ตักบาตรข้าวสาร
การทำบุญตักบาตรข้าวสารไม่ปรากฏหลักฐานว่าแท้จริงเริ่มขึ้นเมื่อใด ในหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง การพระราชกุศลตักบาตรน้ำผึ้ง อันเป็นพระราชพิธีที่จัดขึ้นในเดือนสิบ ทรงอธิบายถึงที่มาของการพระราชกุศลตักบาตรน้ำผึ้งว่า น่าจะรับมาจากอินเดีย และเพิ่งจัดการพระราชพิธีในสมัยรัชกาลที่ ๔ เบื้องต้นได้ทรงตั้งปุจฉาข้องกังขาเหตุผลที่มาของประเพณีว่า
“...ข้าพเจ้าเห็นว่าควรจะนำมูลเหตุตามทางที่เทศนานั้นมากล่าวในที่นี้ พอจะได้รู้เรื่องตลอดว่าเหตุการณ์อย่างไรจึงได้เกิดตักบาตรน้ำผึ้งขึ้น และน้ำผึ้งซึ่งดูก็ไม่เป็นประโยชน์อันใดนัก สู้ข้าวสารไม่ได้ ทำไมจึงได้ต้องถึงตักบาตรตักพกดูก็น่าจะถามอยู่ แต่เรื่องที่ข้าพเจ้าจะเล่านั้น จะไม่เดินเนื้อความแต่ตามที่เทศนาอย่างเดียว จะขอแสดงความเห็น และตามที่ตัวทราบเพิ่มเติมปนลงบ้างตามสมควรแก่ข้อความ...”
จากนั้นทรงอธิบายว่า ในฤดูสารทสมัยพุทธกาล พระสงฆ์เกิดอาการเจ็บป่วยอาพาธกันมาก ด้วยอาการไข้ที่เรียกว่า “สรทิกาพาธ” คือ อาการป่วยในฤดูสารท มีอาการฉันอาหารไม่ได้และอาเจียน อ่อนเพลีย พระพุทธองค์จึงทรงมีพุทธานุญาต ให้พระสงฆ์ฉันอาหารซึ่งไม่ใช่อาหารหยาบ ๕ สิ่งที่จัดว่าเป็น ทั้งอาหารและเป็นเภสัช ได้แก่ “คือ เนยใสอย่างหนึ่ง เนยข้นอย่างหนึ่ง น้ำมันอย่างหนึ่ง น้ำผึ้งอย่างหนึ่ง น้ำอ้อยอย่างหนึ่ง” แม้ว่าจะเป็นเวลาในช่วงหลังเที่ยงจนถึงรุ่งสว่างของอีกวันก็ตาม จึงทำให้เกิดความนิยม มีผู้นำมาถวายเป็นจำนวนมาก จนเกิดข้อติเตียนหลายประการ เช่น ติเตียนในการสะสมอาหาร จึงทรงกำหนดให้คิลานะเภสัชทั้ง ๕ สิ่งนี้เป็น “สัตตาหกาลิก” คือ กำหนดให้เก็บไว้ได้เพียง ๗ วันนับแต่วันรับ หากเกินกว่านั้นถือว่าเป็นนิสสัคคีย์ “ของเดน ของบูด” ภิกษุที่ยังครองไว้ถือว่าต้องอาบัติปาจิตตีย์
จากนั้นทรงอธิบายเพิ่มเติมว่าอาหารที่เป็นยาทั้ง ๕ สิ่งที่กล่าวนี้ สำหรับในประเทศไทยแล้ว เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำอ้อย ทางการแพทย์ได้ระบุว่าแสลงโรคทั้งสิ้น “คงใช้ได้บ้างแต่น้ำผึ้ง” แต่ไม่สู้จะใช้ประโยชน์ทางยา คงเอามากวนเป็นตังเมเท่านั้น ไม่รู้สึกว่าเป็นยาอันใดเลย สู้น้ำข้าวต้มซึ่งน่าจะเป็นยาที่เหมาะสำหรับคนไทยพระภิกษุไทยมากกว่าไม่ได้ และหากพระพุทธองค์ยังทรงดำรงพระชนม์ชีพอยู่ และทรงทราบ น่าจะทรงอนุญาตให้ถวายน้ำข้าวต้มได้ ทั้งนี้ ในพระราชนิพนธ์เรื่องดังกล่าว มิได้ทรงกล่าวถึงการถวายอาหารเป็นยาของคนไทย และการถวายข้าวสารแต่อย่างใด
