ติดหราง (ติดคุก)
          การตัดสินคดีความในสมัยโบราณนั้นเจ้าเมืองหรือผู้ว่าราชการเมือง เป็นผู้บังคับบัญชาตัดสินคดีความต่างพระเนตรพระกรรณพระมหากษัตริย์ทั้งสิ้น โดยอาศัยตัวบทกฎหมาย พระราชกำหนด พระไอยการต่างๆที่ตราไว้สำหรับแผ่นดินเป็นหลักในการพิจารณาคดี สำหรับการลงโทษนั้นจะหนักเบาสถานใดก็เป็นไปตามโทษานุโทษแห่งคดีของผู้ร้ายรายนั้นๆ ดังนั้นบ้านเมืองต่างๆจึงต้องจัดให้มีสถานที่กักขังหรือควบคุมตัวนักโทษสำหรับเมืองนั้นๆไว้เป็นการเฉพาะ
          สถานที่ควบคุมตัวนักโทษหรือผู้ร้ายนั้นตามปกตินิยมเรียกกันว่า “คุก” แต่สำหรับในพื้นที่ภาคใต้นั้นมักนิยมเรียกกันว่า “หราง”(ตะรางคุมขังนักโทษ) ผู้ร้ายที่ถูกควบคุมตัวก็เรียกกันว่า “ติดหราง” ทั้งนี้หรางในภาคใต้ในสมัยโบราณจะถูกสร้างขึ้นในบริเวณจวนเจ้าเมือง หรือบ้านของข้าราชการในตำแหน่งสำคัญที่ได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่ตัดสินความ ตามลักษณะของคดีความในสมัยโบราณ ทั้งนี้เจ้าเมืองหรือข้าราชการที่ได้สิทธิในการตั้งหรางคุมขังนักโทษ ก็จะได้สิทธิประโยชน์ในการใช้แรงงานนักโทษตามธรรมเนียมที่กำหนดไว้แต่โบราณ แต่ก็จะต้องรับภาระเลี้ยงดูเจือจานแก่นักโทษทั้งหลายตามสมควรด้วย

หรางเมืองสงขลา(บ่อยาง)
          เมื่อย้ายเมืองสงขลามาตั้งที่ฝั่งบ่อยางอย่างเป็นทางการเมื่อพ.ศ.๒๓๘๕ นั้น ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าได้ตั้ง “หราง” ไว้ ณ ที่ใด แต่ก็สันนิษฐานว่าคงอยู่ภายในบริเวณจวนผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา โดยลักษณะของหรางในสมัยนั้นก็สร้างเป็นอาคารง่ายๆ ไม่มีโรงเลี้ยงแต่อย่างใด ดังปรากฏในรายงานศก ๑๑๖ (พ.ศ.๒๔๔๐) ของพระยาสุขุมนัยวินิต ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช ตอนหนึ่งว่า
           “...การเลี้ยงนักโทษเมืองนครศรีธรรมราช กับเมืองพัฒลุงอยู่ในคนหนึ่งวันละ ๔ อัฐ เมืองสงขลาคนหนึ่งวันละ ๕ อัฐ เพราะเมืองสงขลาเข้าสารแลกับเข้าแพงกว่าเมืองนคร แลที่เมืองพัฒลุง แต่การเลี้ยงนักโทษยังไม่เข้าระเบียบดีเพราะเกี่ยวข้องด้วยการปลูกสร้าง โรงเลี้ยงก็ยังไม่มี ได้ทำเปนแต่หลังคาขึ้นพออาไศรยรับประทานเท่านั้น ในศก ๑๑๘ คิดว่าจะขอรับพระราชทานเงินทำคุกหัวเมือง ๒ แห่ง เมืองนครศรีธรรมราชแห่ง ๑ จุคนประมาณ ๔๐๐ คน เมืองสงขลาแห่ง ๑ จุคนประมาณ ๒๐๐ คน...”

ตะรางคุมขังนักโทษเมืองสงขลา
          ตะรางคุมขังนักโทษแห่งนี้สันนิษฐานว่าได้รับงบประมาณจัดสร้างใน ร.ศ.๑๑๘ (พ.ศ.๒๔๓๒) โดยใช้พื้นที่บริเวณตึกดิน (บริเวณโรงพยาบาลเมืองสงขลาในปัจจุบัน) เป็นที่ตั้ง และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรตะรางคุมขังนักโทษแห่งนี้ ในวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๔๔๓ ในพ.ศ.๒๔๔๕ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เสด็จไปทอดพระเนตรตะรางคุมขังนักโทษเมืองสงขลา และทรงบันทึกสภาพตะรางคุมขังนักโทษเมืองสงขลาไว้ว่า
          “......ห้องขังอยู่ข้างเล็กอัดแอเต็มที น่ากลัวอันตราย ได้แนะนำเขาว่าควรทำใหม่ เขาว่าได้คิดไว้แล้ว จะพาไปดูที่ซึ่งคิดกะว่าจะปลูกในวันอื่น โรงงานมีนิดหนึ่งแต่ไม่ได้ทำการอะไร นักโทษใช้ทำการโยธานอกเรือนจำหมด โรงครัวกินเข้าแลออฟฟิศกับสิ่งจำเปนมีพร้อม รักษาสะอาดพอควร...”

ตะรางคุมขังนักโทษแห่งใหม่ : เรือนจำเมืองสงขลา
          สันนิษฐานว่าในช่วงเวลาระหว่างพ.ศ.๒๔๔๕-๒๔๕๒ ได้มีการก่อสร้างตะรางคุมขังนักโทษเมืองสงขลาขึ้นใหม่ในพื้นที่ตอนเหนือของจวนผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา ตะรางแห่งใหม่นี้จึงได้อาศัยกำแพงเมืองสงขลาด้านทิศเหนือส่วนหนึ่งเป็นกำแพงของตะรางใหม่ด้วย ทั้งนี้จากการขุดค้นในบริเวณกำแพงเมืองเมื่อปี ๒๕๕๔ ได้พบแผ่นป้ายชื่อประจำตัวนักโทษจำนวนหนึ่งและพบว่ามีการระบุระยะเวลาการพ้นโทษตั้งแต่ร.ศ.๑๒๘- ๑๓๒ (พ.ศ.๒๔๕๒-๒๔๕๖) ซึ่งหมายความว่าอย่างน้อยในช่วงเวลาดังกล่าวได้มีการย้ายสถานที่คุมขังนักโทษจากบริเวณตึกดินมายังสถานที่แห่งใหม่แล้ว จึงพบว่าในร.ศ.๑๒๘ (พ.ศ.๒๔๕๒) ได้มีผู้พ้นโทษและทิ้งป้ายชื่อดังกล่าวเอาไว้ที่บริเวณนี้ ส่วนตะรางเดิมนั้นก็จะต้องถูกรื้อถอนไปทั้งหมดก่อนพ.ศ.๒๔๖๔ เนื่องจากพื้นที่ในบริเวณดังกล่าวได้ถูกเปลี่ยนการใช้ประโยชน์มาเป็นพื้นที่ก่อสร้างโรงพยาบาลเมืองสงขลา (สงขลาพยาบาล)

จากเรือนจำสงขลา...สู่เรือนจำกลางสงขลา
          ตั้งแต่พ.ศ.๒๔๗๘ จึงปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับเรือนจำเมืองสงขลาบริเวณกำแพงเมืองสงขลามากขึ้น โดยระบุว่าในปีนั้นเรียกชื่อว่า “เรือนจำสงขลา” และในพ.ศ.๒๕๐๐ เปลี่ยนชื่อเป็น “เรือนจำเขตสงขลา” ต่อมาในพ.ศ.๒๕๑๕ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “เรือนจำกลางสงขลา” และในปีเดียวกันนี้กรมราชทัณฑ์ได้ดำเนินการก่อสร้างเรือนจำขึ้นใหม่ที่ บ้านสวนตูล ตำบลเขารูปช้าง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ก่อนที่จะย้ายที่ตั้งเรือนจำกลางสงขลาไปยังบ้านสวนตูลทั้งหมดในวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๗

พะทำมะรง
          “พะทำมะรง” เป็นชื่อตำแหน่งเก่าของข้าราชการกรมราชทัณฑ์ มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี นัยว่ามีฐานะเป็นหัวหน้าผู้ควบคุมนักโทษ ควบคู่กับตำแหน่งพัศดี คือตำแหน่งผู้ควบคุมนักโทษ ปรากฏหลักฐานอยู่ในกฎหมายตราสามดวง และไอยการลักษณะต่าง ๆ ตำแหน่งพะทำมะรงได้ใช้ติดต่อกันมาตลอด จนได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. ๒๔๗๙ จึงได้ถูกยกเลิกไป คำว่า “พะทำมะรง” เป็นคำเก่าในบางครั้งอาจเขียนว่า พะธำมะรงค์ หรือ พะทำมรงค์ ได้เช่นกัน
          รายชื่อพะทำมะรง เมืองสงขลาท่านก่อนๆตั้งแต่อดีตนั้นไม่มีการบันทึกไว้ มีเพียงหลวงวินิจทัณฑกรรม(บึ้ง ติณสูลานนท์) บิดาของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ที่ได้รับการบันทึกไว้ว่าเป็นผู้ดำรงตำแหน่งพะทำมะรงท่านสุดท้ายจนถึง พ.ศ.๒๔๗๙ ซึ่งต่อหลังจากนี้มาได้เปลี่ยนชื่อตำแหน่งนี้เป็น “ผู้บัญชาการเรือนจำสงขลา”

ผู้บัญชาการเรือนจำสงขลา
          เป็นตำแหน่งที่กำหนดขึ้นตามกฎกระทรวงมหาดไทย ออกตามความในมาตรา ๕๘ แห่ง พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. ๒๔๗๙ ลงวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๔๘๐ กำหนดให้ทุกเรือนจำมีผู้บัญชาการเรือนจำควบคุมอยู่ ให้มีอำนาจและหน้าที่รับผิดชอบบังคับบัญชากิจการเรือนจำโดยทั่วไป และมีอำนาจบังคับบัญชาเหนือเจ้าพนักงานตลอดจนผู้ต้องขังทั้งปวงที่สังกัดกิจการเรือนจำนั้น ผู้บัญชาการเรือนจำสงขลาระหว่างพ.ศ.๒๔๘๐-๒๕๐๐ มีทั้งสิ้น ๙ ท่าน ดังนี้
๑.หลวงวินิจทัณฑกรรม ๒๔๘๐ – ๒๔๘๑
๒.ขุนอนุรักษ์ทัณฑกรรม ๒๔๘๑ – ๒๔๘๓
๓.ขุนสฤษดิอักษรศาสตร์ ๒๔๘๓ – ๒๔๘๔
๔.ขุนประเสริฐราชกิจ ๒๔๘๔ – ๒๔๘๕
๕.ร.ต.สุข ลาดประเสริฐราชกิจ ๒๕ มิถุนายน ๒๔๘๕ – ๗ กันยายน ๒๔๘๖
๖.นายชม ญาณหาญ ๘ กันยายน ๒๔๘๖ – ๒๖ มิถุนายน ๒๔๙๔
๗.นายทอง สุดออมสิน ๒๗ มิถุนายน ๒๔๙๔ – ๓๐ มิถุนายน ๒๔๙๕
๘.นายบุญรวม ถนัดบัญชี ๑ กรกฎาคม ๒๔๙๕ – ๓๑ ธันวาคม ๒๔๙๙
๙.นายสะอาด แย้มกลิ่น ๑ มกราคม ๒๕๐๐ – ๑ กรกฎาคม ๒๕๐๐

ผู้บัญชาการเรือนจำเขตสงขลา
          ในพ.ศ.๒๕๐๐ เรือนจำสงขลาเปลี่ยนชื่อเป็น “เรือนจำเขตสงขลา” จึงกำหนดตำแหน่งผู้บัญชาการสูงสุดของเรือนจำไว้ในตำแหน่ง “ ผู้บัญชาการเรือนจำเขตสงขลา” โดยมีผู้ดำรงตำแหน่งนี้จนถึงพ.ศ.๒๕๑๕ รวม ๔ ท่าน คือ ๑.นายสะอาด แย้มกลิ่น ๒ กรกฎาคม ๒๕๐๐ – ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๐๐ ๒.นายเชาว์ เจริญพงศ์ ๑ ธันวาคม ๒๕๐๐ – ๓๑ ธันวาคม ๒๕๐๓ ๓.ร.ท.ปัญจะ มัธยมจันทร์ ๑ มกราคม ๒๕๐๔ – ๓๐ กันยายน ๒๕๐๖ ๔.นายสุพันธ์ สุทัศน์ ณ อยุธยา ๑ ตุลาคม ๒๕๐๖ – ๑ ตุลาคม ๒๕๑๕

ผู้บัญชาการเรือนจำกลางสงขลา
          ในพ.ศ.๒๕๑๕ เรือนจำเขตสงขลาเปลี่ยนชื่อเป็น “เรือนจำกลางสงขลา” จึงกำหนดตำแหน่งผู้บัญชาการสูงสุดของเรือนจำไว้ในตำแหน่ง “ ผู้บัญชาการเรือนจำกลางสงขลา” โดยมีผู้ดำรงตำแหน่งนี้จนถึง ปัจจุบัน รวม ๑๘ ท่าน คือ
๑.นายสุพันธ์ สุทัศน์ ณ อยุธยา ๒ ตุลาคม ๒๕๑๕ – ๓๐ กันยายน ๒๕๑๙
๒.นายจรัญ เดชะปัญญา ๑ ตุลาคม ๒๕๑๙ – ๓๐ กันยายน ๒๕๒๑
๓.นายสมบูรณ์ ศิริลักษณ์ ๑ ตุลาคม ๒๕๒๑ – ๓๐ กันยายน ๒๕๒๕
๔.นายประมวล งามไตรไร ๑ ตุลาคม ๒๕๒๕ – ๑ พฤษภาคม ๒๕๓๕
๕.นายสนิทวงศ์ มณีสว่างวงศ์ ๒ พฤษภาคม ๒๕๓๕ – ๑๘ ตุลาคม ๒๕๓๘
๖.นายรักษ์ ศิกษมัต ๑๙ ตุลาคม ๒๕๓๘ – ๒๒ ตุลาคม ๒๕๔๑
๗.นายขจัดภัย บัวกระจาย ๒๓ ตุลาคม ๒๕๔๑ – ๓๐ กันยายน ๒๕๔๓
๘.นายชลิต ประจงกิจ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๓ – ๑๕ มิถุนายน ๒๕๔๖
๙.นายชุตินันท์ เพ็ชรเจริญ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๔๖ – ๑๒ ตุลาคม ๒๕๔๘
๑๐.นายอภิชาติ ขุนเทพ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๔๘ – ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๙
๑๑.นายณรงค์ ยงณรงค์เดชกุล ๑๒ มีนาคม ๒๕๕๐ – ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๓
๑๒.นายอุดม คุ่ยณรา ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๕๓ – ๓๐ กันยายน ๒๕๕๕
๑๓.นายสุชิน ดำกระเด็น ๘ ตุลาคม ๒๕๕๕ – ๒๐ มีนาคม ๒๕๕๘
๑๔.นายอำนาจ ปรัชญาพันธ์ ๒๓ มีนาคม ๒๕๕๘ – ๘ ตุลาคม ๒๕๕๘
๑๕.พ.ต.ท.วรชัย อารักษ์รัฐ ๘ ตุลาคม ๒๕๕๘ – ๘ กรกฎาคม ๒๕๕๙
๑๖.นายวีรชัย เพชรรัตน์ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๕๙ – ๘ ตุลาคม ๒๕๕๙
๑๗.นายทวีรัตน์ นาคเนียม ๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๙ – ๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๙
๑๘.พ.ต.ท.วรชัย อารักษ์รัฐ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๙ – ๘ ตุลาคม ๒๕๖๐
๑๙.นางนิภา งามไตรไร ๘ ตุลาคม ๒๕๖๐ – ปัจจุบัน

แผนผังเรือนจำสงขลา ๒๔๙๕
          ในช่วงเวลานี้พื้นที่ใช้สอยภายในเรือนจำสงขลาแบ่งออกเป็น ๒ ส่วนคือ แดนนอก เป็นที่ตั้งของสำนักงานพัศดี เรือนพยาบาล ห้องเยี่ยมนักโทษ ห้องขังนักโทษหญิง โรงช่างไม้ โรงย่อยหิน โรงจักสาน ห้องเก็บโซ่ตรวน ห้องตีตรวน โรงตัดผม และสวนดอกไม้ แดนใน เป็นที่ตั้งของห้องขัง ๑-๓ โรงย่อยหิน ศาลาที่พักเจ้าหน้าที่ บ่อน้ำสำหรับนักโทษ และลานซักล้าง

