เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
ภาพสลักหน้าบันโบราณสถาน"ปราสาทปรางค์กู่" อำเภอเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ
โบราณสถานปรางค์กู่ เป็นศาสนสถานประจำโรงพยาบาล หรือ อโรคยศาล สร้างขึ้นในรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 โดยภาพสลักหน้าบันที่พบจากปรางค์กู่ มีทั้งสิ้น 2 จุด ได้แก่ 1. หน้าบันเหนือทับหลังปราสาทประธานด้านทิศตะวันออก เเละ 2. หน้าบันเหนือทับหลังบรรณาลัยหรือวิหาร ด้านทิศตะวันตก
หน้าบันเหนือทับหลังปราสาทประธานประตูด้านตะวันออก ประกอบด้วยหินทรายที่วางเรียงเป็นส่วนหน้าบัน สลักภาพพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร 9 กร ประทับยืน มีสาวก 9 องค์ (คน) นั่งพนมมืออยู่ด้านล่าง หน้าบัน สลักภาพพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร 4 กร ประทับยืน สภาพชำรุดแตกหัก คงเหลือสภาพไม่ครบส่วน ท่อนล่างส่วนเท้าและขาขาดหายไป พระหัตถ์ซึ่งสภาพสมบูรณ์นั้นจะมี 4 กร พระหัตถ์ขวาบนถือลูกประคำ พระหัตถ์ขวาล่างถือดอกบัว พระหัตถ์ซ้ายบนถือคัมภีร์ และพระหัตถ์ซ้ายล่างถือ ก้อนดิน (แท่งทรงกระบอก) ปัจจุบันคงเหลือเฉพาะพระหัตถ์ซ้ายบน ด้านขวาและด้านซ้ายของพระโพธิสัตว์ คงเหลือภาพของบุคคลยืนอยู่ด้านละ 1 องค์ (คน) ไม่ชัดเจนว่าเป็นบุคคล พระโพธิสัตว์หรือเทพองค์ใด ด้านล่างของภาพ ใต้แท่นฐานที่พระโพธิสัตว์ประทับยืน มีภาพบุคคลในท่านั่งพนมมือเรียงกัน 9 คน ที่กึ่งกลางภาพเป็นบุคคลนั่งในท่าขัดสมาธิ หันลำตัวตรงออกทางด้านหน้า ส่วนเศียรชำรุดขาดหายไป ด้านวามือและด้านซ้ายมือ มีบุคคลนั่งด้านละ 4 คน ในลักษณะหันเข่าด้านข้างเข้าสู่ด้านใน แต่ส่วนลำตัวและเศียรหันตรงออกด้านหน้า ในภาพรวมน่าจะหมายถึงเหล่าสาวกหรือผู้ที่ให้การนับถือพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร นั่งถวายการเคารพ
ในบรรดาพระโพธิสัตว์องค์สำคัญๆ ของพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ปรากฏว่าพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ มีผู้เคารพเลื่อมใสมากที่สุด พระปฏิมาของพระองค์ พระนามว่าอวโลกิเตศวร หมายความว่า ผู้เป็นใหญ่ในการทัศนาโลก คือ พระองค์ทรงไว้ซึ่งความกรุณาอันไพศาล ไม่มีขอบเขต ทรงคอยสอดส่องดูแลปลดเปลื้องทุกข์ของสรรพสัตว์เสมอ เป็นพระโพธิสัตว์องค์สำคัญของพุทธศาสนามหายานที่มีผู้เคารพศรัทธามากที่สุด พระองค์เป็นตัวแทนของกรุณาบารมีและเป็นผู้ที่คอยช่วยเหลือสัตว์โลกให้พ้นทุกข์และเข้าถึงพระโพธิญาณ ความเสียสละที่ทรงมีต่อสรรพสัตว์ทั้งปวงในจักรวาล นับเป็นการแสดงความรักของพระองค์ที่มีต่อสรรพชีวิตทั้งหลาย จนกล่าวได้ว่าพระองค์คือ “ที่สุดแห่งกรุณาบารมี” การอธิบายคุณลักษณะของพระอวโลกิเตศวร เป็นอุบายโกศลวิธี ชักจูงคนให้เกิดความเลื่อมใสศรัทธามั่นคงในพระโพธิสัตว์ แท้จริงคุณลักษณะของพระอวโลกิเตศวร คือพระปัญญาคุณ พระสันติคุณ และพระกรุณาคุณ ผู้ใดสามารถอัญเชิญพระอวโลกิเตศวรให้เข้ามาประทับอยู่ในดวงจิตได้ ด้วยการหมั่นนึกภาวนารำลึกถึงเสมอ ก็ต้องปรับปรุงกายวาจาใจของตนให้ประกอบด้วยปัญญาคุณ สันติคุณ กรุณาคุณ ดุจองค์พระโพธิสัตว์ เมื่อเป็นดังนี้ ภัยต่างๆ จะบังเกิดแก่ผู้นั้น ย่อมไม่มีทางจะเป็นไปได้ หรือแม้ว่าจะเกิดมีขึ้นก็หาทำให้ผู้นั้นต้องหวั่นไหวเดือดร้อนไม่ เพราะดวงจิตผู้นั้น ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระอวโลกิเตศวรแล้วนั้นเอง ฉะนั้นผู้ที่เคารพบูชาพระโพธิสัตว์องค์นี้ ย่อมสุดแล้วแต่วุฒิปัญญาและฐานะของผู้นั้น จะบูชาพระองค์ในฐานะเป็นพระเจ้า คอยประทานอะไรต่อมิอะไรให้ ตามคำอ้อนวอนขอร้องของเราหรือจะบูชา ด้วยการเข้าถึงแก่นแห่งธรรมะในพระองค์
ทั้งนี้ การสร้างอาโรคยศาล ที่มีเป้าหมายในการสร้างขึ้นเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขของประชาชนในชุมชน ภายใต้คติความเชื่อในพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ซึ่งยอมรับนับถือพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรว่า ทรงเป็น ที่สุดแห่งกรุณาบารมี จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจเลยว่า ส่วนหน้าบันที่ตั้งอยู่ด้านหน้าสุดของปราสาทประธานจึงสลักภาพของพระองค์ไว้
---------------------------------------------------------
ข้อมูลโดย : นายนภสินธุ์ บุญล้อม นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ ๑๐ นครราชสีมา
---------------------------------------------------------
(จำนวนผู้เข้าชม 1855 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน