เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
พระพุทธรูปนั่งปางแสดงธรรม มีพระมัสสุ
พระพุทธรูปนั่งปางแสดงธรรม มีพระมัสสุ
สำริด สูง ๒๓ เซนติเมตร
ศิลปะทวารวดี
อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ – ๑๖ (ประมาณ ๑,๐๐๐ – ๑,๑๐๐ ปีมาแล้ว)
พบจากเจดีย์หมายเลข ๑๓ เมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี
จัดแสดง ณ ห้องอู่ทองศรีทวารวดี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
พระพุทธรูปนั่ง ปางแสดงธรรม พระเศียรใหญ่ พระพักตร์ค่อนข้างเหลี่ยม พระขนงต่อกันเป็นรูปปีกกา พระนาสิกใหญ่งุ้ม พระเนตรเหลือบลงต่ำ พระโอษฐ์หนาอมยิ้ม มีพระมัสสุอยู่เหนือขอบพระโอษฐ์ พระกรรณยาวเจาะเป็นช่อง เม็ดพระศกเล็ก พระอุษณีษะทรงกรวย พระรัศมีรูปดอกบัวตูม ครองจีวรห่มเฉียง จีวรเรียบบางแนบพระวรกาย ขอบสบงเป็นแนวที่บั้นพระองค์ มีชายสังฆาฏิอยู่เหนือพระอังสาซ้าย พระหัตถ์ขวายกขึ้นระดับพระอุระ แสดงวิตรรกะมุทรา (ปางแสดงธรรม) พระหัตถ์ซ้ายหงายขึ้นยึดชายจีวรไว้เหนือระดับพระเพลา ประทับนั่งขัดสมาธิราบอย่างหลวมๆ พระบาทซ้ายอยู่บนพระบาทขวา
พระพุทธรูปองค์นี้แสดงถึงสุนทรียภาพและความนิยมแบบพื้นเมืองอันเป็นเอกลักษณ์ของศิลปะทวารวดี ได้แก่ พระขนงที่ต่อกันเป็นรูปปีกกา และการแสดงวิตรรกะมุทรา เริ่มปรากฏอิทธิพลศิลปะเขมรขึ้น เห็นได้จากรูปแบบพระพักตร์สี่เหลี่ยม และพระพุทธรูปมีพระมัสสุเหนือขอบพระโอษฐ์ นอกจากนั้นรูปแบบพระรัศมีและสังฆาฏิที่พาดเหนือพระอังสาซ้ายนั้น เป็นอิทธิพลจากศิลปะอินเดียแบบปาละ ซึ่งมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ – ๑๗ (ประมาณ ๙๐๐ – ๑,๒๐๐ ปีมาแล้ว) ดังนั้นจึงอาจกำหนดอายุพระพุทธรูปองค์นี้ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ – ๑๖ (ประมาณ ๑,๐๐๐ – ๑,๑๐๐ ปีมาแล้ว)
การทำพระมัสสุหรือไรมัสสุ ในประติมากรรมสมัยทวารวดี น่าจะได้รับอิทธิพลโดยตรงจากศิลปะเขมร เนื่องจากการทำพระมัสสุนั้นมักปรากฏในกลุ่มเทวรูป และประติมากรรมภาพบุคคลหรือยักษ์ เริ่มตั้งแต่ศิลปะเขมร สมัยบาแค็ง (ราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๕ หรือประมาณ ๑,๑๐๐ ปีมาแล้ว) เป็นต้นมา ทั้งนี้นักวิชาการบางท่านสันนิษฐานว่า การทำพระมัสสุหรือไรมัสสุในพระพุทธรูป อาจเกิดจากความเคยชินของช่างในการสร้างประติมากรรมที่เป็นเทวรูปก็เป็นได้
----------------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=1501162320081515&id=153378118193282&sfnsn=mo
----------------------------------------------------------
เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร. ศิลปะทวารวดี ต้นกำเนิดพุทธศิลป์ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด, ๒๕๕๒. พนมบุตร จันทรโชติ และคณะ. นำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง และเรื่องราวสุวรรณภูมิ. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), ๒๕๕๐. ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะทวารวดี : วัฒนธรรมทางศาสนายุคแรกเริ่มในดินแดนไทย. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, ๒๕๖๒
(จำนวนผู้เข้าชม 2035 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน