กรมศิลปากรพัฒนาฐานข้อมูลเอกสารโบราณให้บริการออนไลน์

ประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า กรมศิลปากร โดยสำนักหอสมุดแห่งชาติ ได้พัฒนาฐานข้อมูลจารึก คัมภีร์ใบลาน หนังสือสมุดไทย และตู้พระธรรม (เอกสารโบราณ) ให้บริการสืบค้นข้อมูลทางด้านเอกสารโบราณออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์ http://manuscript.nlt.go.th เพื่อให้สามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และเป็นการให้บริการวิถีใหม่ ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-19)

กรมศิลปากร ได้พัฒนาระบบฐานข้อมูลจารึก คัมภีร์ใบลาน หนังสือสมุดไทย และตู้พระธรรม เป็นฐานข้อมูลสืบค้นเกี่ยวกับเอกสารโบราณ อยู่ในความรับผิดชอบของกลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนัก หอสมุดแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการดูแลรักษา ลงทะเบียน จัดเก็บ และให้บริการเอกสารโบราณที่มีอายุ นับ ๑๐๐ ปีขึ้นไป โดยในระยะแรก ผู้ใช้บริการสามารถสืบค้นข้อมูลจารึกในประเทศไทย จำนวน ๑๗๙ รายการ ผ่านทาง http://manuscript.nlt.go.th/publicsearch โดยข้อมูลประเภทจารึก ผู้ใช้บริการสามารถดาวน์โหลดข้อมูลได้ในรูปแบบไฟล์ pdf ข้อมูลประเภทหนังสือสมุดไทยและคัมภีร์ใบลาน ผู้ใช้บริการสามารถจดเลขทะเบียนเอกสารเพื่อขอใช้บริการอ่านต้นฉบับหนังสือสมุดไทยและคัมภีร์ใบลานได้ที่ ห้องบริการเอกสารโบราณ กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ นอกจากนี้ ยังมีการเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับเอกสารโบราณ ได้แก่ คู่มือการอ่านถ่ายถอดอักษรขอม คู่มือการอ่านถ่ายถอดอักษรธรรมอีสาน คู่มือการอ่านถ่ายถอดอักษรไทยน้อย คู่มือสำรวจ จัดหา รวบรวมทรัพยากรสารสนเทศเอกสารโบราณประเภทจารึก โดยผู้ใช้สามารถดาวน์โหลดหนังสือ ในรูปแบบไฟล์ pdf ได้เช่นเดียวกับข้อมูลประเภทจารึก


อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวต่อไปว่า ในปีงบประมาณ ๒๕๖๔ นี้ อยู่ระหว่างการพัฒนาฐานข้อมูล ตู้พระธรรมหรือตู้ลายทอง ในขั้นตอนถ่ายภาพตู้พระธรรมและนำเข้าภาพถ่ายลงในฐานข้อมูลจารึก คัมภีร์ใบลาน หนังสือสมุดไทย และตู้พระธรรม (เอกสารโบราณ) รวม ๔๐๕ รายการ และในอนาคตผู้ใช้บริการจะสามารถศึกษาค้นคว้าข้อมูลเอกสารโบราณจากสำนักหอสมุดแห่งชาติ ส่วนกลาง และหอสมุดแห่งชาติส่วนภูมิภาค ๑๑ แห่ง ทั่วประเทศ


ทั้งนี้ กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ มีข้อมูลจารึก คัมภีร์ใบลาน หนังสือ สมุดไทย และตู้พระธรรม (เอกสารโบราณ) อยู่ในความดูแลกว่า ๓๒๒,๐๐๐ รายการ ผู้สนใจสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ อาคาร ๒ ชั้น ๔ สำนักหอสมุดแห่งชาติ ถนนสามเสน แขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ๑๐๓๐๐ เปิดบริการ จันทร์ – ศุกร์ เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๖.๐๐ น. โทร. ๐ ๒๒๘๐ ๙๘๕๕ โทรสาร ๐ ๒๒๘๐ ๙๘๕๗
(จำนวนผู้เข้าชม 2043 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม
-
นโยบายเว็บไซต์ |
มาตรฐาน