การสร้างทางรถไฟสายอีสาน
          ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (2394-2411) ไทยได้ทำสนธิสัญญาเบาริ่งกับอังกฤษใน พ.ศ. 2398 และยังทำสนธิสัญญาแบบเดียวกันนี้กับประเทศในยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น รวมทั้งหมด 13 ประเทศ ผลของการ ทำสนธิสัญญาดังกล่าวทำให้เศรษฐกิจไทยเปลี่ยนจากระบบเศรษฐกิจแบบพอยังชีพไปสู่เศรษฐกิจการตลาด โดยเฉพาะในภาคกลาง ภาคใต้ และภาคเหนือตอนล่าง แต่ในภาคอีสานเศรษฐกิจยังเป็นแบบเดิม เพราะการคมนาคมระหว่างภาคอีสานกับภาคกลางไม่สะดวกอย่างยิ่ง ทั้งเสียเวลามาก เช่น เดินทางด้วยเกวียนจากกรุงเทพฯ มาถึงโคราชถึง 27 วัน และจากโคราชถึงเมืองอุบลราชธานีใช้เวลา 12-22 วัน นอกจากนี้ยังมีอันตรายจากไข้ป่า ดังจะเห็นได้จากตอนสร้างทางรถไฟสายนี้มีวิศวกรฝรั่ง 36 คน และกรรมกรจีน 414 คน ตายจากไข้ป่า
          หลังจากสร้างทางรถไฟสายอีสาน เศรษฐกิจ สังคมอีสานเปลี่ยนไปอย่างมาก ทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา เป็นทางรถไฟสายแรกของรัฐบาลไทย ความคาดหวังของรัฐบาลที่จะเห็นประโยชน์อันเกิดจากการสร้างทางรถไฟสายนี้ จุดมุ่งหมายหลักของการสร้างทางรถไฟสายแรกนี้ สรุปได้ 2 ประการ คือ
          1. เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการขนส่งผู้คนและสินค้า
          2. เพื่อประโยชน์ในการปกครองและรักษาพระราชอาณาเขต (ขณะฝรั่งเศสได้ยึดครองเขมร, เวียดนาม แล้วก็พุ่งมาที่ลาวจนไทยต้องเสียสิบสองจุไทให้ฝรั่งเศสใน พ.ศ. 2431 และเริ่มเข้าสู่ดินแดนลาวส่วนที่เหลือ) ในที่สุดทางการก็ตัดสินใจสร้างทางรถไฟสายอีสาน
          วันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2430 (นับอย่างปฏิทินปัจจุบัน พ.ศ. 2431) มีการลงพระนามและลงนามระหว่างพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีว่าการต่างประเทศ ในฐานะตัวแทนรัฐบาลไทยกับพลโท เซอร์แอนดรู คลาก ชาวอังกฤษ และคณะตัวแทนผู้รับจ้างสำรวจความเหมาะสมในการสร้างทางรถไฟ สายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ และสายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา โดยจะต้องสำรวจและประมาณราคาให้เสร็จภายใน 48 เดือน
          ผู้รับจ้างต้องประมาณราคาสร้างทางรถไฟทั้งขนาดความกว้างของรางรถไฟ 1 เมตร 1.435 เมตร และ 60 เซนติเมตร โดยไทยจะจ่ายค่าจ้างสำรวจ ไมล์ละไม่เกิน 100 ปอนด์ วันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2434 ได้มีการประกาศขายหุ้นลงทุนสร้างทางรถไฟแก่มหาชน 16,000 หุ้น หุ้นละ 100 บาท เป็นเงิน 2 แสนชั่ง หรือ 16 ล้านบาท เพื่อเป็นเงินทุนมาสมทบกับเงินทุนที่กระทรวงพระคลังมหาสมบัติกันไว้แล้วส่วนหนึ่ง
          วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2434 มีการเปิดซองประมูลการก่อสร้างทางรถไฟสายกรุงเทพฯ - นครราชสีมา ปรากฏว่ามีผู้ยื่นประมูล 2 ราย รายแรก นายเล็นซ์ (Lenz) ตัวแทนของบริษัทเยอรมันซึ่งมีธนาคารเยอรมัน 3 ธนาคารเป็นผู้ค้ำประกัน ประมูลในราคา 11,976,925.50 บาท รายที่ 2 นายยี. มูเร แกมป์เบลล์ (George Murray Campbell) ชาวอังกฤษจากสิงคโปร์ มีห้างซาดินเมเทธชั่นแห่งอังกฤษเป็นผู้ค้ำประกัน ประมูลในราคา 9,956,164 บาท รายที่ 2 ชนะการประมูลเพราะเสนอราคาต่ำกว่ารายแรกมากกว่า 2 ล้าน ได้มีการทำสัญญากับตัวแทนของรัฐบาลไทยในวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2434
          วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2434 (นับอย่างปฏิทินปัจจุบัน พ.ศ. 2435) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปยังโรงพิธี ณ ฝั่งคลองผดุงกรุงเกษมตรงท้ายวัดเทพศิรินทราวาส เพื่อทรงขุดดินเป็นพระฤกษ์ ทรงตักดินเทลงในเกวียนพอสมควร แล้วโปรดให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้าวชิรุณหิศ ไสเกวียนเดินไปตามทาง ถึงที่ต้นทางที่จะทำทางรถไฟแล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเทดินลงถมที่นั้นแล้ว คนงานทั้งหลายได้ลงมือขุดดินตามทางที่กระทรวงโยธาธิการได้ปักกรุยไว้ แต่ปรากฏว่าหลังจากก่อสร้างไปได้ไม่นาน บริษัทอังกฤษผู้รับสัมปทานไม่สามารถสร้างทางรถไฟได้เสร็จตามสัญญา กรมรถไฟหลวงจึงเลิกจ้างแล้วดำเนินการก่อสร้างเองจนเปิดใช้การได้ช่วงแรกกรุงเทพฯ-อยุธยา (71 กิโลเมตร) ในวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2439 (นับอย่างปฏิทินปัจจุบัน พ.ศ. 2440)
         ต่อจากนั้นก็มีการสร้างทางรถไฟจากอยุธยาไปชุมทางบ้านภาชี สระบุรี เข้าสู่ดงพญาเย็น ปรากฏว่าคนงานและวิศวกรตายเป็นจำนวนมาก ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น การสร้างทางรถไฟดังกล่าวซึ่งกำหนดไว้ 5 ปี แต่กว่าจะเสร็จถึงเป้าหมาย ใช้เวลาถึง 9 ปีเต็ม รวมระยะทาง 265 กิโลเมตร ใช้เงินก่อสร้าง 17,585,000 บาท (เฉลี่ยกิโลเมตรละ 66,360 บาท) สูงกว่าที่บริษัทอังกฤษประมูลไว้ 7.62 ล้านบาท หรือร้อยละ 76.5 เงินที่ใช้ก่อสร้างทางรถไฟดังกล่าวถือว่าเป็นเงินจำนวนมากในยุคนั้น เพราะงบประมาณรายรับของรัฐบาลใน พ.ศ. 2435 มีเพียง 15,378,114 บาท และในปีที่ทางรถไฟสร้างถึงนครราชสีมา พ.ศ. 2443 รัฐบาลไทยมีรายได้ทุกประเภทรวม 35,611,306 บาท
          พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปเปิดรถไฟที่นครราชสีมาเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2443 อนึ่งความกว้างของรางรถไฟที่ใช้ในภาคอีสานและภาคอื่นๆ ใช้ขนาดมาตรฐานที่ดีที่สุดของโลกขณะนั้น คือ 1.435 เมตร ยกเว้นสายใต้ใช้ขนาด 1 เมตร เพราะถูกแรงบีบจากอังกฤษจึงต้องใช้เท่ากับของอังกฤษในมลายู
          ส่วนทางรถไฟจากนครราชสีมาไปยังอุบลราชธานีและหนองคายได้หยุดการก่อสร้างไป 20 ปีเศษ เนื่องจากรัฐบาลได้ใช้งบประมาณซึ่งมีอยู่อย่างจำกัดในการสร้างรถไฟสายเหนือและสายใต้ไปจนสิ้นรัชกาลที่ 5 (ทางรถไฟสร้างเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 5 932 กิโลเมตร อยู่ในระหว่างก่อสร้าง 690 กิโลเมตร) การก่อสร้างเส้นทางมาเริ่มอีกครั้งปลายรัชกาลที่ 6 ต่อเนื่องมาจนถึง ต้นรัชกาลที่ 9 จึงเสร็จสมบูรณ์ที่สถานีหนองคาย กินเวลาถึง 65 ปี สำหรับการเปิดใช้บริการเดินรถไฟในภาคอีสาน













----------------------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ อุบลราชธานี
----------------------------------------------------------------
ข้อมูลอ้างอิง
1. สุวิทย์ ธีรศาศวัต. “ทางรถไฟสายอีสานในสมัยรัชกาลที่ 5-7, ศิลปวัฒนธรรม มีนาคม 2550 เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์เมื่อ 12 มีนาคม 2562 WWW.Silpa-mag.com 2. ภาพถ่ายส่วนบุคคลพระธรรมไตรโลกาจารย์ (2) ภ หจช. อบ สบ 8.2/19

(จำนวนผู้เข้าชม 2697 ครั้ง)

Messenger