เมืองโบราณในแอ่งที่ราบเชียงราย
องค์ความรู้ทางโบราณคดี เรื่อง : เมืองโบราณในแอ่งที่ราบเชียงราย
โดย : สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่
           แอ่งที่ราบเชียงรายเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวโยนหรือชาวยวน​​ และเป็นถิ่นกำเนิดของพญามังราย​ ปฐมกษัตริย์ของอาณาจักรล้านนา​ ซึ่งในบริเวณนี้มีการตั้งถิ่นฐานมาก่อนพุทธศตวรรษที่​ 19​ แล้ว
           ในตำนานพื้นเมืองต่าง ๆ ของล้านนากล่าวถึงการตั้งถิ่นฐานของผู้คนในแอ่งที่ราบแห่งนี้​ ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่​ 12​ รวมทั้งในตำนานท้าวฮุ่ง - ท้าวเจือง​ ก็ทำให้เห็นภาพของกลุ่มบ้านเมืองบริเวณนี้ในช่วงพุทธศตวรรษที่​ 17
           จากการศึกษาภาพถ่ายดาวเทียมของ​ อาจารย์ทิวา​ ศุภจรรยา​ และจากการสำรวจทางโบราณคดีของกรมศิลปากร​ พบเมืองโบราณในแอ่งแอ่งเชียงรายมากกว่า​ 120​ เมือง​ และบริเวณที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นเมืองโบราณอีกประมาณ​ 40​ แห่ง
            เมืองเหล่านี้กระจายตัวอยู่ตามแนวขอบของแอ่งที่ราบ​ หรือบริเวณที่เป็นเชิงเขา​ แต่ไม่ห่างจากแม่น้ำสายหลักมากนัก​ โดยพื้นที่เหล่านี้จะไม่ได้รับผลกระทบในฤดูน้ำหลาก​ และยังสะดวกต่อการติดต่อคมนาคมและการค้ากับเมืองอื่น ๆ
            เมืองใหญ่/เมืองสำคัญแต่ละแห่ง​ มักมีระยะห่างจากเมืองใหญ่อีกแห่งที่ใกล้ที่สุด​ ค่อนข้างเป็นระยะแน่นอน​ คือ​ 30​ หรือ​ 60​ กิโลเมตร​ โดยมีชุมชนเล็กๆ​ (ที่เรียกในตำนานต่าง ๆ ว่า​ บ้าน)​ กระจายตัวอยู่ตามเส้นทางสัญจร
             ดังนั้น​ จึงกล่าวได้ว่าบ้านเมืองในแอ่งที่ราบเชียงรายนี้​ มีพัฒนาการ​ ความเจริญ​ ความมั่งคั่ง ในระดับที่ทำให้พญามังรายสามารถรวบรวมกำลังคน ข้ามไปยังแอ่งที่ราบเชียงใหม่เพื่อขยายบ้านเมือง​ และก่อร่างสร้างอาณาจักรล้านนาขึ้นมาได้
             ซึ่งในปัจจุบัน​ เมืองโบราณเหล่านี้ยังไม่ได้รับการศึกษาทางโบราณคดีอย่างเป็นระบบ​ ซึ่งจะทำให้ทราบถึงความสำคัญและอายุสมัย​ อันจะสนับสนุนเรื่องราวในตำนานต่าง ๆ ได้
** ที่มาของชื่อชาวโยน หรือชาวโยนก ติดตามได้จากลิงค์นี้
https://www.facebook.com/1440813319503278/posts/2980207115563883/?d=n
- เรียบเรียงโดย -
นางสาวนงไฉน  ทะรักษา
นักโบราณคดีชำนาญการ
กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่


(จำนวนผู้เข้าชม 3156 ครั้ง)

Messenger