เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
ดุริยสตรี : การประโคมดุริยางคดนตรีในงานพระราชพิธีซึ่งจัดขึ้นในเขตพระราชฐานชั้นใน
เขตพระราชฐานชั้นใน หรือที่บางคนเรียกว่า “ฝ่ายใน” นั้น เป็นคําที่ใช้เรียกพื้นที่ส่วนหนึ่ง ในพระบรมมหาราชวัง มีบริเวณอยู่ทางทิศใต้ของพระบรมมหาราชวัง อันเป็นที่ประทับสําหรับ พระมเหสี พระราชเทวี พระชายา พระราชธิดาและเป็นที่อยู่ของเจ้าจอมมารดา เจ้าจอม เหล่าข้าราชบริพารและข้าราชการฝ่ายใน ซึ่งเป็นเขตพื้นที่สาหรับผู้หญิงล้วนและห้ามผู้ชายที่มีอายุเกิน ๑๓ ปีเข้าไป เว้นแต่พระมหากษัตริย์เท่านั้นที่จะประทับในเขตพระราชฐานชั้นในได้ หากผู้ชายมีความจําเป็นจะต้องเข้าไปทําธุระในเขตพระราชฐานชั้นใน จะต้องมีโขลนคอยกํากับ ควบคุมและดูแลโดยตลอด
การพระราชพิธีต่าง ๆ นับแต่โบราณ เป็นที่ทราบแน่ชัดว่าจะต้องมีวงดนตรีต่าง ๆ เข้าไปประโคมเพื่อประกอบพระอิสริยยศอยู่ด้วย โดยงานพระราชพิธีที่จัดขึ้นนั้นมีทั้งงานที่จัดขึ้นนอกพระบรมมหาราชวังและงานที่จัดขึ้นในพระบรมมหาราชวัง ถ้าหากงานพระราชพิธีนั้นจัดขึ้นในเขตพระราชฐานชั้นนอก เขตพระราชฐานชั้นกลาง ของพระบรมมหาราชวังหรือจัดขึ้น นอกพระบรมมหาราชวัง นักดนตรีที่บรรเลงในงานพระราชพิธีนั้นโดยมากจะนิยมใช้ผู้ชาย แต่ถ้าหากงานพระราชพิธีนั้นจัดขึ้นในเขตพระราชฐานชั้นใน อันเป็นเขตพื้นที่หวงห้ามสาหรับบุรุษเพศแล้ว ย่อมเป็นที่แน่นอนว่านักดนตรีที่บรรเลงในงานพระราชพิธีดังกล่าวนั้นจะต้องเป็นผู้หญิง ดังที่ นายมนตรี ตราโมท ศิลปินแห่งชาติ ได้กล่าวถึง การประโคมดุริยางคดนตรีในพระราชพิธีที่จัดขึ้น ในเขตพระราชฐานชั้นใน ไว้ในหนังสือการบรรเลงปี่พาทย์ในงานพระราชพิธี ความว่า
“..อนึ่ง งานที่ประกอบขึ้น ณ พระราชฐานชั้นใน อันมีแต่ข้าราชการ และเจ้านายฝ่ายในนั้น การประโคมใช้วงปี่พาทย์ผู้หญิง ซึ่งแต่ก่อนมีประจําอยู่วงหนึ่ง ผู้บรรเลงเป็นสตรีล้วน...” (มนตรี ตราโมท, ๒๕๐๑: ๔)
จากข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นว่า นักดนตรีที่ทําหน้าที่ประโคมดุริยางคดนตรีในงานพระราชพิธีที่จัดขึ้นในเขตพระราชฐานชั้นในแต่โบราณนั้นเป็นนักดนตรีที่เป็นผู้หญิงล้วน ซึ่งข้อมูลสําคัญ อีกประการที่แสดงให้เห็นว่างานพระราชพิธีที่จัดขึ้นในเขตพระราชฐานชั้นใน มีการใช้วงดนตรีที่มีผู้บรรเลงเป็นผู้หญิงล้วนในการประโคมก็คือ ข้อมูลที่ปรากฏอยู่ในหนังสือสาส์นสมเด็จ ที่สมเด็จ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ ได้กราบทูลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ถึงเรื่อง “การประโคมเมื่อเจ้านายประสูติ” ซึ่งเป็นการประโคมดุริยางคดนตรีที่จัดขึ้นในเขตพระราชฐานชั้นใน ไว้ว่า “...ปี่พาทย์ประโคมเมื่อพระเจ้าลูกเธอประสูตินั้น ผู้หญิงทําทั้งปี่พาทย์และแตรสังข์...” (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ, ๒๕๕๒: ๒๔๐)
