คืนวิสาขบูชา ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ปรากฏการณ์จันทรุปราคาบางส่วนเหนือฟ้าเมืองไทย เวลา ๑๘:๓๘-๑๙:๕๒ น. ดวงจันทร์เต็มดวงจะปรากฏเว้าแหว่ง สังเกตได้ด้วยตาเปล่าทั่วประเทศ
วันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๖๔ จะเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง สังเกตได้ในแถบประเทศออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี และอินโดนีเซีย ดวงจันทร์เริ่มเข้าสู่เงามัวของโลกตั้งแต่เวลา ๑๕:๔๗ น. จากนั้นค่อย ๆ เคลื่อนเข้าสู่เงามืดของโลก เกิดเป็นจันทรุปราคาบางส่วนในเวลา ๑๖:๔๔ น. และเข้าสู่จันทรุปราคาเต็มดวงตั้งแต่เวลา ๑๘:๑๑-๑๘:๒๕ น. แต่ในวันดังกล่าว ในประเทศไทยดวงจันทร์จะโผล่พ้นจากขอบฟ้าเวลาประมาณ ๑๘:๓๘ น. ทำให้ผู้สังเกตในไทยมีโอกาสมองเห็นเป็นเพียง #จันทรุปราคาบางส่วน เท่านั้น
ผู้สนใจสามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่าในทุกภูมิภาคของประเทศ บริเวณขอบฟ้าทางทิศตะวันออก ตั้งแต่เวลา ๑๘:๓๘ น. เป็นต้นไป จะมองเห็นดวงจันทร์ปรากฏเว้าแหว่งบางส่วนและค่อย ๆ ออกจากเงามืดของโลก จนกระทั่งเข้าสู่เงามัวหมดทั้งดวงในเวลา ๑๙:๕๒ น. เปลี่ยนเป็นจันทรุปราคาเงามัวที่สังเกตได้ยาก เนื่องจากความสว่างของดวงจันทร์เปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และสุดท้ายดวงจันทร์จะพ้นจากเงามัวของโลกเวลา ๒๐:๔๙ น. ถือว่าสิ้นสุดปรากฏการณ์จันทรุปราคาในครั้งนี้โดยสมบูรณ์
--ปรากฏการณ์จันทรุปราคา ถือเป็นปราฏการณ์ทางธรรมชาติอย่างหนึ่งที่มีผลต่อความเชื่อ และวิถีชีวิตของคนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
--ปรากฏการณ์จันทรุปราคา (จันทรคาธ, จันทรคราส, ราหูอมจันทร์, กบกินเดือน) เกิดจากดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์ โคจรมาอยู่ในแนวเดียวกัน มีโลกอยู่กลางระหว่างดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์ และเป็นจังหวะที่ดวงจันทร์โคจรผ่านเข้าไปในเงาของโลก ทำให้ผู้สังเกตบนโลกฝั่งกลางคืน ในพื้นที่กว่าครึ่งโลกสามารถมองเห็นดวงจันทร์เว้าแหว่งหายไปในเงามืดแล้วโผล่กลับออกมาอีกครั้ง โดยจะเกิดขึ้นเฉพาะในคืนวันเพ็ญ ๑๕ ค่ำ หรือคืนวันดวงจันทร์เต็มดวงเท่านั้น เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี อย่างน้อยปีละ ๒ ครั้ง บางปีอาจมีได้มากถึง ๕ ครั้ง
ปรากฏการณ์จันทรุปราคา ยังมีความสัมพันธ์กับคติความเชื่อเรื่องพระราหู ซึ่งจะเรียกว่า ราหูอมจันทร์ ปรากฏในคติพราหมณ์ ฮินดู โดยมาจากเรื่องกูรมาวตาร ซึ่งเป็นอวตารปางหนึ่งของพระนารายณ์ หรือพระวิษณุ ที่อวตารมาเป็นเต่า ซึ่งเนื้อหาเกี่ยวกับการกวนเกษียรสมุทรระหว่างเทวดา และอสูร เพื่อให้ได้มาซึ่งน้ำอมฤต เมื่อได้น้ำอมฤตแล้วเหล่าเทวดาก็เกรงหากว่าอสูรได้น้ำอมฤตแล้วจะเป็นอมตะ พระนารายณ์จึงอวตารเป็นเทพอัปสรหลอกล่อให้เคลิบเคลิ้มงงงวย จึงทำให้เหล่าเทวดาได้ดื่มน้ำอมฤต แต่มีอสูรตนหนึ่ง คือ สุรินทราหู