การฝังศพแบบปฐมภูมิ(Primary Burial) ที่แหล่งโบราณคดีโนนหนองจาน
          แหล่งโบราณคดีโนนหนองจาน ตั้งอยู่ที่บ้านมันปลา หมู่ที่ ๑๓ ตำบลกุดแห่ อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร ได้รับการขุดค้นทางโบราณคดีตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๕๙ – ๒๕๖๑ พบหลักฐานการฝังศพแบบปฐมภูมิ (Primary Burial)ในท่านอนหงายเหยียดยาว และการฝังศพบแบบทุติยภูมิ (Secondary Burial) หรือการฝังศพในภาชนะดินเผา(Jar Burial) รวมกันจำนวนไม่น้อยกว่า ๑๘ โครง การฝังศพแบบปฐมภูมิ(Primary Burial) คือการฝังศพแบบดั้งเดิม การฝังจะนำศพวางนอนในหลุม อาจจะวางศพนอนตะแคงงอเข่า หรือ นอนหงายเหยียดยาว การฝังศพลักษณะนี้จะพบกระดูกเรียงกันอย่างถูกต้องตามหลักกายวิภาค และพบเกือบทุกส่วนของร่างกาย ขอยกตัวอย่าง การวิเคราะห์โครงกระดูกที่พบ ๒ โครง ดังนี้
โครงกระดูก A
          การวิเคราะห์โครงกระดูกจากลักษณะทางกายภาพ พบว่า อายุเมื่อตายประมาณ ๑๕ – ๒๐ ปี วิเคราะห์จากขนาดของกระดูกแต่ละชิ้นที่มีขนาดใกล้เคียงกับผู้ใหญ่ แต่ยังพบว่าหัวกระดูกแต่ละชิ้นยังไม่เชื่อมต่อกันจึงยังไม่สามารถระบุเพศได้ วัดความยาวของโครงกระดูกได้ ๑๔๙ เซนติเมตร หันศีรษะไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ สภาพของโครงกระดูกอยู่ในท่านอนหงาย กระดูกแต่ละชิ้นวางอยู่ในส่วนที่ถูกต้องตามกหลักกายวิภาค ส่วนกะโหลกศีรษะเสียหายจากการขุดค้น แขนท่อนบนวางแนบไปกับลำตัว แขนท่อนล่างด้านซ้ายวางเหนือกระดูกเชิงกราน ด้านขวาแนบกับลำตัว ท่อนขาและเท้าทั้งสองข้างวางตรงและค่อนข้างชิดกัน ปลายเท้าฝังลงลึกกว่าท่อนขาเล็กน้อยเอียงไปทางซ้ายเล็กน้อย
          หลักฐานที่พบร่วม ได้แก่ กำไลสำริดที่แขนซ้ายท่อนบนมีเครื่องจักสานติดอยู่ ขวานเหล็กมีรอยประทับเปลือกข้าว ลูกปัดหินคาร์เนเลียนทรงกลมบริเวณคอฝั่งซ้าย กำไลทรงกระบอกที่แขนท่อนล่างสองข้าง และเครื่องรางสำริดมีลักษณะคล้ายหวีแต่ซี่ห่างกว่าสองชิ้นที่ระหว่างขาท่อนบน
โครงกระดูก B
           การวิเคราะห์โครงกระดูกจากลักษณะทางกายภาพ พบว่า เป็นเพศหญิง วิเคราะห์ได้จากลักษณะของกระดูกเชิงกรานและลักษณะที่ปรากฏบนกระโหลกศีรษะ อายุเมื่อตายประมาณ ๓๐ – ๓๕ ปี วิเคราะห์จากขนาดของโครงกระดูก เช่น หัวกระดูกไหปราร้าเชื่อมต่อแล้ว วัดความยาวของโครงกระดูก ๑๔๙ เซนติเมตร หันศีรษะไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ สภาพของโครงกระดูกอยู่ในท่านอนหงาย กระดูกแต่ละชิ้นวางอยู่ในส่วนที่ถูกต้องตามหลักกายวิภาค ส่วนศีรษะฝังยกสูงกว่าส่วนลำตัวเล็กน้อย แขนท่อนบน วางแนบกับลำตัว แขนท่อนล่างขวาวางพาดขึ้นมาวางมือทับกระดูกเชิงกราน แขนท่อนล่างซ้ายวางพาดหน้าท้องมาทับแขนขวา แต่กระดูกส่วนข้อมือสูญหายไปจากการขุดค้น ส่วนเชิงกรานฝังลึกกว่าส่วนอื่นเล็กน้อย ท่อนขาวางตัวตรงค่อนข้างชิดกัน เท้าทั้งสองข้างวางติดกัน ที่กระดูกข้อเท้า(Talus) พบรอยกดทับ (Squatting Facet) ซึ่งเกิดจากการนั่งยองเป็นประจำ