ถึงแม้ว่าปี่พาทย์พิธีและแตรสังข์ที่ใช้ประโคมในเขตพระราชฐานชั้นในจะใช้ผู้หญิงล้วนในการบรรเลงเครื่องดนตรี แต่สาหรับ “ฆ้องชัย” ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีชนิดหนึ่งที่อยู่ในแตรสังข์ของงานเครื่องสูงนั้น ยังคงใช้ผู้ชายเข้าไปทําหน้าที่อยู่ โดยจะใช้พนักงานผู้ชายคุมเข้าไปคอยอยู่กับปี่พาทย์พิธี ที่บรรเลงด้วยผู้หญิงล้วนเพื่อทาหน้าที่ลั่นฆ้องชัย สาหรับสาเหตุที่ฆ้องชัยไม่ใช้ผู้หญิงลั่นนั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้กราบทูลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ ไว้ในหนังสือสาสน์สมเด็จ ความว่า
“...ในการที่เอาผู้ชายไปตีฆ้องชัยนั้น สันนิษฐานว่าจะต้องเป็นเช่นนั้น เพราะสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้วผู้หญิงจับไม่ได้ ที่ปี่พาทย์ผู้หญิงไม่มีฆ้องชัยก็เพราะถ้ามี ก็ไม่เป็นชัย ไปได้ ด้วยผู้หญิงถูกต้องฆ้องนั้น...” (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยา นริศรานุวัดติวงศ์, ๒๕๕๒: ๒๔๑)
นอกจากนี้นางเจริญใจ สุนทรวาทิน ศิลปินแห่งชาติ บุตรีพระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) ผู้เคยถวายตัวเป็นข้าหลวงในสมเด็จพระนางเจ้ารําไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗ และได้อยู่งานฉลองพระเดชพระคุณเป็นนักร้องประจําวงมโหรีของพระราชสํานัก ยังได้บรรยายถึงบรรยากาศการฝึกซ้อมดนตรีและการบรรเลงดนตรีในงานพระราชพิธีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวไว้อย่างน่าสนใจ ความว่า
“...ข้าพเจ้าจะเล่าถึงงานหลวงที่ได้ปฏิบัติมาตลอดรัชกาลที่ ๗ งานเฉลิม พระชนมพรรษา วันฉัตรมงคล วงมโหรีหลวงต้องเข้าไปบรรเลงในพระราชวังชั้นในซึ่งไม่มีผู้ชายเข้าได้ ข้าพเจ้าเป็นคนระนาดทอง วันเฉลิมพระชนมพรรษามีพระราชพิธี ๓ วัน เช้า – เย็น มโหรีต้องทํารับพระ – ส่งพระ งานฉัตรมงคลก็เช่นเดียวกัน และตอนเย็นของวันสุดท้าย จะมีงานราชอุทยานสโมสร ที่สวนศิวาลัย หลังพระที่นั่งบรมพิมาน จะมีพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงและคณะทูตานุทูตประเทศต่าง ๆ มาถวายพระพร มีมโหรีพวกเราบรรเลงทุกปีที่เสด็จอยู่...งานหลวงในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีอยู่ตลอด การทํางานของเราก็คล้ายกรมศิลปากรเดี๋ยวนี้ แต่เล็กกว่า แสดงแต่เฉพาะของพระเจ้าอยู่หัวและแล้วแต่จะทรงพระกรุณา โปรดเกล้า ฯ ส่งไปช่วย...” (เจริญใจ สุนทรวาทิน, ๒๕๕๕: ๑๓๒-๑๓๓)
จากข้อมูลของนางเจริญใจ สุนทรวาทิน ศิลปินแห่งชาติ จะเห็นได้ว่า ในอดีตงานพระราชพิธี ที่จัดขึ้นในเขตพระราชฐานชั้นในนั้น นอกจากจะมีการใช้วงปี่พาทย์ผู้หญิงดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ในข้างต้น การประโคมดุริยางคดนตรีในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวยังมีการใช้วงมโหรีผู้หญิงล้วนสําหรับบรรเลงในงานพระราชพิธีสําคัญต่าง ๆ ที่จัดขึ้นในเขตพระราชฐานชั้นในอีกด้วย หลังจากเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในพุทธศักราช ๒๔๗๕ ชีวิตนักดนตรีผู้หญิง ในพระราชสํานักก็เปลี่ยนไป บางท่านย้ายกลับภูมิลําเนาเดิมของตนเอง บางท่านย้ายสังกัดมาขึ้นตรงกับกรมศิลปากร ที่แผนกดุริยางค์ไทย ซึ่งปัจจุบันคือกลุ่มดุริยางค์ไทย สํานักการสังคีต กรมศิลปากร
ปัจจุบันถึงแม้ว่าจะไม่มีวงดนตรีที่บรรเลงด้วยผู้หญิงล้วนเข้าไปประโคมฉลองพระเดชพระคุณในงานพระราชพิธีต่าง ๆ ที่จัดขึ้นในเขตพระราชฐานชั้นในเช่นแต่ก่อน แต่ทว่าหากมีงานพระราชพิธี ที่จัดขึ้นในเขตพระราชชั้นในครั้งใด อย่างไรเสียก็ยังคงต้องมีวงดนตรีเข้าไปทําหน้าที่ประโคมดังเดิม เช่น พระราชพิธีสรงมูรธาภิเษกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบัน ที่จัดขึ้น ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง พระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบัน ที่จัดขึ้น ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง และพระราชพิธีบวงสรวงพระสยามเทวาธิราช ที่จัดขึ้น ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง เป็นประจําทุกปี ฯลฯ ซึ่งพระราชพิธีต่าง ๆ ที่กล่าวมานั้น ล้วนแล้วแต่เป็น พระราชพิธีที่จัดขึ้นในเขตพระราชฐานชั้นในทั้งสิ้นและในการพระราชพิธีดังกล่าวยังคงมีปี่พาทย์พิธี ซึ่งบรรเลงโดยดุริยางคศิลปิน จากกลุ่มดุริยางค์ไทย สํานักการสังคีต กรมศิลปากร เข้าไปประโคม อยู่ด้วยทุกครั้ง ทั้งนี้ข้อกาหนดเรื่องเพศของผู้บรรเลงนั้นไม่ได้เคร่งครัดเช่นแต่ก่อน มีการใช้ผู้บรรเลงทั้งชายและหญิงเข้าไปฉลองพระเดชพระคุณในงานพระราชพิธีต่าง ๆ ที่จัดขึ้นในเขตพระราชฐานชั้นในทุกครั้ง
------------------------------------------------------------------
ผู้เขียน : นายธำมรงค์ บุญราช นักวิชาการละครและดนตรีปฏิบัติการ กลุ่มวิจัยและพัฒนาการสังคีต สํานักการสังคีต กรมศิลปากร
------------------------------------------------------------------
รายการอ้างอิง
เจริญใจ สุนทรวาทิน, ข้าพเจ้าภูมิใจที่เกิดเป็นนักดนตรีไทย. ใน จารุวรรณ ชลประเสริฐ และ พรทิพย์ จันทิวโรทัย, บรรณานุสรณ์ เจริญใจ สุนทรวาทิน, หน้า ๑๓๒-๑๓๓. กรุงเทพมหานคร: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จากัด (มหาชน), ๒๕๕๕. ดํารงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา และนริศรานุวัดติวงศ์, สมเด็จพระเจ้า บรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยา. ประโคมเจ้านายประสูติ. ใน พูนพิศ อมาตยกุล, เพลง ดนตรี และนาฏศิลป์ จากสาส์นสมเด็จ, หน้า ๒๔๐-๒๔๑. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์เรือนแก้ว การพิมพ์, ๒๕๕๒. มนตรี ตราโมท, การบรรเลงปี่พาทย์ในงานพระราชพิธี. พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ หลวงบํารุงจิตรเจริญ และนางศุภลักษณ์ ภัทรนาวิก ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม วันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๑. ม.ป.ท., ๒๕๐๑.
(จำนวนผู้เข้าชม 8412 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน