ตราประจำจังหวัดชัยนาท (เดิม)
ตราประจำจังหวัดชัยนาท (เดิม)
..
ในช่วงเวลาที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของไทยเป็นยุคที่มีการปฏิรูปทางวัฒนธรรมครั้งใหญ่ รัฐบาลในยุคนั้น ได้พยายามวางแนวทางให้ประชาชนในชาติอยู่ในระเบียบวินัย เพื่อสนองแนวคิดความเป็นชาติที่มีอารยะ
..
ได้มีรัฐนิยมประกาศออกใช้ถึง 10 ฉบับ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการพูดจา มารยาท การแต่งกาย และอื่น ๆ ที่รัฐบาลขอความร่วมมือให้ประชาชนปฏิบัติตาม
..
ความต้องการให้บ้านเมืองมีเอกลักษณ์ของตนเองนี้ ได้รวมไปถึงด้านการปกครองด้วย กล่าวคือรัฐบาลมีความคิดริเริ่มที่จะจัดทำตราประจำจังหวัดขึ้นใช้ นอกเหนือจากตราประจำตัว และตราประจำตำแหน่งข้าราชการ ซึ่งมีมาแล้วแต่โบราณ
..
แนวคิดการสร้างตราประจำจังหวัดของผู้นำรัฐบาลครั้งนั้นน่าจะมาจากเหตุหลัก 2 ประการคือ
1. ต้องการมีเครื่องหมายประจำจังหวัด ดังเช่นประเทศในยุโรป ที่มีเครื่องหมายประจำรัฐหรือแคว้นเห็นได้อย่างชัดเจน
2. ต้องการให้ประชาชนในท้องถิ่น มีความภาคภูมิใจในบ้านเกิดเมืองนอนของตน เนื่องจากตราประจำจังหวัดถือเป็นเอกลักษณ์ที่ใช้ในจังหวัดนั้น ๆ
..
จอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงได้มอบนโยบายให้แก่กรมศิลปากร ซึ่งขณะ นั้นมี พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ ดำรงตำแหน่งอธิบดี ออกแบบตราประจำจังหวัดทุกจังหวัด โดยกรมศิลปากรได้เริ่มดำเนินการออกแบบตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๓ เป็นต้นมา โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ 2 ท่านของ กรมศิลปากรเป็นหลักในการออกแบบ ได้แก่ ศาสตราจารย์ พระยาอนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ) เป็นผู้คิดความหมายจากชื่อจังหวัด หรือจากสิ่งสำคัญในแต่ละจังหวัด เพื่อจำลองออกมาเป็นภาพในดวงตราประจำจังหวัด และพระพรหมพิจิตร (อู๋ ลาภานนท์) เป็นผู้ร่างแบบตามแนวคิด ทั้งนี้กรมศิลปากรได้เปิดโอกาสให้คณะกรมการจังหวัดทุกจังหวัด มีส่วนในการเสนอข้อมูลและความคิดเห็นเพื่อประกอบการพิจารณา ออกแบบดวงตราประจำจังหวัดด้วย ส่วนการเขียนลงเส้นนั้น มีช่างอาวุโสในแผนกหัตถศิลป กองสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร เป็นผู้เขียนรวม ๔ นายคือ นายปลิว จั่นแก้ว นายทองอยู่ เรียงเนตร นายปรุง เปรมโรจน์ และนายอุ่ณห์ เศวตมาลย์
..
แต่แนวคิดในการออกแบบตราประจำจังหวัดของแต่ละจังหวัดนั้น กรมศิลปากรได้น้อมรับความเห็นของคณะกรมการจังหวัดทั้ง ๗๔ จังหวัด เพื่อมาใช้ในการออกแบบด้วย เพราะกรมศิลปากรเล็งเห็นว่า จะพิจารณาแนวทางการออกแบบ โดยอาศัยข้อมูลทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี และความคิดเห็นในเชิงวิชาการเท่านั้นคงจะไม่ได้ เพราะความสำคัญของตราประจำจังหวัดนั้น อยู่ที่ว่าเมื่อทำขึ้นแล้ว ชาวจังหวัดโดยทั่วไปหรือส่วนมากจะพอใจใช้หรือไม่ อนึ่งเครื่องหมายนั้นต้องเป็นเครื่องหมายที่จะให้ใช้ได้ทั่ว ๆ ไป ตลอดถึงเป็นเครื่องหมายสินค้า อุตสาหกรรมของพื้นเมือง จะใช้รูปปูชนียวัตถุสำคัญของจังหวัดนั้น ๆ ก็อาจไม่เหมาะแก่ความนิยมนับถือ ซึ่งการพิจารณาหลายด้านเช่นนี้ กรมศิลปากรจึงต้องหารือกับกรมการจังหวัดของแต่ละจังหวัด เพื่อขอความคิดเห็นไปประกอบการพิจารณาว่า ควรใช้อะไรเป็นเครื่องหมายของจังหวัดนั่นเอง
..
โดยกรมการจังหวัดชัยนาทในเวลานั้น ได้เสนอรูปแบบตราประจำจังหวัดให้กับกรมศิลปากร โดยเสนอให้มีรูปพระธรรมจักร และรูปเขาสรรพยาที่มีหนุมานใช้หางพันรอบ ๆ เพื่อหาสังกรณีตรีชวา แต่กรมศิลปากรเห็นว่าวัดธรรมามูล เป็นโบราณสถานสำคัญของจังหวัด เพราะมีพระพุทธรูปที่เรียกกันว่า หลวงพ่อธรรมจักร ที่เป็นที่เคารพนับถือของประชาชนพลเมืองทั่วไป จึงเห็นควรทำเป็นรูปธรรมจักรกับภูเขา โดย ธรรมจักร มีความหมายถึง วัดธรรมามูล ส่วนภูเขา มีความหมายถึง เขาธรรมามูล หรือเขาสรรพยาก็ได้
..
ภายหลังเมื่อกรมศิลปากรได้ออกแบบตราประจำจังหวัดชัยนาทแล้ว จึงได้ตราประจำจังหวัดที่เป็นรูปธรรมจักร อยู่กลางตราสัญลักษณ์ โดยเบื้องหลังธรรมจักรเป็นรูปภูเขา เบื้องล่างและเบื้องบนของตราล้อมด้วยลายกระหนก
..
รูปธรรมจักรและภูเขานั้น เป็นสัญลักษณ์หมายถึง หลวงพ่อธรรมจักร พระพุทธรูปสำคัญซึ่งประดิษฐานอยู่ ณ วิหารบนเชิงเขาธรรมามูล ที่ชาวชัยนาทเคารพนับถือในความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธรูปองค์นี้มาก เชื่อว่าจะบันดาลความร่มเย็นเป็นสุข และความอุดมสมบูรณ์ให้แก่บ้านเมือง
..
ในปัจจุบันตราประจำจังหวัดชัยนาท ได้มีการปรับเปลี่ยนลักษณะต่างไปจากแบบเดิมของกรมศิลปากร โดยมีการเพิ่มรูปครุฑเข้าไปอยู่ใต้รูปธรรมจักร
เนื้อหาและภาพประกอบจากหนังสือ ตราประจำจังหวัด จัดพิมพ์เผยแพร่โดย กรมศิลปากร

(จำนวนผู้เข้าชม 3513 ครั้ง)

Messenger