เนื่องในวันมาฆบูชาที่ผ่านมาซึ่งตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ หรือวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ ตามปฏิทินสุริยคติ อันเป็นวันที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ให้กับพระอรหันตสาวก ที่มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมายจำนวน ๑,๒๕๐ รูป ภายหลังจากที่ได้เดินทางไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ยังดินแดนต่าง ๆ จึงขอนำเรื่องราวของคติความนิยมในการสร้างประติมากรรมพระสาวกมาเผยแพร่ให้ทราบกัน
           พระอรหันตสาวกเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนา และมักได้รับ การกล่าวถึงอยู่บ่อยครั้งในเหตุการณ์พุทธประวัติ โดยเฉพาะเหตุการณ์สำคัญในวันมาฆบูชาซึ่งอาจเป็นคติความเชื่อ ที่ส่งผลให้เกิดความนิยมในการสร้างประติมากรรมพระสาวกขึ้นซึ่งเราจะพบได้ในทุกศิลปะของไทย ในสมัยสุโขทัย ก็พบว่ามีความนิยมสร้างประติมากรรมพระสาวกเช่นกัน โดยมีลักษณะเหมือนพระพุทธรูปสุโขทัยแต่มีความแตกต่างในรายละเอียดเล็กน้อย คือขมวดผมเป็นก้นหอย แต่ไม่มีพระรัศมีและเกตุมาลา หน้ารูปไข่ คิ้วโก่ง จมูกงุ้ม ห่มจีวรเฉียง ชายสังฆาฏิยาวถึงหน้าท้องปลายทำเป็นริ้วคล้ายเขี้ยวตะขาบ มักแสดงอิริยาบถหลากหลาย เช่น นั่งพับเพียบประนมมือที่หน้าอก อยู่ในท่านั่งขัดสมาธิ ยืน หรือเดิน //พระอรหันตสาวกทั้งหลาย อาทิ พระมาลัย พระสีวลี พระอัญญาโกณฑัญญะ พระอานนท์ พระสารีบุตร หรือพระโมคคัลลานะ เป็นผู้ที่มีบทบาทอย่างมากที่ทำให้พระพุทธศาสนายังดำรงอยู่มาจนทุกวันนี้ อีกทั้งเป็นผู้ที่มีความเป็นเลิศในด้านต่าง ๆ จึงเป็นที่เคารพศรัทธาของพุทธศาสนิกชนจำนวนมาก เป็นเหตุให้เกิด การสร้างประติมากรรมพระสาวกขึ้นซึ่งยังคงสืบทอดคติความเชื่อนี้มาจนถึงปัจุบัน


---------------------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สวรรควรนายก

(จำนวนผู้เข้าชม 930 ครั้ง)

Messenger