เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
พระพิมพ์เมืองกำแพงเพชร
คำว่า “พระพิมพ์” หมายถึง รูปเคารพขนาดเล็ก ส่วนใหญ่เป็นพระพุทธรูป หรืออาจเป็นรูปพระโพธิสัตว์ ซึ่งสร้างขึ้นด้วยการนำวัสดุต่างๆ เช่น ดินเหนียวมากดประทับลงบนแม่พิมพ์ หรือถ้าเป็นเนื้อโลหะจะใช้โลหะที่หลอมละลายเทหล่อเข้ากับแบบพิมพ์ พระพิมพ์ในยุคแรก ๆ มักสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกจากการเดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถาน ๔ แห่งในประเทศอินเดีย คือ สถานที่ประสูติ (ลุมพินี) สถานที่ตรัสรู้ (พุทธคยา) สถานที่ปฐมเทศนา (สารนาถ) และสถานที่ปรินิพพาน (กุสินารา) หรือสร้างขึ้นเพื่อเป็นประโยชน์ในทางพระศาสนา เช่น การสืบทอดพระพุทธศาสนา หรือการทำบุญอุทิศให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว
การสร้างพระพิมพ์ในเมืองกำแพงเพชรนั้น สันนิษฐานว่า มีมานับแต่สมัยสุโขทัย (ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๘ – ๑๙) นิยมทำด้วยวัสดุต่าง ๆ เช่น ว่าน (ดินผสมว่าน) ชินเงิน (ตะกั่วผสมดีบุก) ดินเผา ซึ่งพระราชนิพนธ์ เรื่อง เที่ยวเมืองพระร่วง ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ระบุว่า “....เมืองกำแพงเพชรต้องนับว่าเป็นเมืองเคราะห์ร้ายที่มีชื่อเสียงแล้วว่า มีพระพิมพ์ดี มีอภินิหารต่าง ๆ กันศาสตราวุธ ฟันไม่เข้ายิงไม่ออก เป็นต้น ...พระกำแพงก็คงต้องเป็นสิ่งที่มีราคาอยู่ตราบนั้น และสถานที่ต่าง ๆ ที่เป็นที่ควรรักษาไว้เป็นอนุสาวรีย์ของชาติจะยังคงถูกทำลายลงเพราะความโลภของผู้ขุดพระและความหลงของ “คนเก่ง” ที่ต้องการพระนั้น...” จึงเห็นได้ว่าพระพิมพ์เมืองกำแพงเพชรเป็นที่นับถือในพุทธคุณด้านโชคลาภและการป้องกันภยันตรายต่าง ๆ จึงเป็นที่ต้องการของคนทั่วไปนับแต่อดีต
พระพิมพ์จากกรุในเมืองกำแพงเพชรที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักโดยทั่วไป ได้แก่
๑. พระพิมพ์กรุเมืองกำแพงเพชร (ชากังราว) พระพิมพ์ในกลุ่มนี้ ประกอบด้วย พระพิมพ์ที่มีชื่อเรียกตามรูปร่าง (เช่น พระกำแพงเม็ดขนุน พระกำแพงพลูจีบ) หรือจำนวนพระที่แทรกในพระพิมพ์ (เช่น พระกำแพงห้าร้อย) หรือเรียกชื่อตามซุ้มครอบองค์พระ (เช่น พระกำแพงซุ้มกอ) ซึ่งมีที่มาจากกรุโบราณสถานหลายแห่ง ได้แก่ กรุวัดพระแก้ว กรุวัดพระธาตุ กรุวัดพระนอน กรุวัดพระสี่อิริยาบถ กรุวัดอาวาสใหญ่ กรุวัดอาวาสน้อย ฯลฯ
๒. พระพิมพ์กรุนครชุม (กรุทุ่งเศรษฐี) พระพิมพ์ในกลุ่มนี้ ประกอบด้วย พระพิมพ์ที่มีชื่อเรียกตามรูปร่าง (เช่น พระกำแพงเม็ดขนุน พระกำแพงพลูจีบ พระกำแพงกลีบบัว) หรือเรียกตามอิริยาบถ (เช่น พระกำแพงเปิดโลก พระกำแพงลีลา พระกำแพงบิด) นอกจากนี้ยังมีพระกำแพงซุ้มกอ พระนางกำแพง พระยอดขุนพล ฯลฯ พระพิมพ์เหล่านี้มาจากกรุต่าง ๆ ได้แก่ กรุวัดพระบรมธาตุ กรุเจดีย์กลางทุ่ง กรุซุ้มกอ กรุบ้านเศรษฐี ฯลฯ
-------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร
-------------------------------------------------
บรรณานุกรม
- กรมศิลปากร. นำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร. กรุงเทพฯ : รุ่งศิลป์การพิมพ์ (๑๙๗๗), ๒๕๕๗.
- กรมศิลปากร. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร. กรุงเทพฯ : รุ่งศิลป์การพิมพ์ (๑๙๗๗), ๒๕๔๐.
- พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. เที่ยวเมืองพระร่วง. พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, ๒๕๒๖.
(จำนวนผู้เข้าชม 11418 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน