ใบเสมาในภูมิภาคอีสานใต้ ใบเสมาเขาพระอังคาร จังหวัดบุรีรัมย์
เขาพระอังคาร ตั้งอยู่ภายในวัดเขาพระอังคาร ตำบลเจริญสุข อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์
          ในทางธรณีสัณฐานวิทยา เขาพระอังคารเป็นภูเขาไฟ หินบะซอลต์แบบลาวาโดม ดับสนิทแล้วมากว่าเจ็ดแสนปี มีรูปร่างกลมรี วางตัวในแนวเหนือ-ใต้ มีช่องทางการไหลออกของลาวาหลายจุดตามไหล่เขาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีปล่องปะทุอยู่ชัดเจน ตั้งโดดเด่นกลางพื้นที่ราบ ปากปล่องภูเขาไฟเกิดการทรุดถล่มเป็นแนวซ้อนกันหลายชั้น
          ปัจจุบันบนเขาพระอังคารเป็นที่ตั้งของวัดเขาพระอังคาร มีการก่อสร้างพระอุโบสถใหม่ และอาคารสมัยใหม่ต่างๆโดยรอบ พบใบเสมาทั้งสิ้น ๑๕ ชิ้น โดยนำใบเสมาที่พบจากเขาพระอังคารมาปักรอบพระอุโบสถ สันนิษฐานว่าย้ายมาจากที่อื่นที่อยู่ใกล้บริเวณวัดแล้วนำมาปักไว้รอบโบสถ์ บางส่วนนำมาไว้ภายในอาคารพ่อปู่วิริยะเมฆ
          ใบเสมาทั้งหมดสลักขึ้นจากหินบะซอลต์เนื้อละเอียด มีลักษณะเป็นแผ่นหินแบนๆ สมัยวัฒนธรรมทวารวดี (ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๖) ลักษณะเด่นของใบเสมาที่เขาอังคารสลักเป็นภาพบุคคลคนเดียวยืนถือดอกบัวด้วยมือขวา ประทับอยู่ใต้ฉัตร ขนาบด้วยเครื่องสูง ทรงเครื่องแบบกษัตริย์ บางใบสลักบุคคลเป็นภาพยักษ์ บางชิ้นสลักเป็นบุคคลสี่กรถือสิ่งของอยู่ในมือ สันนิษฐานว่าเป็นคัมภีร์ และลูกประคำ ทั้งหมดทรงผ้าแบบเดียวกัน ประทับยืนอยู่บนฐานดอกบัว มีอิทธิพลศิลปะเขมรแบบไพรกเมงผสมอยู่ บางใบมีการสลักลายเป็นภาพธรรมจักร สถูปหม้อน้ำที่ด้านหลังด้วย
          ถึงแม้ว่าใบเสมาปัจจุบันถูกเคลื่อนย้ายออกจากตำแหน่งเดิม จากการสำรวจบริเวณรอบๆไม่ปรากฏร่องรอยสิ่งก่อสร้างหรือโบราณสถานอยู่เลย ปกติแล้วการปักใบเสมาเป็นเพื่อแสดงเขตศักดิ์สิทธิ์ในทางพุทธศาสนา ในกรณีใบเสมาวัดเขาพระอังคารในอดีตอาจปักล้อมรอบพื้นที่ว่างเปล่า โดยใบเสมาปักเพื่อเป็นหลักเขตเครื่องหมายพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในการประกอบพิธีกรรม
          แหล่งใบเสมาที่อยู่บนภูเขาเช่นที่เขาพระอังคาร เป็นแหล่งเดียวในจังหวัดบุรีรัมย์ที่พบในพื้นที่ภูเขาสูง ไม่พบแหล่งชุมชนที่บนเขาอังคารเลยจึงไม่สามารถบอกพื้นที่การใช้งานที่สัมพันธ์กับชุมชนได้ แต่จากลักษณะภาพสลักที่ปรากฏเป็นรูปบุคคลลักษณะเดียวกันทั้งหมด น่าจะเป็นพระโพธิสัตว์ในฝ่ายมหายาน ซึ่งไม่พบลักษณะเช่นนี้ในแหล่งโบราณคดีในสมัยทวารวดีในที่อื่นๆที่แม้จะเป็นภาพสลักบุคคลก็จะเป็นเรื่องราวในพุทธประวัติหรือชาดกในฝ่ายเถรวาทเป็นหลัก การพบในพื้นที่ภูเขาสูงน่าจะเป็นลักษณะของแนวคิดภูเขาศักดิ์สิทธิ์แบบเดียวกับที่ภูพระบาท อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นพุทธแบบเถรวาทก็อาจเป็นได้




















-----------------------------------------------
ข้อมูลโดย นายกิตติพงษ์ สนเล็ก ผู้อำนวยการกลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๑๐ นครราชสีมา

-----------------------------------------------

(จำนวนผู้เข้าชม 3438 ครั้ง)

Messenger