          หลักฐานที่พบร่วม ได้แก่ กำไลสำริดทรงแบน และลูกปัดสีเหลืองปนส้มไส้ในเป็นสีแดงกระจายอยู่ที่ส่วนอก และชิ้นส่วนกระดูกสัตว์ ท่อนยาว(Long Bone) วางทับหน้าแข้งซ้าย
ลักษณะอื่น ๆ ที่ปรากฏบนโครงกระดูก
          การถอนฟันบน ๒ คู่หน้า ได้แก่ ฟันหน้าซี่ที่ ๒ และ ฟันเขี้ยวพบในโครงกระดูกผู้ใหญ่ ที่ยังคงปรากฏหลักฐานให้เห็น ซึ่งสามารถอนุมานได้ว่า เป็นลักษณะทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของแหล่งโบราณคดีแห่งนี้
          Rocker Jaw ขากรรไกรล่างมีความโค้งมน ซึ่งเป็นลักษณะของผู้คนแถบหมู่เกาะ(โพลินิเชี่ยน)
ลักษณะแบบแผนพิธีกรรมการฝังศพแบบปฐมภูมิของแหล่งโบราณคดีโนนหนองจาน
          จากการวิเคราะห์พบว่า การฝังศพที่แหล่งโบราณคดีโนนหนองจานมีทิศทางการหันศีรษะทางทิศตะวันออกเฉียงใต้และทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มีการห่อศพและจัดท่าทางของศพ คือ การนำเอามือทั้งสองข้างวางไว้เหนือลำตัว แล้วมัดและห่อศพเนื่องลักษณะของกระดูกท่อนแขนที่วางแนบไปกับลำตัวและกระดูกส่วนต่าง ๆ วางตัวอย่างเป็นระเบียบและค่อนข้างชิดกัน วัสดุที่ใช้ในการห่อศพนั้นคงเป็นเครื่องจักสานเนื่องจากพบร่องรอยประทับบนกำไลสำริด อุทิศเครื่องมือ เครื่องใช้ และเครื่องประดับให้กับผู้ตาย ที่พบทั้งลักษณะการอุทิศให้และการสวมใส่ในชีวิตประจำวัน และพบการโรยเมล็ดข้าวไว้ด้วย
          จากการศึกษาเปรียบเทียบในเบื้องต้นแหล่งโบราณคดีโนนหนองจาน เป็นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายที่ปรากฏร่องรอยของวัฒนธรรมดองซอน การพบหลักฐานทางโบราณคดีที่เป็นเครื่องประดับสำริด และสิ่งของอื่น แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับแหล่งโบราณคดีโนนหนองหอ และแหล่งโบราณคดีที่อยู่ห่างใกลออกไป คือ แหล่งโบราณคดีบ้านก้านเหลือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี และแหล่งโบราณคดีบ้านดอนแสนพัน ตำบลเจียด อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี
















--------------------------------------------------
เรียบเรียงโดย : นายพงษ์พิศิษฏ์ กรมขันธ์ นักโบราณคดีปฏิบัติการ กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๙ อุบลราชธานี

--------------------------------------------------

(จำนวนผู้เข้าชม 1520 ครั้ง)

Messenger