วธ.จัดพิธีรับมอบทับหลังจากปราสาทหนองหงส์ จ.บุรีรัมย์ และทับหลังจากปราสาท เขาโล้น จ.สระแก้ว
กระทรวงวัฒนธรรมจัดพิธีรับมอบทับหลังจากปราสาทหนองหงส์ จังหวัดบุรีรัมย์ และทับหลังจากปราสาทเขาโล้น จังหวัดสระแก้ว พร้อมเปิดให้ประชาชนชมถึง ๓๐ กันยายนนี้ ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

วันศุกร์ที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๐.๐๐ น. ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถาน แห่งชาติ พระนคร นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีรับมอบทับหลังจากปราสาทหนองหงส์ จังหวัดบุรีรัมย์ และทับหลังจากปราสาทเขาโล้น จังหวัดสระแก้ว โดยมี นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ประธานคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย นายไมเคิล ฮีธ อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย นายดุสิต เมนะพันธุ์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ นายเอริค แมคล็อคลิน ผู้ช่วยทูตประจำภูมิภาค สำนักงานสืบสวนเพื่อความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ ประเทศไทย ในนามสำนักงานสืบสวนเพื่อความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ สหรัฐอเมริกา พร้อมด้วยคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร เข้าร่วมในพิธี




การติดตามทับหลังปราสาทหนองหงส์และปราสาทเขาโล้น เริ่มต้นเมื่อปี ๒๕๕๙ เมื่อมีกระแส เรียกร้องให้ติดตามนำโบราณวัตถุของไทยที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย จากความร่วมมือ ของภาคเอกชนและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องในนาม “คณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย” ที่ลงนามแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี และได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากสำนักงานสืบสวนความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (Homeland Security Investigations) หรือ HSI สหรัฐอเมริกา ดำเนินการสืบสวนจนกระทั่งได้รับมอบทับหลังทั้งสองรายการเมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคมที่ผ่านมา และกลับคืนสู่ประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๔
กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร จึงได้จัดพิธีรับมอบทับหลังทั้ง ๒ รายการ พร้อมทั้งนำมา จัดแสดงในนิทรรศการพิเศษ “ทับหลังปราสาทหนองหงส์ และปราสาทเขาโล้น กลับคืนสู่ประเทศไทย” โดยนิทรรศการนำเสนอข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของทับหลังทั้ง ๒ รายการ หลักฐานต่าง ๆ ที่ได้สืบค้น รวมถึงขั้นตอน การดำเนินงานในการติดตาม เพื่อให้ประชาชนเข้าใจถึงขั้นตอนและวิธีการกว่าจะได้มาซึ่งโบราณวัตถุที่ต้องใช้ระยะเวลา ความพยายาม และความร่วมมือจากหลายฝ่าย อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นจิตสำนึกรักและหวงแหนมรดกวัฒนธรรมของไทยและร่วมกันปกป้องดูแลรักษาให้สืบทอดไปยังคนรุ่นหลังต่อไป


นิทรรศการพิเศษ “ทับหลังปราสาทหนองหงส์ และปราสาทเขาโล้น กลับคืนสู่ประเทศไทย” จัดแสดง ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๔ ทุกวันพุธ – วันอาทิตย์ (ปิดวันจันทร์ และอังคาร) เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๖.๐๐ น. สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร โทรศัพท์ ๐ ๒๒๒๔ ๑๔๐๒ , ๐ ๒๒๒๔ ๑๓๗๐
เป็นเวลามากกว่า ๕๐ ปี ที่ทับหลังปราสาทหนองหงส์ จังหวัดบุรีรัมย์ และทับหลังปราสาทเขาโล้น จังหวัดสระแก้ว ซึ่งเป็นส่วนประกอบของโบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ ได้ถูกโจรกรรมและนำออกไปจากประเทศไทยอย่างผิดกฎหมายโดยขบวนการลักลอบค้าโบราณวัตถุเพื่อส่งต่อให้กับนักสะสมและพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งกรณีของทับหลังทั้งสองรายการนี้ ไม่ใช่ครั้งแรกที่มรดกทางวัฒนธรรมของ คนไทยถูกลักลอบนำออกไป ที่ผ่านมาทับหลังจากปราสาทกู่สวนแตง และปราสาทพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ ก็เคย ถูกโจรกรรมไป และได้ติดตามนำกลับคืนมาแล้ว เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๓ และ พ.ศ. ๒๕๓๑ ตามลำดับ
ทับหลังคือส่วนประกอบของศาสนสถานจำพวกปราสาทหินในวัฒนธรรมเขมรโบราณ โดยมีลักษณะ เป็นแผ่นหินรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าติดตั้งอยู่เหนือกรอบประตูของอาคารหรือปราสาทหิน วัสดุหลักที่ใช้ทำทับหลังคือหินทราย โดยจะมีการจำหลักลวดลายเป็นภาพเล่าเรื่อง ภาพเทพต่างๆ หรือลวดลายประดับลงบนทับหลัง ลวดลายเหล่านี้มีรูปแบบและวิวัฒนาการในการสร้างที่ชัดเจน จึงสามารถใช้เป็นสิ่งที่ช่วยกำหนดอายุในการสร้างโบราณสถานนั้น ๆ ได้ และทับหลังก็มีรูปแบบเฉพาะที่แตกต่างกันไปเนื่องจากเป็นของที่แกะสลักขึ้นมาทีละชิ้น มีเอกลักษณ์และสวยงาม เป็นที่ต้องการของเหล่าบรรดาผู้สะสมโบราณวัตถุ ในอดีตจึงมักถูกโจรกรรมจากแหล่งโบราณสถานที่อยู่ห่างไกลและลักลอบนำออกไปขายยังต่างประเทศ


----------------------------------------------------
เอกสารประกอบ
ดาวน์โหลดได้ที่ https://drive.google.com/drive/folders/1kCB73EnDdXHi1qTHfJkd7DhG2XhcxmIV?usp=sharing

(จำนวนผู้เข้าชม 1590 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม
-
นโยบายเว็บไซต์ |
มาตรฐาน