เมื่อพิจารณาต่อมาเรื่อง การบิณฑบาตจากพระวินัยซึ่งมีข้อกำหนดที่เกี่ยวเนื่อง ๒ ประการ ได้แก่ ๑. พระสงฆ์ไม่ควรเก็บอาหารไว้ข้ามวัน และ ๒. ห้ามไม่ให้พระสงฆ์ทำอาหาร สำหรับอาหารที่ถวายทำบุญตักบาตร จึงมักเป็นอาหารปรุงสำเร็จพร้อมฉัน และหากฉันไม่หมดภายในเพลวันนั้น ต้องบริจาคเป็นทานต่อไป จะนำกลับมาถวายมื้อต่อต่อไปหรือในวันรุ่งขึ้นอีกไม่ได้ ถือว่าเป็นของเดน ของบูด ส่วนในข้อที่ ไม่อนุญาตให้พระสงฆ์ทำครัวหุงหาอาหารนั้น เนื่องจากบางครั้งวัตถุดิบในการทำอาหาร อาจมีเมล็ดพืช หรือพืชซึ่งที่ยังมีรากติดกับดิน อาจจะยังงอกงามเป็นต้นพืชเป็นชีวิตได้ การทำอาหารจึงอาจทำให้เกิดอาบัติปาจิตตีย์เพราะพรากของสีเขียว คือฆ่าชีวิตของต้นพืช โดยข้อห้ามอันนี้จึงทำให้แต่เดิมหากจะถวายภัตตาหารเป็นพืชหรือผลไม้ที่มีเมล็ดที่อาจให้กำเนิดชีวิตต่อไปได้ จึงต้องเอาเมล็ดออกเสียก่อน รวมทั้งจะไม่ถวายวัตถุดิบในการประกอบอาหารจำพวก ข้าวสาร อาหารแห้ง เนื้อสัตว์ ไข่ ตลอดจนเครื่องปรุงรสต่าง ๆ ด้วย
พระวินัยซึ่งบัญญัติขึ้นนี้ เพื่อให้พระภิกษุละกิเลส ไม่เป็นผู้สะสมอาหาร และสิ่งอื่นใดนอกจากอัฏฐบริขาร ดังนั้นหากมีญาติโยมบริจาคข้าวสารอาหารแห้ง ซึ่งอาจบรรจุไว้ในถังสังฆทาน พระท่านมักให้ลูกศิษย์ญาติโยมสำรวจ และนำข้าวสารอาหารแห้งดังกล่าว ออกจากเครื่องสังฆทานเสียก่อนที่จะถวาย และนำไปมอบให้แก่ญาติโยมที่ดูแลโรงครัว หรือจัดเตรียมสำหรับทำทานต่อไป เพื่อที่มิให้ของเหล่านั้นกลายเป็น “ของเดน ของบูด” มิอาจนำมาถวายเป็นจังหันได้อีกดังกล่าวมาข้างต้น
ทว่า ด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป แม้ว่าจะมีข้อกำหนดดังกล่าว ประเพณีการทำบุญตักบาตรข้าวสารนั้นกลับเป็นที่นิยมของพุทธศาสนิกชนและปฏิบัติตามกันมา เพราะญาติโยมเห็นว่า “ข้าวสาร”เป็นของที่เก็บรักษาไว้ได้นาน และยังเป็นผลดีต่อวัดที่มีพระภิกษุสงฆ์ สามเณรที่จำพรรษาอยู่ในวัดเป็นจำนวนมาก หรือวัดที่มิได้มีพุทธศาสนิกชนมาทำบุญกันเป็นประจำจะได้เป็นคลังอาหารของวัด รวมทั้งพระสงฆ์จะได้บริจาคทานแก่ชาวบ้านต่อไปตามควร เดิมจัดทำบุญตักบาตรข้าวสารในวันพระใหญ่เช่น เทศกาลออกพรรษา ที่เรียกว่าประเพณีตักบาตรเทโวโรหณะ แต่เมื่อพุทธศาสนิกชนเห็นพ้องต้องกันว่าการทำบุญตักบาตรข้าวสารส่งผลดีเช่นนี้ จึงนิยมทำกันอย่างแพร่หลายมิได้จำกัดช่วงเวลา แต่บางท้องถิ่นนิยมทำในช่วงพรรษาระหว่างเดือน ๑๐ ถึงเดือน ๑๒ หรืออาจจัดทำในพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น การติดกัณฑ์เทศน์ เป็นต้น ในระหว่างพรรษาพุทธศาสนิกชนนิยมทำบุญตักบาตรข้าวสาร การประกอบพิธีกรรมมีลักษณะทั่วไปคล้ายกันโดยการกำหนดวัน เวลาขึ้นอยู่กับความสะดวก มรรคนายกแจกฎีกาให้พุทธศาสนิกชนที่มาทำบุญทราบทั่วกันเมื่อถึงเวลาให้นำข้าวสาร อาหารแห้งไปวางไว้รวมกันยังสถานที่ที่กำหนดไว้ จากนั้นพระภิกษุสงฆ์ สามเณร มาประชุมพร้อมกัน มรรคนายกนำอาราธนาศีล มีการรับศีลรับพร จากนั้นอาราธนาธรรม เจ้าอาวาสหรือผู้แทน อนุโมทนาทาน มรรคนายกกล่าวนำคำถวายข้าวสาร พุทธศาสนิกชนกล่าวตาม เมื่อกล่าวคำถวายข้าวสารจบ พระภิกษุสงฆ์ สามเณรอนุโมทนาเป็นอันเสร็จพิธี ประเพณีไทยทั้งหลายในปัจจุบันพบว่ามีการแก้ไข ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่างไปบ้าง เพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับยุคสมัยอยู่เสมอ แต่ยังคงรักษาและคำนึงถึงแก่นสำคัญของประเพณีนั้นไว้ ซึ่งการทำบุญตักบาตรข้าวสารเป็นตัวอย่างสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมประเพณีให้เหมาะสมแก่ยุคสมัย
การทำบุญตักบาตรข้าวสาร
------------------------------------------------------------
ค้นคว้าเรียบเรียง : กมลพรรณ บุญสุทธิ์ นักอักษรศาสตร์ กลุ่มจารีตประเพณี สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์
“...ข้าพเจ้าเห็นว่าควรจะนำมูลเหตุตามทางที่เทศนานั้นมากล่าวในที่นี้ พอจะได้รู้เรื่องตลอดว่าเหตุการณ์อย่างไรจึงได้เกิดตักบาตรน้ำผึ้งขึ้น และน้ำผึ้งซึ่งดูก็ไม่เป็นประโยชน์อันใดนัก สู้ข้าวสารไม่ได้ ทำไมจึงได้ต้องถึงตักบาตรตักพกดูก็น่าจะถามอยู่ แต่เรื่องที่ข้าพเจ้าจะเล่านั้น จะไม่เดินเนื้อความแต่ตามที่เทศนาอย่างเดียว จะขอแสดงความเห็น และตามที่ตัวทราบเพิ่มเติมปนลงบ้างตามสมควรแก่ข้อความ...”
