่าเป็นประติมากรรมสำริดที่มีความยาวมากที่สุดในประเทศไทย แบ่งเนื้อหาออกเป็น ๙ ตอน ประกอบด้วย
ตอนที่ ๑ สุพรรณบุรี : ชุมชนแรกเริ่ม



ตอนที่ ๒ สุพรรณบุรี : อู่ทอง...เครือข่ายการค้าข้ามภูมิภาค



ตอนที่ ๓ สุพรรณบุรีในวัฒนธรรมศาสนา : อู่ทองเมืองศูนย์กลางศาสนารุ่นแรก



ตอนที่ ๔ สุพรรณบุรี : เนินทางพระ...ร่องรอยพุทธศาสนามหายาน



ตอนที่ ๕ สุพรรณบุรี : ก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา



ตอนที่ ๖ สุพรรณบุรี : เมืองลูกหลวงของราชธานีศรีอยุธยา



ตอนที่ ๗ สุพรรณบุรี : สมรภูมิยุทธหัตถี ตอนที่ ๘ สุพรรณบุรี : หัวเมืองแห่งกรุงรัตนโกสินทร์



และตอนที่ ๙ ปัจจุบัน...สุพรรณบุรี




โดยผู้เข้าชมจะได้รับความรู้และความเพลิดเพลินผ่านระบบการบรรยายนำชมที่ทันสมัยทั้งในรูปแบบออนไลน์ ออฟไลน์ และอุปกรณ์ Audio guide จำนวน ๓ ภาษา คือ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาจีน พร้อมใช้เทคโนโลยีแสง เสียง ประกอบการจัดแสดง
          ทั้งนี้ ผู้สนใจยังสามารถใช้บริการผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งกรมศิลปากรได้พัฒนาระบบเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงแหล่งเรียนรู้ได้ง่าย สะดวก โดยสามารถเข้าชมอาคารประติมากรรมขุนหลวงพะงั่วและประวัติศาสตร์สุพรรณบุรีในรูปแบบ SMART MUSEUM ผ่านทาง https://smartmuseum.finearts.go.th กดเลือกนิทรรศการพิเศษอาคารประติมากรรมขุนหลวงพะงั่วและประวัติศาสตร์สุพรรณบุรี และบนระบบ Application “SMART MUSEUM” รวมถึงสามารถรับชมวีดิทัศน์เนื้อหาภายในอาคารประติมากรรมฯ ผ่านช่องทาง YouTube กรมศิลปากร ตลอดจนองค์ความรู้ผ่านช่องทางเฟสบุ๊ก แฟนเพจ ของกรมศิลปากร
          อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวอีกว่า แหล่งเรียนรู้แห่งนี้จะอำนวยประโยชน์สูงสุดในการศึกษาด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ของจังหวัดสุพรรณบุรีและของชาติ ให้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชน อันจะก่อให้เกิดความรัก ความภาคภูมิใจ และนำไปสู่การร่วมกันอนุรักษ์ ปกป้อง คุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นและของชาติให้ยั่งยืนสืบไป
          สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุพรรณบุรี โทร.๐ ๓๕๕๓ ๕๓๓๐ หรือ facebook fanpage พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุพรรณบุรี

(จำนวนผู้เข้าชม 3152 ครั้ง)

Messenger