เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
โบราณสถานกู่พราหมณ์จำศีล ตำบลนางรำ อำเภอประทาย จังหวัดนครราชสีมา
โบราณสถานกู่พราหมณ์จำศีล มีปราสาทประธาน 3 หลัง เรียงกันตามแนวแกนทิศเหนือ-ใต้ ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน ปราสาททั้ง 3 หลัง มีประตูทางเข้าเฉพาะด้านทิศตะวันออก ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือและทิศตะวันออกเฉียงใต้มีบรรณาลัยตั้งอยู่ ศาสนสถานถูกล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว และคูน้ำเว้นทางเข้าตามแนวแกนทิศด้านทิศตะวันออก-ตะวันตก ใช้วัสดุศิลาแลงและหินทราย ทั้งนี้ ปรากฏภาพสลักทับหลังที่น่าสนใจ ที่ติดกับตัวงปราสาท จำนวน 6 ชิ้น ดังนี้
ชิ้นที่1
ทับหลังปราสาทหลังกลาง สลักภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ประทับนั่งในท่ามหาราช (นั่งชันเข่า) ซึ่งเป็นเทพประจำทิศตะวันออก ประทับยืนอยู่เหนือหน้ากาล ห้อมล้อมด้วยลายพันธุ์พฤกษา ซึ่งเป็นพรรณพฤกษาที่ออกมาจากปากของหน้ากาล
ชิ้นที่ 2
ทับหลังปราสาทหลังทิศเหนือ สลักภาพบุคคลนั่งชันเข่า อยู่ในกรอบซุ้มเรือนแก้ว เหนือหน้ากาลคายท่อนพวงมาลัย ห้อมล้อมด้วยลายพันธุ์พฤกษา ซึ่งเป็นพรรณพฤกษาที่ออกมาจากปากของหน้ากาล
ชิ้นที่ 3
ทับหลังบรรณาลัยด้านทิศใต้ สลักภาพบุคคลไว้เครา ประทับนั่ง ขนาบข้างด้วยสตรี ซ้ายและขวา ห้อมล้อมด้วยลายพันธุ์พฤกษา ซึ่งเป็นพรรณพฤกษาที่ออกมาจากปากของหน้ากาล
ชิ้นที่ 4
ทับหลังบรรณาลัยด้านทิศเหนือ สลักภาพบุคคลนั่งชันเข่า มือขวาถือดาบ อยู่ในซุ้มเรือนแก้ว เหนือหน้ากาล คายท่อนพวงมาลัย ขนาบด้วยสิงห์มือจับท่อนพวงมาลัย สันนิษฐานว่าเป็นเทพผู้ปกปักรักษาศาสนสถานแห่งนี้
ชิ้นที่ 5
ทับหลังฝั่งตะวันออกของโคปุระด้านตะวันตก สลักภาพพระนารายณ์ทรงครุฑ เหนือหน้ากาลคายท่อนพวงมาลัย ห้อมล้อมด้วยลายพันธุ์พฤกษา ซึ่งเป็นพรรณพฤกษาที่ออกมาจากปากของหน้ากาล
ชิ้นที่ 6
ทับหลังฝั่งตะวันออกของโคปุระด้านตะวันตก สลักภาพพระวรุณทรงหงส์ ซึ่งเป็นเทพประจำทิศตะวันตก ยืนอยู่เหนือหน้ากาล ห้อมล้อมด้วยลายพันธุ์พฤกษา ซึ่งเป็นพรรณพฤกษาที่ออกมาจากปากของหน้ากาล
จากรูปแบบศิลปกรรมของภาพสลักทับหลัง มีลักษณะคล้ายกับทับหลังศิลปะเขมร แบบาปวน จึงกำหนดอายุสมัยโบราณสถานกู่พราหมณ์จำศีล มีอายุอยู่ในช่วง ครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 16
หลายคนคงสงสัยว่า ทับหลังแบบบาปวน ดูจากอะไร? ขอให้ทุกคนสังเกต โครงสร้างหลักของทับหลังแบบบาปวน คือ หน้ากาลอยู่กึ่งกลางด้านล่างของทับหลัง เหนือหน้ากาลมีรูปบุคคล ซึ่งอาจมีพาหนะหรือไม่ก็ได้ หน้ากาลคายท่อนพวงมาลัยวกขึ้นแล้วตกลงเป็นกรอบสี่เหลี่ยม ใต้ท่อนพวงมาลัยเป็นใบไม้ม้วน เหนือท่อนพวงมาลัยเป็นใบไม้ตั้ง ทั้งนี้อาจมีรูปแบบอื่นปรากฏ เช่น สลักเป็นภาพเล่าเรื่อง นั่นเอง
ติดกันด้านทิศเหนือ ยังมี ปราสาทนางรำ ซึ่งเป็น โบราณสถานประเภท “อโรยคศาล” หรือศาสนสถานประจำโรงพยาบาล ในรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 ด้วยนะครับ หากมีโอกาส ลองแวะเวียนไปเยี่ยมชมกันดูนะครับ ทั้งนี้ “กู่พราหมณ์จำศีล” และ “ปราสาทนางรำ” เป็นร่องรอยหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าบริเวณเป็นชุมชนโบราณที่มีผู้คนอยู่เป็นจำนวนมาก มาตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 16 โดยมีศาสนสถานขนาดใหญ่ อย่างกู่พราหมณ์จำศีล เป็นศาสนสถานประจำชุมชน และในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 จึงมีดำริให้สร้างโรงพยาบาลในพื้นที่ใกล้เคียงกัน
----------------------------------------------------
ข้อมูลโดย
: นายวรรณพงษ์ ปาะละกะวงษ์ ณ อยุธยา นักโบราณคดีปฏิบัติการ สำนักศิลปากรที่ ๑๐ นครราชสีมา
----------------------------------------------------
เอกสารอ้างอิง
-กรมศิลปากร. ทำเนียบโบราณสถานขอมในประเทศไทย เล่ม 1. กรุงเทพฯ: กองโบราณคดี กรมศิลปากร. 2535
-รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง. ปราสาทขอมในดินแดนไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: มติชน. 2551.
(จำนวนผู้เข้าชม 1911 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน