อาสนวิหารอัสสัมชัญ กรุงเทพมหานคร
อาสนวิหารอัสสัมชัญ เป็นศาสนสถานในศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ตั้งอยู่ในซอย โอเรียนเต็ล ถนนเจริญกรุง ๔๐ เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร
ประวัติความเป็นมาของอาสนวิหารอัสสัมชัญ เริ่มจากบาทหลวงยอน บัปติส ปาสกัล (Jean-Baptiste Pascal) ผู้มีเชื้อสายโปรตุเกส ได้รวบรวมเงินจากบรรดาคริสตศาสนิกชนคาทอลิก นำไปมอบให้แก่บาทหลวงเอสปรีต์ ฟลอรังส์ (Esprit-Marie-Joseph Florens) เพื่อสร้างวัดถวายเกียรติแด่พระแม่มารี บาทหลวงฟลอรังส์จึงได้นำเงินส่วนหนึ่งไปซื้อที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณฝั่งตรงข้ามวัดซางตาครู้สเพื่อเตรียมสร้างวัด
ภายหลัง เมื่อบาทหลวงฟลอรังส์ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระสังฆราช และเดินทางไปเยี่ยมคริสตศาสนิกชนที่ปีนัง ได้มีผู้บริจาคเงินเพื่อสมทบทุนสร้างวัดพระแม่มารี ท่านจึงได้ซื้อที่ดินแปลงที่สองแล้วเริ่มดำเนินการก่อสร้างวัดอัสสัมชัญขึ้น โบสถ์หลังแรกสร้างด้วยอิฐ มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบ “วิลันดา” อันเป็นรูปแบบผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมสยามและสถาปัตยกรรมตะวันตก ซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยอยุธยาตอนปลายจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น อาคารหลังนี้สร้างแล้วเสร็จใน พ.ศ. ๒๓๖๔ และทำพิธีเสก ในวันฉลองแม่พระลูกประคำ ใน พ.ศ. ๒๓๖๕
พระสังฆราชฌ็อง บัปติส ปัลเลอกัวซ์ (Jean-Baptiste Pallegoix) บาทหลวงชาวฝรั่งเศสที่เดินทางเข้ามายังประเทศสยามในสมัยรัชกาลที่ ๓ ได้บันทึกถึงโบสถ์หลังนี้ไว้ในหนังสือ “เล่าเรื่องกรุงสยาม” ดังปรากฏความตอนหนึ่งว่า
“มีสำนักคริสตจักร หรือชมรมพวกคริสตังอยู่ห้าแห่งด้วยกันในพระนครหลวง แห่งแรกชื่อชมรมอัสสัมชัญ ซึ่งวิทยาลัยเสมินาร์ตั้งอยู่ที่นั่น ใกล้กับตัวโบสถ์อันงามก่ออิฐถือปูน สร้างมาได้เกือบสี่สิบปีแล้ว ตัวโบสถ์นั้นมีสวนอันกว้างล้อมอยู่โดยรอบ มีบ้านเรือนของพวกคริสตังกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป ห่างจากชายฝั่งแม่น้ำ (Me-nam) ลึกไปประมาณหนึ่งร้อยเมตร จะเห็นทำเนียบอันสูงเด่นของมุขนายกมิซซังซึ่งสิ้นค่าก่อสร้างไปถึงสามพันฟรังก์เศษ ชั้นล่างของอาคารหลังนั้นประกอบด้วยห้องนอนสองห้องกับห้องรับแขกอันกว้างใหญ่”
ต่อมา บาทหลวงเอมีล กอลมเบต์ (Emile Genest Auguste Colombet) ซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดอัสสัมชัญระหว่าง พ.ศ. ๒๔๑๘ - ๒๔๗๖ มีความเห็นว่าโบสถ์หลังเดิมคับแคบ ไม่สามารถรองรับคริสตศาสนิกชนซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น จึงได้หารือกับบาทหลวงปิแอร์ ฌ็อง-หลุยส์ โรมิเออ (Pierre Jean Louis Romieu) เหรัญญิกของคณะมิสซังสยามซึ่งรับผิดชอบโรงพิมพ์อัสสัมชัญอยู่ในขณะนั้น และตกลงว่าจะดำเนินการก่อสร้างอาคารหลังใหม่ทดแทนหลังเดิม โดยจำลองรูปแบบภายนอกอาคารมาจากอาสนวิหารแม่พระแห่งเมืองไซ่ง่อน ประเทศเวียดนาม ส่วนอาคารหลังเดิมได้ถูกรื้อถอนใน พ.ศ ๒๔๔๗
อาสนวิหารหลังใหม่เริ่มวางฐานรากเมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๐ แต่การก่อสร้าง ใช้เวลาหลายปีเนื่องจากอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๑ ทำให้การคมนาคมไม่สะดวก และวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ขาดแคลน อย่างไรก็ดี อาคารหลังใหม่นี้ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จและเริ่มเปิดใช้ในวันที่ ๑๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ แต่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ อาสนวิหารอัสสัมชัญได้รับความเสียหายจากแรงระเบิด จึงต้องซ่อมแซมโดยใช้เหล็กยึดโยงกลางวัด
ภายในอาสนวิหารหลังปัจจุบันตกแต่งด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนัง เขียนโดยโจวานนี สกวานชิ (Giovanni Sguanci) จิตรกรจากเมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี ภาพที่มีความโดดเด่นที่สุดคือ ภาพเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติพระแม่มารีซึ่งอยู่เหนือพระแท่นบูชา ส่วนสิ่งของที่ใช้ประดับตัวอาคาร รวมถึงรูปพระต่างๆ มีทั้งของเก่าที่นำมาจากอาสนวิหารหลังเดิม และของใหม่ที่บาทหลวงกอลมเบต์สั่งมาจากประเทศฝรั่งเศสและประเทศอิตาลี รวมทั้งสิ่งของที่มีผู้บริจาคด้วย
อาสนวิหารอัสสัมชัญเคยได้รับเกียรติเป็นสถานที่ต้อนรับสมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ ๒ เมื่อครั้งเสด็จเยือนประเทศไทยใน พ.ศ. ๒๕๒๗ นอกจากนี้ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส พระสันตะปาปาองค์ปัจจุบันยังได้เสด็จมาประกอบพิธีมิสซาเพื่อเยาวชน ในคราวเสด็จเยือนประเทศไทยเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๒ ด้วย ซึ่งได้มีการเผยแพร่ภาพข่าวพิธีมิสซาดังกล่าวไปทั่วโลก
(ภาพสเก็ตช์) อาสนวิหารอัสสัมชัญหลังเดิม ภาพจากหนังสือ “เล่าเรื่องกรุงสยาม” ของพระสังฆราชฌ็อง บัปติส ปัลเลอกัวซ์
ภาพ อาสนวิหารอัสสัมชัญในปัจจุบัน
------------------------------------------------------------
เรียบเรียงโดย นางสาวพัชรา สุขเกษม นักอักษรศาสตร์ปฏิบัติการ กลุ่มแปลและเรียบเรียง สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์
------------------------------------------------------------
ประวัติความเป็นมาของอาสนวิหารอัสสัมชัญ เริ่มจากบาทหลวงยอน บัปติส ปาสกัล (Jean-Baptiste Pascal) ผู้มีเชื้อสายโปรตุเกส ได้รวบรวมเงินจากบรรดาคริสตศาสนิกชนคาทอลิก นำไปมอบให้แก่บาทหลวงเอสปรีต์ ฟลอรังส์ (Esprit-Marie-Joseph Florens) เพื่อสร้างวัดถวายเกียรติแด่พระแม่มารี บาทหลวงฟลอรังส์จึงได้นำเงินส่วนหนึ่งไปซื้อที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณฝั่งตรงข้ามวัดซางตาครู้สเพื่อเตรียมสร้างวัด
ภายหลัง เมื่อบาทหลวงฟลอรังส์ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระสังฆราช และเดินทางไปเยี่ยมคริสตศาสนิกชนที่ปีนัง ได้มีผู้บริจาคเงินเพื่อสมทบทุนสร้างวัดพระแม่มารี ท่านจึงได้ซื้อที่ดินแปลงที่สองแล้วเริ่มดำเนินการก่อสร้างวัดอัสสัมชัญขึ้น โบสถ์หลังแรกสร้างด้วยอิฐ มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบ “วิลันดา” อันเป็นรูปแบบผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมสยามและสถาปัตยกรรมตะวันตก ซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยอยุธยาตอนปลายจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น อาคารหลังนี้สร้างแล้วเสร็จใน พ.ศ. ๒๓๖๔ และทำพิธีเสก ในวันฉลองแม่พระลูกประคำ ใน พ.ศ. ๒๓๖๕
พระสังฆราชฌ็อง บัปติส ปัลเลอกัวซ์ (Jean-Baptiste Pallegoix) บาทหลวงชาวฝรั่งเศสที่เดินทางเข้ามายังประเทศสยามในสมัยรัชกาลที่ ๓ ได้บันทึกถึงโบสถ์หลังนี้ไว้ในหนังสือ “เล่าเรื่องกรุงสยาม” ดังปรากฏความตอนหนึ่งว่า
“มีสำนักคริสตจักร หรือชมรมพวกคริสตังอยู่ห้าแห่งด้วยกันในพระนครหลวง แห่งแรกชื่อชมรมอัสสัมชัญ ซึ่งวิทยาลัยเสมินาร์ตั้งอยู่ที่นั่น ใกล้กับตัวโบสถ์อันงามก่ออิฐถือปูน สร้างมาได้เกือบสี่สิบปีแล้ว ตัวโบสถ์นั้นมีสวนอันกว้างล้อมอยู่โดยรอบ มีบ้านเรือนของพวกคริสตังกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป ห่างจากชายฝั่งแม่น้ำ (Me-nam) ลึกไปประมาณหนึ่งร้อยเมตร จะเห็นทำเนียบอันสูงเด่นของมุขนายกมิซซังซึ่งสิ้นค่าก่อสร้างไปถึงสามพันฟรังก์เศษ ชั้นล่างของอาคารหลังนั้นประกอบด้วยห้องนอนสองห้องกับห้องรับแขกอันกว้างใหญ่”
ต่อมา บาทหลวงเอมีล กอลมเบต์ (Emile Genest Auguste Colombet) ซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดอัสสัมชัญระหว่าง พ.ศ. ๒๔๑๘ - ๒๔๗๖ มีความเห็นว่าโบสถ์หลังเดิมคับแคบ ไม่สามารถรองรับคริสตศาสนิกชนซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น จึงได้หารือกับบาทหลวงปิแอร์ ฌ็อง-หลุยส์ โรมิเออ (Pierre Jean Louis Romieu) เหรัญญิกของคณะมิสซังสยามซึ่งรับผิดชอบโรงพิมพ์อัสสัมชัญอยู่ในขณะนั้น และตกลงว่าจะดำเนินการก่อสร้างอาคารหลังใหม่ทดแทนหลังเดิม โดยจำลองรูปแบบภายนอกอาคารมาจากอาสนวิหารแม่พระแห่งเมืองไซ่ง่อน ประเทศเวียดนาม ส่วนอาคารหลังเดิมได้ถูกรื้อถอนใน พ.ศ ๒๔๔๗
อาสนวิหารหลังใหม่เริ่มวางฐานรากเมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๐ แต่การก่อสร้าง ใช้เวลาหลายปีเนื่องจากอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๑ ทำให้การคมนาคมไม่สะดวก และวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ขาดแคลน อย่างไรก็ดี อาคารหลังใหม่นี้ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จและเริ่มเปิดใช้ในวันที่ ๑๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ แต่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ อาสนวิหารอัสสัมชัญได้รับความเสียหายจากแรงระเบิด จึงต้องซ่อมแซมโดยใช้เหล็กยึดโยงกลางวัด
ภายในอาสนวิหารหลังปัจจุบันตกแต่งด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนัง เขียนโดยโจวานนี สกวานชิ (Giovanni Sguanci) จิตรกรจากเมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี ภาพที่มีความโดดเด่นที่สุดคือ ภาพเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติพระแม่มารีซึ่งอยู่เหนือพระแท่นบูชา ส่วนสิ่งของที่ใช้ประดับตัวอาคาร รวมถึงรูปพระต่างๆ มีทั้งของเก่าที่นำมาจากอาสนวิหารหลังเดิม และของใหม่ที่บาทหลวงกอลมเบต์สั่งมาจากประเทศฝรั่งเศสและประเทศอิตาลี รวมทั้งสิ่งของที่มีผู้บริจาคด้วย
อาสนวิหารอัสสัมชัญเคยได้รับเกียรติเป็นสถานที่ต้อนรับสมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ ๒ เมื่อครั้งเสด็จเยือนประเทศไทยใน พ.ศ. ๒๕๒๗ นอกจากนี้ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส พระสันตะปาปาองค์ปัจจุบันยังได้เสด็จมาประกอบพิธีมิสซาเพื่อเยาวชน ในคราวเสด็จเยือนประเทศไทยเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๒ ด้วย ซึ่งได้มีการเผยแพร่ภาพข่าวพิธีมิสซาดังกล่าวไปทั่วโลก
(ภาพสเก็ตช์) อาสนวิหารอัสสัมชัญหลังเดิม ภาพจากหนังสือ “เล่าเรื่องกรุงสยาม” ของพระสังฆราชฌ็อง บัปติส ปัลเลอกัวซ์
ภาพ อาสนวิหารอัสสัมชัญในปัจจุบัน
------------------------------------------------------------
เรียบเรียงโดย นางสาวพัชรา สุขเกษม นักอักษรศาสตร์ปฏิบัติการ กลุ่มแปลและเรียบเรียง สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์
------------------------------------------------------------
(จำนวนผู้เข้าชม 1132 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม
-
นโยบายเว็บไซต์ |
มาตรฐาน