ได้แปลงกายเข้าไปร่วมดื่มน้ำอมฤตด้วย เผอิญพระอาทิตย์ พระจันทร์ ทราบเข้าถึงนำความไปบอกพระนารายณ์ พระนารายณ์จึงขว้างจักราวุธไปตัดตัวราหูออกเป็นสองท่อน แต่ราหูไม่ตายเนื่องจากได้ดื่มน้ำอมฤตเข้าไป ส่วนหางไปเป็นพระเกตุ ราหูผูกใจเจ็บพระอาทิตย์ พระจันทร์ จึงตามจองอาฆาตโดยคอยกลืนกินพระอาทิตย์ พระจันทร์ เมื่อได้พบกัน จึงกลายเป็นสุริยคราส และจันทรคราส บางตำนานกล่าวว่าพระอิศวร หรือพระศิวะเป็นผู้ทำให้ราหูขาดเป็นสองท่อน
--นอกจากนี้จันทรุปราคายังสัมพันธ์กับความเชื่อท้องถิ่นเรื่องกบกินเดือน ซึ่งในแต่ละพื้นที่ หรือท้องถิ่นก็จะมีเรื่องเล่าที่แตกต่างกันออกไป หากมีจันทรุปราคา หรือ ราหูอมจันทร์ ชาวบ้านในท้องถิ่นชนบทจะขับไล่ราหูออกจากพระจันทร์โดยใช้ไม้เคาะกับอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อให้เกิดเสียง เช่น กะละมัง หรือถัง และยังมีการจุดประทัด บีบแตร ทำให้เกิดเสียงดัง เนื่องจากตามความเชื่อแบบโบราณที่ว่าจะเป็นลางร้าย ชาวบ้านจะพากันออกมาช่วยกัน ตีเกราะเคาะไม้ เพื่อให้ราหูคลายจากการอมพระจันทร์ หรือเพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้ายต่างๆ จากจากนี้ยังมีการตีเคาะต้นไม้ให้ออกลูกออกผลดี เกิดความอุดมสมบูรณ์อีกด้วย 
--ภาพประติมากรรมปูนปั้นรูปพระราหูประดับบนซุ้มประตูเข้าเข้าด้านทิศใต้ของระเบียงคตล้อมรอบพระธาตุแช่แห้ง ลักษณะพระราหูใบหน้าคล้ายอสูร หรือยักษ์ มีเพียงส่วนศีรษะไม่มีลำตัว สวมชฎา หรือมงกุฎ สวมพาหุรัด ทองกร ใช้มือทั้งสองจับพระจันทร์ หรือพระอาทิตย์ โดยอมไว้ในปากส่วนหนึ่ง หรือกำลังคาบไว้ในปาก ราหูในทางโหราศาสตร์ได้กำหนดว่าราหูคือโลกซึ่งเป็นดาวพระเคราะห์ที่เราอาศัยอยู่ งานประติมากรรมรูปพระราหูที่วัดพระธาตุแช่แห้งพบเพียงด้านเดียวคือทิศใต้ ซึ่งสัมพันธ์กับความเชื่อเรื่องชมพูทวีป ในคติไตรภูมิ ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของเขาพระสุเมรุ เป็นที่อยู่ของมนุษย์โลกอายุขัยไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับการทำบุญหรือทำกรรม 
เอกสารอ้างอิง
 นภาธิต วัฒนถาวร. พระราหู : ภาพสะท้อนของสังคมเมืองยุคโลกาภิวัฒน์.  สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (มานุษยวิทยา) ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร. ๒๕๓๘. เข้าถึงโดย http://www.sure.su.ac.th/.../123456789/3160/fulltext.pdf...
 พลอยชมพู ยามะเพวัน. พัฒนาการจากหน้ากาลมาเป็นราหูในสมัยรัตนโกสินทร์. การค้นคว้าอิสระปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ศิลปะ ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร.๒๕๕๔. เข้าถึงได้โดย http://www.sure.su.ac.th/.../123456789/1567/fulltext.pdf...
         คืนวิสาขบูชา 26 พฤษภาคม ชวนชม #จันทรุปราคาบางส่วนเหนือฟ้าเมืองไทย เข้าถึงได้โดย https://www.facebook.com/.../a.14830893.../4203749556355293/

(จำนวนผู้เข้าชม 1822 ครั้ง)

Messenger