ฤกษ์ยาม ลาง นิมิต และ พลายพุทรากระทืบ
          สำหรับฤกษ์ยาม ลาง และนิมิต ถือเป็นความเชื่อและอุบายสร้างขวัญกำลังใจคู่กับมนุษย์มาตั้งแต่อดีต ยามศึกสงครามก็เช่นกัน เอกสารและวรรณกรรมโบราณหลายฉบับที่กล่าวถึงเหตุการณ์ครั้งกระทำสงครามยุทธหัตถีปรากฏข้อความที่สะท้อนถึงการสร้างขวัญและกำลังใจผ่านสัญลักษณ์ที่เชื่อกันว่าเป็นศุภนิมิต ศุภนิมิตหนึ่งที่เป็นที่รู้จักดีของชนรุ่นหลัง ถูกกล่าวขานไว้ใน “ลิลิตตะเลงพ่าย” วรรณคดียุคหลัง ประพันธ์โดยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูบาลบริรักษ์ ดังนี้

๏ พระกรายกรย่างเยื้อง จรลี
ลุยมหาวารี เรี่ยวกว้าง
พอพานพะกุมภีล์ หนึ่งใหญ่ ไสร้นา
โถมปะทะเจ้าช้าง จักเคี้ยวขบองค์
๏ พระทรงแสงดาบแก้ว กับกร
โจมประจักฟันฟอน เฟื่องน้ำ
ต่างฤทธิ์ต่างรบรอบ ราญชีพ กันแฮ
สระท้านทุกถิ่นท่าถ้ำ ท่งท้องชลธี
๏ นฤบดีโถมถีบสู้ ศึกธาร
ฟอนฟาดสุงสุมาร มอดม้วย
สายสินธุ์ซึ่งนองพนานต์ หายเหือด แห้งแฮ
พระเร่งปรีดาด้วย เผด็จเสี้ยนเศิกกษัย

          สมเด็จพระนเรศวรเสด็จเตรียมทัพ ณ ตำบลปากโมก เมื่อบรรทมจึงสุบินว่า เห็นนำ้ไหลบ่าท่วมป่าทางตะวันตก ขณะที่พระองค์ทรงลุยน้ำอันเชี่ยวนั้น จระเข้ตัวใหญ่ก็โถมปะทะจะกัดพระองค์ พระองค์จุงต่อสู้โดยใช้พระแสงดาบฟันจนจระเข้ตาย ทันใดนั้นสายน้ำก็เหือดหายไป โหรจึงทำนายว่าพระองค์จะได้ชัยในการสงคราม โดยในการศึกครั้งนั้นพระองค์ทรงนำทัพและกระทำยุทธหัตถีได้รับชัยชนะ โดยทรงช้างนามว่า เจ้าพระยาไชยานุภาพ
          เจ้าพระยาไชยานุภาพ เป็นช้างที่สมเด็จพระนเรศวรทรงช้างชนะศึกยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา เมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2135 ในพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ระบุเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า "เสด็จทรงช้างต้นพระยาไชยานุภาพ เสด็จออกรบมหาอุปราชาตำบลหนองสาหร่าย... ...ครั้งนั้นมหาอุปราชาขาดคอช้างตายในที่นั้น แลช้างต้นพระยาไชยานุภาพ ซึ่งทรงแลได้ชนด้วยมหาอุปราชาแลมีไชยชำนะนั้น พระราชทานให้ชื่อเจ้าพระยาปราบหงสา..."
          ในคำให้การชาวกรุงเก่า มีการระบุเหตุการณ์ยุทธหัตถีเพิ่มเติมจากพงศาวดารกรุงเก่าฯ ความว่า "ช้างพระนเรศวรถอยหลังไปถึงจอมปลวกแห่ง ๑ ในป่าพุทรายันได้ถนัด ก็เอาเท้าทั้ง ๒ ยันกับจอมปลวกขยับแทงถูกโคนงาช้างพระมหาอุปราช ช้างพระมหาอุปราชเบนท้ายจะหนี พระนเรศวรเห็นได้ทีก็เอาพระแสงง้าวฟันพระมหาอุปราชาขาดสะพายแล่ง สิ้นพระชนม์อยู่กับคอช้าง ที่ช้างพระนเรศวรยันนั้นก็มีนามปรากฎว่าพุทรากะแทก"
          แม้จะมีข้อสันนิษฐานที่ว่า สมเด็จพระนเรศวรโปรดเกล้าฯ ให้ปลูกต้นพุทราในพระราชวังหลวงเพื่อระลึกถึงเหตุการยุทธหัตถี แต่ผลจากการศึกษาอายุต้นพุทราโดยสำนักงานเกษตรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พบว่าต้นพุทราที่เก่าที่สุดในเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา อายุไม่เกิน 140 ปี





--------------------------------------------------------
เรียบเรียงข้อมูลโดย นางสาวชญาดา สุวรัชชุพันธุ์ นายวีระศักดิ์ แสนสะอาด นักโบราณคดีชำนาญการ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา

--------------------------------------------------------

(จำนวนผู้เข้าชม 22716 ครั้ง)