ต้นโพธิ์กับความเชื่อทางพระพุทธศาสนาสมัยทวารวดี
          ต้นโพธิ์เป็นต้นไม้ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในพระพุทธศาสนา เพราะเป็นต้นไม้ที่พระพุทธองค์ประทับและตรัสรู้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ ด้วยสาเหตุนี้ต้นโพธิ์จึงเป็นที่เคารพนับถือของพุทธศาสนิกชนมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล
          ในทางพุทธศาสนา คำว่า “ต้นโพธิ์” มิได้หมายถึงชื่อพันธุ์ไม้ทั่วไป แต่เป็นชื่อเรียกเฉพาะต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าประทับใต้ร่มเงาขณะตรัสรู้ คำว่า “โพธิ” หมายถึงการตรัสรู้ ดังนั้น พระอดีตพุทธเจ้า พระสมณโคดม (พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน) และพระอนาคตพุทธเจ้า ต่างทรงตรัสรู้ใต้ต้นโพธิ์ทั้งสิ้น แต่เป็นต้นโพธิ์ที่ต่างสายพันธุ์กันออกไป เช่น พระศรีอาริยเมตไตรย พระอนาคตพุทธเจ้า จะตรัสรู้ใต้ต้นกากะทิง พระสมณโคดมหรือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสรู้ใต้ต้นอัสสัตถพฤกษ์ หรือโพใบ ซึ่งเป็นไม้ในสกุล Ficus religiosa L. วงศ์ MORACEAE มีใบคล้ายรูปหัวใจ ดังนั้นพันธุ์ไม้ชนิดนี้ปัจจุบันจึงนิยมเรียกกันว่า “ต้นโพธิ์”

          ทั้งนี้ความเชื่อเรื่องการบูชาต้นโพธิ์ในประเทศไทย น่าจะเข้ามาพร้อมกับการนับถือพระพุทธศาสนา สันนิษฐานว่าในสมัยทวารวดีคงมีการนับถือ และเคารพบูชาต้นโพธิ์ด้วยเช่นกัน โดยปรากฏหลักฐาน ได้แก่ ชิ้นส่วนประติมากรรมดินเผารูปต้นโพธิ์ ตั้งอยู่บนฐานบัวคว่ำบัวหงาย พบจากเมืองโบราณอู่ทอง และชิ้นส่วนประติมากรรมรูปต้นโพธิ์ดินเผา พบจากเจดีย์หมายเลข ๑๑ เมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี แต่น่าเสียดายที่ไม่พบหลักฐานว่าประติมากรรมรูปต้นโพธิ์ที่พบจากเมืองโบราณอู่ทองนั้น เคยประกอบร่วมกับชุดสิ่งสักการบูชาอื่นหรือไม่ ทั้งนี้ต้นโพธิ์ดินเผานี้อาจสร้างขึ้นเพื่อประกอบรูปเคารพ เช่น พระพุทธรูป หรือภาพเล่าเรื่องพุทธประวัติ ก็เป็นได้ อนึ่งการทำต้นโพธิ์เป็นรูปเคารพ มีมาแล้วตั้งแต่สมัยอินเดียโบราณ ก่อนการทำพระพุทธรูป โดยสัญลักษณ์รูปต้นโพธิ์หมายถึงการตรัสรู้ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

------------------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี
------------------------------------------------------------

เอกสารอ้างอิง
รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง. การนับถือบูชาต้นไม้ใหญ่และต้นโพธิ์ในสมัยทวารวดี, ดำรงวิชาการ : รวมบทความทางวิชาการคณะโบราณคดีปี ๒๕๔๗. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๔๗. สมบัติ พลายน้อย. พฤกษนิยาย. พระนคร : แพร่พิทยา, ๒๕๑๒. https://plantgeneticssite.wordpress.com/2017/11/19/%E0%B9%82%E0%B8%9E%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B9%8C-ficus-religiosa-l/

(จำนวนผู้เข้าชม 21412 ครั้ง)

Messenger