คืบหน้าอนุรักษ์ซ่อมแซมบานไม้ประดับมุกศิลปะญี่ปุ่น วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม
          นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยความคืบหน้าโครงการอนุรักษ์ซ่อมแซมบานไม้ ประดับมุกศิลปะญี่ปุ่น พระวิหารหลวง วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร ได้ดำเนินการถอดบานไม้แล้ว จำนวน ๒๗ ชิ้น ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการอบกำจัดแมลง โดยมีการประชุมทางไกลร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่น ทุกเดือน
          สืบเนื่องจากประตูและหน้าต่างภายในพระวิหารหลวง วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ประดับ ด้วยบานไม้ประดับมุกศิลปะญี่ปุ่น ซึ่งเป็นงานสั่งทำเฉพาะจากประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๐๘ ปัจจุบันได้เสื่อมสภาพ พื้นผิวรักและเปลือกหอย แตก หลุดร่อน เสียหาย แมลงกัดกินเนื้อไม้ ผิวหน้าชิ้นงานมีความสกปรก หมองคล้ำจากยางรักที่ทาเคลือบไว้เป็นเวลานานจากการซ่อมแซมในอดีต และบางชิ้นงานสูญหายไป วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม กรมศิลปากร โดยสำนักช่างสิบหมู่ และกลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จึงร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์งานประดับมุกศิลปะญี่ปุ่น จากสถาบันวิจัยมรดกทางวัฒนธรรมแห่งชาติ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น (Tokyo National Research Institute for Cultural Properties: TNRICP) ดำเนินโครงการอนุรักษ์ซ่อมแซมบานไม้ประดับมุกศิลปะญี่ปุ่น พระวิหารหลวง วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร โดยใช้พื้นที่ภายในวัดราชประดิษฐ์ เป็นห้องปฏิบัติการอนุรักษ์ ระยะเวลา ๕ ปี เริ่มตั้งแต่ปี ๒๕๖๔ – ๒๕๖๘








          อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า ได้เริ่มดำเนินการถอดบานไม้ตามแผนงานเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยบานไม้ที่ถูกถอดลงในปีนี้ มีทั้งหมด ๒๗ ชิ้น จากประตูหน้า ๑ บาน (๓ ชิ้น) และหน้าต่าง ๔ บาน จากนั้นได้ดำเนินขั้นตอนต่าง ๆ ประกอบด้วย ผนึกพื้นผิวชั่วคราวด้วยกระดาษสาบางและกาวแป้ง เพื่อลดโอกาสเกิดความเสียหายระหว่างการถอดและชิ้นงานที่ยังไม่ถูกถอดลง การกำหนดรหัสชิ้นงานแต่ละชิ้น ด้วยสัญลักษณ์อักษรย่อภาษาอังกฤษและตัวเลขเพื่อใช้สื่อสารให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันกับทางญี่ปุ่น การสแกนค้นหาตำแหน่งน็อตโลหะที่ซ่อนอยู่ภายในชิ้นงาน แล้วถอดน็อตนำชิ้นงานลง บรรจุลงกล่องที่ออกแบบและเลือกใช้วัสดุที่เหมาะสมตามมาตรฐานงานพิพิธภัณฑ์ จากนั้นทำการถ่ายภาพก่อนอนุรักษ์ชิ้นงานแต่ละชิ้น โดยเน้นในบริเวณที่เกิดการชำรุด เสื่อมสภาพ ทั้งด้านหน้าและหลัง แล้วจึงตรวจสอบสภาพอย่างละเอียดทำทะเบียน จัดทำแผนผังการเสื่อมสภาพ เก็บตัวอย่างแมลงที่พบ การทดสอบและดำเนินการอบกำจัดแมลงภายใต้สภาวะไร้ออกซิเจนด้วยก๊าซไนโตรเจนเป็นระยะเวลาประมาณ ๑ เดือน รวมถึงทดสอบตัวทำละลายที่จะใช้ในการอนุรักษ์กับยางรักญี่ปุ่น ขณะนี้ชิ้นงานที่ถูกถอดลงทั้งหมดอยู่ระหว่างขั้นตอนการอบกำจัดแมลง และในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 นี้ ทำให้ผู้เชี่ยวชาญจาก TNRICP ประเทศญี่ปุ่น ไม่สามารถเดินทางมาร่วมดำเนินการอนุรักษ์ตามแผนงานเดิม จึงได้จัดให้มีการประชุมทางไกลเดือนละ ๑ ครั้ง เพื่อให้คำปรึกษาและคำแนะนำในการดำเนินการอนุรักษ์





          โครงการอนุรักษ์ซ่อมแซมบานไม้ประดับมุกศิลปะญี่ปุ่นฯ มีเป้าหมายอนุรักษ์ซ่อมแซมบานไม้ ประดับมุกและแผ่นไม้ประดับรักลายนูน ในส่วนที่ชำรุดและเสื่อมสภาพ จำนวน ๙๔ แผ่น โดยคงรูปแบบลวดลายลักษณะเดิม ส่วนใดที่หลุดล่วงไปแล้วจะไม่เติมให้เต็ม ดำเนินงานส่วนของพื้นให้เป็นพื้นรักสีดำอันเกิดจากยางรักเท่านั้น เพื่ออนุรักษ์ซ่อมแซมบานไม้ประดับมุกศิลปะญี่ปุ่น ให้เกิดความมั่นคง แข็งแรง และรักษางานประดับมุกศิลปะญี่ปุ่นในประเทศไทยให้แก่อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้ต่อไปในอนาคต และให้คณะช่างที่ปฏิบัติงานซ่อมแซมได้เรียนรู้ ฝึกฝน เพิ่มพูนทักษะฝีมือทางด้านงานประดับมุกศิลปะญี่ปุ่น เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อการอนุรักษ์ศิลปวัตถุชิ้นสำคัญในหน่วยงานอื่น ๆ ต่อไป

(จำนวนผู้เข้าชม 1184 ครั้ง)

Messenger