แผนผังเรือนจำสงขลา ๒๕๑๗
          ในช่วงเวลานี้พื้นที่ใช้สอยภายในเรือนจำสงขลายังคงแบ่งออกเป็น ๒ ส่วนแต่มีการปรับเปลี่ยนลักษณะการใช้งานในบางพื้นที่คือ
           แดนนอก มีการเปลี่ยนโรงตัดผมเป็นศาลาที่พักเจ้าหน้าที่ มีการย้ายเรือนพยาบาลสลับกับที่ปลูกต้นไม้ มีการย้ายโรงจักสานจากที่ตั้งอยู่ทางทิศใต้ให้ไปอยู่ทางทิศเหนือ และย้ายโรงช่างไม้จากทิศเหนือให้ไปอยู่ทางทิศใต้ ย้ายโรงเก็บเครื่องมือและโซ่ตรวนไปไว้ชิดกำแพงแดนใน และมีการเพิ่มขึ้นด้วยได้แก่ การเพิ่มพื้นที่สำนักงานฝ่ายควบคุม และโรงโลหะ ขึ้นในพื้นที่ส่วนนี้
          แดนในมีการเพิ่มโรงเรียนในบริเวณชิดกับกับโรงเลี้ยงเดิม มีการเพิ่มบริเวณปลูกผักใกล้กับศาลาที่พักเจ้าหน้าที่ด้านทิศตะวันตก และพื้นที่ลานเอนกประสงค์ในบริเวณใกล้กำแพงฝั่งทิศใต้

ร่องรอยของเรือนจำสงขลา
          เมื่อมีการรื้อถอนเรือนจำกลางสงขลาในพ.ศ.๒๕๑๗ ได้มีการรื้อสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดออกจากพื้นที่ คงเหลือไว้แต่แนวกำแพงฝั่งทิศใต้ ซึ่งเป็นกำแพงก่อด้วยหินลักษณะเดียวกันกับกำแพงเมืองสงขลาไว้แนวหนึ่ง กำแพงหินแนวนี้สันนิษฐานว่าแต่เดิมคงเป็นส่วนหนึ่งของกำแพงสิ่งปลูกสร้างภายในจวนผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา และเมื่อใช้พื้นที่ทางตอนเหนือของจวนเดิมเป็นเรือนจำแล้ว แนวกำแพงนี้ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของแนวกำแพงเรือนจำไปด้วย
          ปัจจุบันแนวกำแพงส่วนที่เหลืออยู่นี้ ปรากฏอยู่เป็นแนวสั้นๆแทรกตัวอยู่หลังอาคารพาณิชย์ภายในตลาดสดสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์สงขลา

ร่องรอยของนักโทษเมืองสงขลา
          การขุดค้นทางโบราณคดีในช่วงพ.ศ.๒๕๕๓-๒๕๕๔ บริเวณกำแพงเมืองสงขลาถนนจะนะ ซึ่งได้ถูกใช้เป็นส่วนหนึ่งของเรือนจำกลางส่วนขลานั้น ได้พบป้ายประจำตัวนักโทษ พบจำนวน ๒๑ ชิ้น ป้ายเหล่านี้ทำด้วยหินชนวน มีลักษณะเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมหรือคล้ายสี่เหลี่ยม บางชิ้นมีการเจาะรูด้านบน ๑ รู แต่ละชิ้นมีขนาดไม่แน่นอน พบมีจารึกเป็นตัวหนังทั้งสองด้าน ด้านละสามบรรทัด โดยด้านหนึ่งจะ มีจารึกเป็นชื่อนักโทษ เลขประจำตัวนักโทษ และข้อหาที่ถูกลงโทษอย่างละบรรทัด ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นวันที่ถูกจองจำ ระยะเวลาที่ถูกจองจำ และวันที่พ้นโทษอย่างละบรรทัดเช่นกัน



---------------------------------------------------------
//เรียบเรียงโดย I นายสารัท ชลอสันติสกุล นักโบราณคดีชำนาญการ I กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๑๑ สงขลา

---------------------------------------------------------

(จำนวนผู้เข้าชม 4476 ครั้ง)

Messenger