จากนั้นทรงอธิบายว่า ในฤดูสารทสมัยพุทธกาล พระสงฆ์เกิดอาการเจ็บป่วยอาพาธกันมาก ด้วยอาการไข้ที่เรียกว่า “สรทิกาพาธ” คือ อาการป่วยในฤดูสารท มีอาการฉันอาหารไม่ได้และอาเจียน อ่อนเพลีย พระพุทธองค์จึงทรงมีพุทธานุญาต ให้พระสงฆ์ฉันอาหารซึ่งไม่ใช่อาหารหยาบ ๕ สิ่งที่จัดว่าเป็น ทั้งอาหารและเป็นเภสัช ได้แก่ “คือ เนยใสอย่างหนึ่ง เนยข้นอย่างหนึ่ง น้ำมันอย่างหนึ่ง น้ำผึ้งอย่างหนึ่ง น้ำอ้อยอย่างหนึ่ง” แม้ว่าจะเป็นเวลาในช่วงหลังเที่ยงจนถึงรุ่งสว่างของอีกวันก็ตาม จึงทำให้เกิดความนิยม มีผู้นำมาถวายเป็นจำนวนมาก จนเกิดข้อติเตียนหลายประการ เช่น ติเตียนในการสะสมอาหาร จึงทรงกำหนดให้คิลานะเภสัชทั้ง ๕ สิ่งนี้เป็น “สัตตาหกาลิก” คือ กำหนดให้เก็บไว้ได้เพียง ๗ วันนับแต่วันรับ หากเกินกว่านั้นถือว่าเป็นนิสสัคคีย์ “ของเดน ของบูด” ภิกษุที่ยังครองไว้ถือว่าต้องอาบัติปาจิตตีย์
จากนั้นทรงอธิบายเพิ่มเติมว่าอาหารที่เป็นยาทั้ง ๕ สิ่งที่กล่าวนี้ สำหรับในประเทศไทยแล้ว เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำอ้อย ทางการแพทย์ได้ระบุว่าแสลงโรคทั้งสิ้น “คงใช้ได้บ้างแต่น้ำผึ้ง” แต่ไม่สู้จะใช้ประโยชน์ทางยา คงเอามากวนเป็นตังเมเท่านั้น ไม่รู้สึกว่าเป็นยาอันใดเลย สู้น้ำข้าวต้มซึ่งน่าจะเป็นยาที่เหมาะสำหรับคนไทยพระภิกษุไทยมากกว่าไม่ได้ และหากพระพุทธองค์ยังทรงดำรงพระชนม์ชีพอยู่ และทรงทราบ น่าจะทรงอนุญาตให้ถวายน้ำข้าวต้มได้ ทั้งนี้ ในพระราชนิพนธ์เรื่องดังกล่าว มิได้ทรงกล่าวถึงการถวายอาหารเป็นยาของคนไทย และการถวายข้าวสารแต่อย่างใด
เมื่อพิจารณาต่อมาเรื่อง การบิณฑบาตจากพระวินัยซึ่งมีข้อกำหนดที่เกี่ยวเนื่อง ๒ ประการ ได้แก่ ๑. พระสงฆ์ไม่ควรเก็บอาหารไว้ข้ามวัน และ ๒. ห้ามไม่ให้พระสงฆ์ทำอาหาร สำหรับอาหารที่ถวายทำบุญตักบาตร จึงมักเป็นอาหารปรุงสำเร็จพร้อมฉัน และหากฉันไม่หมดภายในเพลวันนั้น ต้องบริจาคเป็นทานต่อไป จะนำกลับมาถวายมื้อต่อต่อไปหรือในวันรุ่งขึ้นอีกไม่ได้ ถือว่าเป็นของเดน ของบูด ส่วนในข้อที่ ไม่อนุญาตให้พระสงฆ์ทำครัวหุงหาอาหารนั้น เนื่องจากบางครั้งวัตถุดิบในการทำอาหาร อาจมีเมล็ดพืช หรือพืชซึ่งที่ยังมีรากติดกับดิน อาจจะยังงอกงามเป็นต้นพืชเป็นชีวิตได้ การทำอาหารจึงอาจทำให้เกิดอาบัติปาจิตตีย์เพราะพรากของสีเขียว คือฆ่าชีวิตของต้นพืช โดยข้อห้ามอันนี้จึงทำให้แต่เดิมหากจะถวายภัตตาหารเป็นพืชหรือผลไม้ที่มีเมล็ดที่อาจให้กำเนิดชีวิตต่อไปได้ จึงต้องเอาเมล็ดออกเสียก่อน รวมทั้งจะไม่ถวายวัตถุดิบในการประกอบอาหารจำพวก ข้าวสาร อาหารแห้ง เนื้อสัตว์ ไข่ ตลอดจนเครื่องปรุงรสต่าง ๆ ด้วย
พระวินัยซึ่งบัญญัติขึ้นนี้ เพื่อให้พระภิกษุละกิเลส ไม่เป็นผู้สะสมอาหาร และสิ่งอื่นใดนอกจากอัฏฐบริขาร ดังนั้นหากมีญาติโยมบริจาคข้าวสารอาหารแห้ง ซึ่งอาจบรรจุไว้ในถังสังฆทาน พระท่านมักให้ลูกศิษย์ญาติโยมสำรวจ และนำข้าวสารอาหารแห้งดังกล่าว ออกจากเครื่องสังฆทานเสียก่อนที่จะถวาย และนำไปมอบให้แก่ญาติโยมที่ดูแลโรงครัว หรือจัดเตรียมสำหรับทำทานต่อไป เพื่อที่มิให้ของเหล่านั้นกลายเป็น “ของเดน ของบูด” มิอาจนำมาถวายเป็นจังหันได้อีกดังกล่าวมาข้างต้น
ทว่า ด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป แม้ว่าจะมีข้อกำหนดดังกล่าว ประเพณีการทำบุญตักบาตรข้าวสารนั้นกลับเป็นที่นิยมของพุทธศาสนิกชนและปฏิบัติตามกันมา เพราะญาติโยมเห็นว่า “ข้าวสาร”เป็นของที่เก็บรักษาไว้ได้นาน และยังเป็นผลดีต่อวัดที่มีพระภิกษุสงฆ์ สามเณรที่จำพรรษาอยู่ในวัดเป็นจำนวนมาก หรือวัดที่มิได้มีพุทธศาสนิกชนมาทำบุญกันเป็นประจำจะได้เป็นคลังอาหารของวัด รวมทั้งพระสงฆ์จะได้บริจาคทานแก่ชาวบ้านต่อไปตามควร เดิมจัดทำบุญตักบาตรข้าวสารในวันพระใหญ่เช่น เทศกาลออกพรรษา ที่เรียกว่าประเพณีตักบาตรเทโวโรหณะ แต่เมื่อพุทธศาสนิกชนเห็นพ้องต้องกันว่าการทำบุญตักบาตรข้าวสารส่งผลดีเช่นนี้ จึงนิยมทำกันอย่างแพร่หลายมิได้จำกัดช่วงเวลา แต่บางท้องถิ่นนิยมทำในช่วงพรรษาระหว่างเดือน ๑๐ ถึงเดือน ๑๒ หรืออาจจัดทำในพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น การติดกัณฑ์เทศน์ เป็นต้น ในระหว่างพรรษาพุทธศาสนิกชนนิยมทำบุญตักบาตรข้าวสาร การประกอบพิธีกรรมมีลักษณะทั่วไปคล้ายกันโดยการกำหนดวัน เวลาขึ้นอยู่กับความสะดวก มรรคนายกแจกฎีกาให้พุทธศาสนิกชนที่มาทำบุญทราบทั่วกันเมื่อถึงเวลาให้นำข้าวสาร อาหารแห้งไปวางไว้รวมกันยังสถานที่ที่กำหนดไว้ จากนั้นพระภิกษุสงฆ์ สามเณร มาประชุมพร้อมกัน มรรคนายกนำอาราธนาศีล มีการรับศีลรับพร จากนั้นอาราธนาธรรม เจ้าอาวาสหรือผู้แทน อนุโมทนาทาน มรรคนายกกล่าวนำคำถวายข้าวสาร พุทธศาสนิกชนกล่าวตาม เมื่อกล่าวคำถวายข้าวสารจบ พระภิกษุสงฆ์ สามเณรอนุโมทนาเป็นอันเสร็จพิธี ประเพณีไทยทั้งหลายในปัจจุบันพบว่ามีการแก้ไข ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่างไปบ้าง เพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับยุคสมัยอยู่เสมอ แต่ยังคงรักษาและคำนึงถึงแก่นสำคัญของประเพณีนั้นไว้ ซึ่งการทำบุญตักบาตรข้าวสารเป็นตัวอย่างสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมประเพณีให้เหมาะสมแก่ยุคสมัย
การทำบุญตักบาตรข้าวสาร
------------------------------------------------------------
ค้นคว้าเรียบเรียง : กมลพรรณ บุญสุทธิ์ นักอักษรศาสตร์ กลุ่มจารีตประเพณี สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์
(จำนวนผู้เข้าชม 8678 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม
-
นโยบายเว็บไซต์ |
มาตรฐาน