เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
ตึกเดชะปัตตนยานุกูล (ตึกขาว)
ก่อร่างสร้างตึก
ตึกเดชะปัตตนยานุกูลหรือตึกขาวสร้างขึ้นเมื่อพ.ศ. ๒๔๖๕ โดยมหาเสวกโทพระยาเดชานุชิต สยามิศร์ภักดีพิริยะพาหะ (หนา บุนนาค) สมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลปัตตานี และคุณหญิงเดชานุชิต(แหม่ม) ได้ชักชวนบรรดาข้าราชการ พ่อค้า และราษฎร บริจาคเงินรวมเข้ากับเงินบำรุงการศึกษารวมเป็นเงิน ๑๒๕,๐๐๐ บาท เพื่อสร้างอาคารเรียนถาวรหลังแรกของโรงเรียนสตรีปัตตานีที่เริ่มเปิดสอนมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๕๖ //
กำเนิดชื่อ “ตึกเดชะปัตตนยานุกูล”
เมื่อการก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จ มหาอำมาตย์ตรีพระยาเดชานุชิต สมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลปัตตานี มีหนังสือถึงเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เสนาบดีกระทรวงธรรมการ แจ้งการสร้าง ตึก ๒ ชั้นขนาดกว้าง ๑๐ เมตร ยาว ๑๔ เมตร แบ่งเป็นห้องเรียน ๘ ห้อง โดยมีกำหนดเปิดและทำบุญฉลองราวต้นเดือนตุลาคม ๒๔๖๕ ขอให้กระทรวงตั้งนามตึกนี้ด้วย และเสนาบดีให้ใช้ชื่อว่า "เดชะปัตตนยานุกูล" โดยมีที่มาจากคำว่า เดชา + ปัตนะ + อนุกูล แต่ชาวเมืองเรียกอาคารหลังนี้ว่า "ตึกขาว" ตามลักษณะของอาคารซึ่งมีผนังสีขาวทั้งหลัง และในครั้งนั้นได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็น โรงเรียนสตรีปัตตานีเดชะปัตตนยานุกูล
ตึกขาวกับการศึกษา
ตึกเดชะปัตตนยานุกูลได้ใช้เป็นอาคารเรียนของนักเรียนโรงเรียนสตรีปัตตานีเดชะปัตตนยานุกูล ตั้งแต่พ.ศ.๒๔๕๖ – ๒๔๘๖ หลังจากนั้นเมื่อมีการย้ายที่ตั้งของโรงเรียนสตรีปัตตานีเดชะปัตตนยานุกูล ไปยังที่ตั้งในปัจจุบันแล้ว ตึกหลังนี้ได้ใช้เป็นที่ตั้งของหน่วยยุวชนทหาร ที่ทำการศึกษานิเทศก์จังหวัดปัตตานี และสำนักงานสามัญศึกษาจังหวัดปัตตานี ตามลำดับ
การขุดค้นทางโบราณคดี
กรมศิลปากรได้ดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดีที่ตึกขาวในพ.ศ.๒๕๖๐ ผลการขุดค้นพบว่า อาคารหลังนี้ เป็นอาคารแบบตะวันตกก่ออิฐถือปูน ๒ ชั้น ขนาดกว้าง ๑๐.๒๐ เมตร ยาว ๑๔.๗๐ เมตร ระดับพื้นดินใช้งานเดิมตึกขาวอยู่ลึกลงไปในดินอีกราว ๙๐ เซนติเมตร และลึกลงไปเป็นชั้นถมอัดด้วยดินเหนียวและเศษอิฐหักซึ่งเป็นกิจกรรมการถมและบดอัดพื้นที่เมื่อครั้งก่อสร้างตึกขาว
ในพ.ศ.๒๔๖๕ ชั้นดินนี้หนาประมาณ ๔๐ เซนติเมตร ในส่วนของอาคารนั้นบริเวณประตูทางเข้าซึ่งหันไปทางทิศทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีบันไดปูนประกอบชุดพนักบันได ๑ ชุด โดยหน้าบันไดกว้าง ๒.๕๐ เมตรสอบเข้า ช่องประตูกว้าง ๑.๘๕ เมตร มีขั้นบันได ๔ ขั้น ลูกบันไดกว้างขั้นละ ๓๐ เซนติเมตร เป็นทางขึ้นอาคาร นอกจากนี้ยังพบการเจาะช่องระบายอากาศบนผนังส่วนล่างรอบอาคารจำนวนทั้งสิ้น ๑๗ ช่อง ประกอบด้วยช่องด้านหน้าและด้านข้างฝั่งละ ๔ ช่อง ส่วนด้านหลังพบจำนวน ๕ ช่อง โดยสันนิษฐานว่าอาจจะมีอีก ๑ ช่องแต่ถูกปิดไปโดยบันไดที่สร้างขึ้นภายหลังแล้ว ทั้งนี้ตำแหน่งช่องระบายอากาศเหล่านี้จะอยู่ตรงกับช่องหน้าต่างทุกช่อง
นอกจากนี้ยังพบร่องรอยการตอกเสาเข็มไม้ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑๐ เซนติเมตร แล้ววางอิฐเป็นฐานรากอาคาร ก่อขึ้นไปเป็นผนังก่อนที่จะวางโครงสร้างไม้ที่สานเป็นพื้น เสา และโครงสร้างหลังคาด้านบน การบูรณะตึกขาว
เมื่อสำนักงานสามัญศึกษาจังหวัดปัตตานี ย้ายไปยังที่ตั้งใหม่ ตึกขาวไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาใช้พื้นที่อีก ทำให้ตึกขาวอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม ทั้งนี้ในปีงบประมาณ ๒๕๖๐ กรมศิลปากรได้รับอนุมัติงบประมาณ เพื่อดำเนินการบูรณะตึกขาว การดำเนินการแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม ๒๕๖๐ ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน
กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานตึกขาวในราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๑๑๖ ตอนพิเศษ ๗ง หน้า ๔ วันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๔๒ พื้นที่โบราณสถานประมาณ ๒ งาน ๖.๖๗ ตารางวา เรียบเรียงโดย I นายสารัท ชลอสันติสกุล นักโบราณคดีชำนาญการ I กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๑๑ สงขลา
-----------------------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : สำนักศิลปากรที่ ๑๑ สงขลา https://www.facebook.com/fad11songkhla/posts/1356970881307738?notif_id=1611194509007805¬if_t=page_post_reaction&ref=notif
(จำนวนผู้เข้าชม 2246 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน