กรมศิลปากรและจังหวัดสุพรรณบุรี เตรียมเปิดอาคารประติมากรรมขุนหลวงพะงั่วและประวัติศาสตร์สุพรรณบุรี แหล่งเรียนรู้แห่งใหม่ของจังหวัดสุพรรณบุรี ๑๙ ส.ค.นี้



          นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า กรมศิลปากรและจังหวัดสุพรรณบุรี เตรียม เปิดให้บริการอาคารประติมากรรมขุนหลวงพะงั่วและประวัติศาสตร์สุพรรณบุรี ตำบลสนามชัย อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี จัดแสดงประติมากรรมสำริดที่มีความยาวมากที่สุดในประเทศไทย เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ หรือขุนหลวงพะงั่ว ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ และประวัติศาสตร์เมืองสุพรรณบุรี โดยกำหนดเปิดให้ประชาชนเข้าชมเป็นวันแรกในวันที่ ๑๙ สิงหาคมนี้
           การจัดสร้างอาคารประติมากรรมขุนหลวงพะงั่วและประวัติศาสตร์สุพรรณบุรี จัดสร้างขึ้นตามดำริของ ฯพณฯ บรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรีคนที่ ๒๑ ได้แรงบันดาลใจมาจากภาพสลักหินเล่าเรื่องประวัติศาสตร์จีน ณ China Millennium Monument เมืองปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดแสดงพระราชประวัติของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ หรือขุนหลวงพะงั่ว ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ ที่ได้เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ ๓ ของกรุงศรีอยุธยา พระองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถเป็นเลิศด้านการศึกสงคราม การเมืองการปกครอง การศาสนา และการค้ากับต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีส่วนจัดแสดงประวัติศาสตร์ของเมืองสุพรรณบุรีตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ สืบเนื่องมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อชาวจังหวัดสุพรรณบุรี ผ่านงานประติมากรรมหล่อโลหะสำริดอันงดงามและมีความยาวมากที่สุดในประเทศไทย



          อาคารประติมากรรมขุนหลวงพะงั่วและประวัติศาสตร์สุพรรณบุรี เริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อ พุทธศักราช ๒๕๕๓ โดยกรมศิลปากรเป็นผู้ออกแบบอาคารและภาพประติมากรรม มีผังการจัดแสดงเป็นรูปวงรี ภายในจัดแสดงประติมากรรมสำริดนูนสูงและนูนต่ำ มีความกว้าง ๔.๒๐ เมตร ความยาว ๘๘ เมตร แบ่งออกเป็น ๙ ตอน ประกอบด้วย
          ตอนที่ ๑ สุพรรณบุรี : ชุมชนแรกเริ่ม แสดงถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ พิธีกรรม ความเชื่อ การตั้งถิ่น ฐานของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ สังคมเกษตรกรรมในจังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อราว ๔,๐๐๐-๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว และภาพโบราณวัตถุสำคัญจากแหล่งโบราณคดีหนองราชวัตร อำเภอหนองหญ้าไซ จังหวัดสุพรรณบุรี เช่น ภาชนะมีนม ภาชนะมีเขา ภาชนะสามขา

          ตอนที่ ๒ สุพรรณบุรี : อู่ทอง...เครือข่ายการค้าข้ามภูมิภาค แสดงถึงการติดต่อค้าขายระหว่างผู้คน ในเมืองโบราณอู่ทองกับพ่อค้าจากชุมชนใกล้เคียงและพ่อค้าชาวต่างชาติ ได้แก่ ชาวอินเดีย ชาวอาหรับ และชาวจีน เมืองโบราณอู่ทองเป็นหนึ่งในชุมทางการค้าสำคัญของลุ่มแม่น้ำแม่กลองและลุ่มแม่น้ำท่าจีน และเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางการค้าทางน้ำที่สำคัญในดินแดนสุวรรณภูมิ

          ตอนที่ ๓ สุพรรณบุรีในวัฒนธรรมศาสนา : อู่ทองเมืองศูนย์กลางศาสนารุ่นแรก แสดงถึงการรับวัฒนธรรมศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์-ฮินดูจากประเทศอินเดีย ก่อให้เกิดรูปแบบวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น เรียกว่า“วัฒนธรรมทวารวดี” ด้วยความเคารพและศรัทธาในศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์-ฮินดูของผู้คนในเมืองโบราณอู่ทองจึงได้มีการสร้างศาสนสถานและรูปเคารพทางศาสนา อันได้แก่ ธรรมจักรและศิวลึงค์

            ตอนที่ ๔ สุพรรณบุรี : เนินทางพระ...ร่องรอยพุทธศาสนามหายาน แสดงให้เห็นถึงการเดินทาง มายังปราสาทเนินทางพระ ซึ่งเป็นศาสนสถานในศาสนาพุทธแบบมหายาน มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมขอมสมัยบายน เพื่อทำการสักการบูชาพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์องค์สำคัญในศาสนาพุทธแบบมหายาน

          ตอนที่ ๕ สุพรรณบุรี : ก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา แสดงเรื่องราวของขุนหลวงพะงั่วเจ้าเมือง สุพรรณภูมิทรงนำกองทัพออกสู้ศึกกับอาณาจักรขอมจนได้รับชัยชนะ และแสดงภาพเจดีย์วัดไก่เตี้ย ซึ่งเป็นเจดีย์ก่ออิฐทรงแปดเหลี่ยมอันเป็นรูปแบบเอกลักษณ์ของเจดีย์สมัยก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา และภาพแหล่งเตาบ้านบางปูน ซึ่งเป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาริมฝั่งแม่น้ำสุพรรณบุรี

          ตอนที่ ๖ สุพรรณบุรี : เมืองลูกหลวงของราชธานีศรีอยุธยา แสดงเหตุการณ์การเสด็จขึ้นครอง ราชสมบัติกรุงศรีอยุธยาของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ (ขุนหลวงพะงั่ว) แห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ และการติดต่อค้าขายกับเมืองจีนที่รุ่งเรืองเป็นอย่างยิ่งในสมัยของสมเด็จพระนครินทราธิราช (เจ้านครอินทร์)

          ตอนที่ ๗ สุพรรณบุรี : สมรภูมิยุทธหัตถี แสดงเหตุการณ์การกระทำยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระ นเรศวรมหาราชกับพระมหาอุปราชาแห่งกรุงหงสาวดี ณ ตำบลหนองสาหร่าย อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี

          ตอนที่ ๘ สุพรรณบุรี : หัวเมืองแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จัดแสดงพระบรมรูปของพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและเหตุการณ์เมื่อครั้งเสด็จประพาสเมืองสุพรรณบุรี และพระบรมรูปของสมเด็จ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและเหตุการณ์เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินสักการะบวงสรวงเจดีย์ยุทธหัตถี พร้อมด้วยคณะเสือป่ารักษาพระองค์
          ตอนที่ ๙ ปัจจุบัน...สุพรรณบุรี แสดงเหตุการณ์การเสด็จพระราชดำเนินของพระบาทสมเด็จ พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงวางพวงมาลาในรัฐพิธีถวายราชสักการะสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ ทรงนำพสกนิกรเกี่ยวข้าวที่แปลงนาสาธิต และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานในพิธียกพุ่มข้าวบิณฑ์ยอดพระมณฑปและสมโภชรอยพระพุทธบาท ณ วัดเขาดีสลัก อำเภออู่ทอง

          อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวอีกว่า นอกจากผู้เข้าชมจะได้รับชมความงดงามของประติมากรรมสำริดแล้ว ยังได้รับความรู้และความเพลิดเพลินผ่านระบบการบรรยายนำชมที่ทันสมัยทั้งในรูปแบบออนไลน์ ออฟไลน์ และอุปกรณ์ Audio guide ที่มีให้เลือกถึง ๓ ภาษา คือ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาจีน โดยใช้เทคโนโลยีแสง เสียงประกอบการจัดแสดง ซึ่งจะอำนวยประโยชน์สูงสุดในการเรียนรู้ทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีของจังหวัดสุพรรณบุรี
          สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุพรรณบุรี โทรศัพท์ ๐ ๓๕๕๓ ๕๓๓๐ ในวันและเวลาราชการ

(จำนวนผู้เข้าชม 1171 ครั้ง)

Messenger