เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
ร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดี เสาดินนาน้อย
เสาดินนาน้อย อยู่ภายในเขตอุทยานแห่งชาติศรีน่าน ตำบลเชียงของ อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน นอกจากจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรณีวิทยาแล้ว พื้นที่บริเวณนี้ยังพบร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ได้แก่ เครื่องมือหินกะเทาะ ซึ่งมีลักษณะเป็นหินกรวดแม่น้ำ ส่วนใหญ่เป็นเครื่องมือหินในกลุ่มเครื่องมือสับ-ตัด (Chopper - chopping Tool) โดยพบได้ทั่วไปตามพื้นผิวดินและผนังชั้นดิน ในบริเวณที่ถูกน้ำเซาะจากการศึกษาเปรียบเทียบอายุสมัยของเครื่องมือหิน สันนิษฐานว่าน่าจะมีอายุมากกว่า ๑๐,๐๐๐ - ๒๐,๐๐๐ ปีมาแล้ว
"เสาดิน" เป็นศัพท์ที่ชาวบ้านใช้เรียกหย่อมตะกอนที่มีลักษณะเป็นหน้าผาสูงชัน เป็นแท่ง เป็นกรวย เป็นหลืบ มียอดแหลม โผล่พ้นพื้นดินบนลานโล่ง เสาดินนาน้อยเกิดขึ้นจากการผุพังและการกัดกร่อนโดยน้ำฝนเป็นตัวการ ทำให้ชั้นตะกอนซึ่งได้จากการสะสมตัวในแอ่งลุ่มน้ำของอำเภอนาน้อยในสมัยไพลสโตซีนตอนปลายที่ยังไม่จับตัวกันแน่นแข็งเป็นหิน ถูกชะล้างพัดพาออกไปจนมีสภาพแวดล้อมเป็นพื้นที่เสื่อมโทรม มีริ้วและร่องที่เกิดจากการกัดกร่อนโดยทางน้ำ (Gully erosion) มากมาย แหล่งธรณีวิทยาคล้ายเสาดินนาน้อยแห่งอื่นในประเทศไทย เช่น แพะเมืองผี ตำบลน้ำชำ อำเภอเมือง จังหวัดแพร่, โป่งยุบ ตำบลท่าเคย อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี และ ละลุ ตำบลทัพราช อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว เป็นต้น
แหล่งโบราณคดีเสาดินนาน้อย ปรากฏหลักฐานร่องการอยู่อาศัยแรกเริ่มในพื้นที่จังหวัดน่านของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ สมัยหินเก่า (Palaeolithic Period) หลักฐานที่พบ คือ เครื่องมือหินกะเทาะซึ่งทำจากหินกรวดแม่น้ำ เป็นเครื่องมือหินประเภทสับ-ตัด (Chopper-chopping Tool) ส่วนใหญ่เป็นแบบกะเทาะหน้าเดียว สันนิษฐานว่าน่าจะมีอายุมากกว่า ๑๐,๐๐๐ - ๒๐,๐๐๐ ปีมาแล้ว
ในปี พ.ศ. ๒๕๕๕ ได้มีการศึกษารูปแบบเครื่องมือหินกะเทาะ ที่พบจากการสำรวจ ในพื้นที่บริเวณแหล่งโบราณคดีเสาดินนาน้อย จำนวน ๒๐๓ ชิ้น จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่าเป็นหินทรายและหินควอตไซต์ และได้จัดจำแนกรูปแบบเครื่องมือหินออกเป็นสองลักษณะ ได้แก่ เครื่องมือแกนหิน และเครื่องมือสะเก็ดหิน ดังนี้ เครื่องมือแกนหิน (Core Tools) ได้แก่
๑. Chopper Tools เครื่องมือหินที่กะเทาะหน้าเดียว มีลักษณะเป็นเส้นโค้งหรือเส้นตรงเฉพาะส่วนบนผิวหน้าเท่านั้น
๒. Chopping Tools เครื่องมือหินที่มีร่องรอยการกะเทาะทั้งสองหน้า ขอบที่เป็นคมของเครื่องมือโค้งลงคล้ายลูกคลื่น อันเกิดจากการกะเทาะสลับไปมาทั้งสองข้าง
๓. Hand-Adzes เครื่องมือหินที่ถูกกะเทาะขอบคมด้านซ้ายหรือขวาด้านใดด้านหนึ่ง
๔. Photo-Hand axes เครื่องมือหินที่กะเทาะให้มีลักษณะปลายแหลม
๕. เครื่องมือหินกะเทาะหน้าเดียวทั้งหน้า
๕.๑ แบบมีปลายค่อนข้างแหลม
๕.๒ แบบมีลักษณะค่อนข้างกลม
๖. เครื่องมือหินที่มีร่องรอยการกะเทาะทั้งชิ้น เครื่องมือสะเก็ดหิน (Flakes tools) ได้แก่
๑. เครื่องมือสะเก็ดหินขนาดใหญ่ที่กะเทาะเพียงหน้าเดียว ให้เกิดรอยคมบริเวณขอบผิวหน้าของสะเก็ดหินด้านใดด้านหนึ่ง
๒. เครื่องมือสะเก็ดหินที่ถูกกะเทาะขอบคม ๒.๑ เครื่องมือสะเก็ดหินที่ถูกกะเทาะขอบคมรอบๆ ๒.๒ เครื่องมือสะเก็ดหินที่ถูกกะเทาะขอบคมด้านซ้ายหรือขวาด้านใดด้านหนึ่ง
๓. เครื่องมือสะเก็ดหินขนาดใหญ่ที่กะเทาะให้มีลักษณะปลายแหลม
๓.๑ เครื่องมือสะเก็ดหินขนาดใหญ่ที่กะเทาะให้มีลักษณะปลายแหลมเพียงด้านเดียว
๓.๒ เครื่องมือสะเก็ดหินขนาดใหญ่ที่กะเทาะให้มีลักษณะปลายแหลมทั้งด้านบนและด้านล่าง
๔. เครื่องมือสะเก็ดหินขนาดเล็กที่มีร่องรอยการกะเทาะทั่วทั้งชิ้น ๕. รูปแบบอื่นๆ ไม่สามารถจัดจำแนกให้อยู่ในรูปแบบข้างต้นได้ ซึ่งเป็นเครื่องมือหินที่มีลักษณะคล้ายคมขวาน
นอกจากแหล่งโบราณคดีเสาดินนาน้อย ตำบลเชียงของ อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน ซึ่งพบร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดีประวัติศาสตร์สมัยหินเก่าแล้ว ยังมีแหล่งโบราณคดีถ้ำปู่แล่ม หรือถ้ำอัมรินทร์ ตำบลส้าน อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน ซึ่งเป็นถ้ำบนภูเขาหินปูน จากการสำรวจพบเครื่องมือหินกะเทาะที่ทำจากหินกรวดแม่น้ำ ก้อนหินเจาะรู เครื่องมือหินขัด และเศษภาชนะดินเผา โดยหินกรวดแม่น้ำที่มีรอยกะเทาะและสะเก็ดหินหลายชิ้นที่พบคงจะถูกนำมาผลิตเป็นเครื่องมือ สันนิษฐานว่า เครื่องมือหินกรวดแม่น้ำที่พบที่แหล่งโบราณคดีถ้ำปู่แล่ม หรือถ้ำอัมรินทร์ น่าจะมีอายุราว ๓๕,๐๐๐ - ๒๕,๐๐๐ ปีมาแล้ว ซึ่งอาจจะอยู่ในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกันกับแหล่งโบราณคดีเสาดินนาน้อย
ปัจจุบัน โบราณวัตถุที่ถูกเก็บรักษาและจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน ประกอบด้วย เครื่องมือหินกะเทาะ จำนวน ๑๐ ชิ้น ซึ่งพบจากการสำรวจบริเวณเสาดินนาน้อย เมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๒๕ นอกจากนั้น ยังมีการจัดแสดงโบราณวัตถุที่พบจากพื้นที่บริเวณเสาดินนาน้อย ณ อาคารที่ทำการของเสาดินนาน้อย และนำเสนอเรื่องราวทางด้านธรณีวิทยาของเสาดินนาน้อยอีกด้วยค่ะ
---------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล :พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน
---------------------------------------------------
เอกสารอ้างอิง :
กรมทรัพยากรธรณี, เสาดิน ตำบลเชียงของ อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน (ออนไลน์) , เข้าถึงข้อมูลเมื่อ ๓๐ มกราคม ๒๕๖๔, แหล่งที่มา : http://www.dmr.go.th/main.php?filename=n08 พัชราภรณ์ มูลชมพู. “รูปแบบเครื่องมือหินกะเทาะ: แหล่งโบราณคดีเสาดินนาน้อย อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน”. สารนิพนธ์ปริญญาตรี ศิลปศาสตรบัณฑิต ภาควิชาโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๕. ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม, แหล่งโบราณคดี เสาดินนาน้อย (ออนไลน์), เข้าถึงข้อมูลเมื่อ ๓๐ มกราคม ๒๕๖๔, แหล่งที่มา : http://gis.finearts.go.th/fineart/ สิริพัฒน์ บุญใหญ่. การสำรวจแหล่งก่อนประวัติศาสตร์ในพื้นที่อำเภอเวียงสา อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน. เชียงใหม่ : ห้างหุ้นส่วนจำกัดกู้ดพริ้น พริ้นติ้ง เชียงใหม่, ๒๕๕๑. สำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่. สังเขปประวัติศาสตร์และโบราณคดีจังหวัดน่าน ฉบับคู่มือ อส.มศ. , ไม่ระบุปีที่พิมพ์.
(จำนวนผู้เข้าชม 3877 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน