เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
ความเป็นมาของตราประจำจังหวัดจันทบุรี
ด้วยว่าใน พ.ศ.2483 จอมพลแปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ได้ปรารภว่า การที่ จะให้ประเทศชาติรุ่งเรืองแข็งแรงนั้นจำเป็นต้องสร้างความเจริญเป็นปึกแผ่นให้แก่ชนบทโดยทั่วๆไป และการที่ชนบทจะเจริญเป็นปึกแผ่นได้ก็ต้องอาศัยการที่ชาวชนบทมีนิสัยรักถิ่นฐาน ไม่ใฝ่ฝันที่จะย้ายภูมิลำเนาเดิมเข้ามาอยู่ในพระนคร เพื่อให้ได้ผลดังที่ว่านี้มีสิ่งซึ่งจะต้องทำหลายอย่าง เกี่ยวกับการบำรุงและชักจูงคนให้ชอบชีวิตชนบท ภูมิใจในความเป็นชาวชนบท และรักชนบทที่เป็นถิ่นฐานของตน...
ซึ่งเรื่องแรกที่นายกรัฐมนตรีเห็นว่าควรทำได้คือคิดให้มีเครื่องหมายประจำจังหวัดเหมือนอย่างที่มีอยู่แล้วในนานาประเทศที่เจริญ
โดยมีเหตุผลว่า... เครื่องหมายประจำจังหวัดนี้เมื่อมีขึ้นแล้วก็อาจใช้เป็นประโยชน์ได้หลายทาง เช่น ติดตั้งในสถานที่สำคัญ ทำเป็นธงประจำจังหวัด เป็นเครื่องอาภรณ์สำหรับชาวจังหวัด และเป็นเครื่องหมายสินค้าอุตสาหกรรมของจังหวัด ดังนี้เป็นต้น...
ในเวลาต่อมารัฐบาลจึงมอบหมายให้กรมศิลปากรดำเนินการประสานคณะกรมการแต่ละจังหวัดต่อไป กรมศิลปากรได้มีข้อแนะนำประกอบในการพิจารณาเครื่องหมายประจำแต่ละจังหวัดว่า 1. เป็นเครื่องหมายประจำตระกูลของเจ้านครซึ่งใช้มาแต่โบราณกาล และพระมหากษัตริย์หรือรัฐบาลส่วนกลางได้อนุมัติให้ใช้ต่อไป 2. เป็นรูปปราสาทหรือโบราณสถานที่สำคัญยิ่งในจังหวัดนั้น 3. เป็นรูปเกี่ยวกับเทพนิยายพื้นเมืองของจังหวัดนั้นซึ่งแม้จะรู้กันว่าไม่ใช่เรื่องจริงแต่ก็อยู่ในความนิยมของคนในจังหวัดนั้น 4. รูปธรรมชาติที่เด่นที่สุดในจังหวัดนั้น
ซึ่งกรมศิลปากร จะพยายามพิจารณาทั้งทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีเป็นการประกอบ แต่ที่สำคัญคือ ... "เมื่อทำขึ้นมาแล้วชาวจังหวัดโดยทั่วไปหรือส่วนมากจะพอใจใช้ "
ในส่วนของจังหวัดจันทบุรี ได้เสนอ 2 อย่างคือ อย่างที่ 1 เครื่องหมายรูปกระต่ายในวงจันทร์ตามแบบธงประจำกองลูกเสือมณฑลจันทบุรี ซึ่งได้ความว่าเป็นเครื่องหมายนามของมณฑล เช่นเดียวกับมณฑลอื่นๆที่พระราชทานธงไปในคราวเดียวกันและบัดนี้น่าจะถือว่าเป็นเครื่องหมายของจังหวัดจันทบุรีต่อไปดั่งได้เคยทำเป็นโล่ห์ประจำเรือรบหลวงจันทบุรีแล้ว อย่างที่ 2 เครื่องหมายรูปเรือสุพรรณหงส์หมายความถึงเรือที่พระเจ้าตากสินให้ช่างต่อที่จังหวัดจันทบุรีพร้อมด้วยบรรดาเรือรบต่างๆซึ่งสะสมต่อในคราวนั้นแล้วใช้เป็นราชพาหนะเดินทางเข้ามากู้อิสรภาพที่จังหวัดพระนครธนบุรี
กรมศิลปากรเห็นชอบตามอย่างที่ 1 และได้เสนอเพิ่มว่า
"รูปกระต่ายไม่ควรจะเด่นเกินไปอย่างตราของเทศบาล ควรเขียนให้รูปพระจันทร์เด่น กระต่ายให้เล็กและให้แลเห็นเพียงลางๆเท่านั้นจะดี" จวบจนบัดนี้เป็นเวลา 81 ปี จังหวัดจันทบุรี ก็ยังคงใช้ตราสัญลักษณ์กระต่ายในดวงจันทร์ แต่ก็มีหลายคนที่ไม่ทราบถึงที่มาของเครื่องหมาย ก็อาจตีความไปว่าเมืองจันทบุรี คือเมืองกระต่ายที่หมายจันทร์ จึงทำสัญลักษณ์เป็นตัวกระต่ายลักษณะต่างๆ เพียงอย่างเดียว
---------------------------------------------------------
ผู้เขียน นางสุมลฑริกาญจน์ มายะรังสี นักจดหมายเหตุชำนาญการ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี
---------------------------------------------------------
อ้างอิง
เอกสารจดหมายเหตุลายลักษณ์.ศธ 0701.42.2/2 เรื่อง เสนอเครื่องหมายประจำจังหวัด.พ.ศ.2483.
(จำนวนผู้เข้าชม 7037 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน