กรมศิลปากรขอเชิญชมวิวัฒนาการการ์ตูนไทยในนิทรรศการ “หนังสือการ์ตูนไทยไฉไลกว่าที่คิด”

กรมศิลปากร โดยสำนักหอสมุดแห่งชาติ จัดนิทรรศการเรื่อง “หนังสือการ์ตูนไทยไฉไลกว่าที่คิด” เพื่อเผยแพร่และสร้างการรับรู้ให้ตระหนักถึงความสำคัญของหนังสือการ์ตูนไทยที่เป็นทรัพยากรสารสนเทศมรดกทางวัฒนธรรม โดยจัดแสดงประวัติความเป็นมา และวิวัฒนาการของหนังสือการ์ตูนไทยตั้งแต่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นจนถึงยุคปัจจุบัน มีการจัดแสดงต้นฉบับหนังสือการ์ตูนไทยที่จัดเก็บและให้บริการที่สำนักหอสมุดแห่งชาติ ตั้งแต่เอกสารโบราณประเภทสมุดไทยขาว หนังสือหายาก หนังสือพิมพ์เก่า หนังสือการ์ตูนไทย จนถึงยุคดิจิทัล

นิทรรศการเรื่อง “หนังสือการ์ตูนไทยไฉไลกว่าที่คิด” นำเสนอวิวัฒนาการของหนังสือการ์ตูนไทยโดยแบ่งออกเป็น ๓ ยุคสมัย ดังนี้
๑. ยุคแรก (พ.ศ. ๒๓๘๗ – พ.ศ. ๒๔๗๔) จิตรกรรมไทยเริ่มมีความเปลี่ยนแปลงเนื่องจากได้รับอิทธิพลจากศิลปะตะวันตก โดย ขรัวอินโข่ง จิตรกรเอกในยุคต้นของกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นจิตรกรไทยคนแรกที่นำแนวคิดการวาดภาพจิตรกรรมแบบตะวันตกมาใช้เป็นต้นแบบในการวาดภาพ จนได้รับการยกย่องว่าเป็นจิตรกรล้ำสมัย กระทั่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีความนิยมวาดภาพล้อเลียนการเมืองในหนังสือพิมพ์ตามแบบตะวันตกกันอย่างกว้างขวาง ผลงานที่นำมาจัดแสดงในนิทรรศการฯ เช่น ลายเส้นบนสมุดไทยขาว ภาพฝีพระหัตถ์ ที่ตีพิมพ์ในหนังสือดุสิตสมิต ภาพผลงานของนักเขียนผู้บุกเบิกการเขียนการ์ตูนการเมืองคนแรกของไทย เปล่ง ไตรปิ่น

.jpg)
.jpg)


๒. ยุคบุกเบิก (พ.ศ. ๒๔๗๕ – พ.ศ. ๒๔๙๙) วงการการ์ตูนไทยเริ่มผสมผสานวัฒนธรรมตะวันตก และวัฒนธรรมไทยผ่านตัวการ์ตูนสองประเภท คือ การ์ตูนเรื่องจากวรรณคดีและนิทานพื้นบ้าน และการ์ตูนสะท้อนสภาพสังคมการเมือง นักเขียนการ์ตูนในยุคนี้ เช่น สวัสดิ์ จุฑะรพ, ฟื้น รอดอริห์, ฉันท์ สุวรรณบุณย์, ประยูร จรรยาวงศ์, เหม เวชกร, พิมล กาฬสีห์



๓. ยุคปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๐๐ – ปัจจุบัน) วงการการ์ตูนได้รับอิทธิพลจากต่างประเทศโดยเฉพาะญี่ปุ่นและจีน หนังสือการ์ตูนไทยที่ถือได้ว่าครองใจคนไทยทุกเพศทุกวัย เช่น ขายหัวเราะ มหาสนุก ไอ้ตัวเล็ก จนถึงปัจจุบันเมื่อรูปแบบสังคมเข้าสู่ยุคดิจิทัล การ์ตูนได้ปรับเปลี่ยนก้าวข้ามจากสื่อสิ่งพิมพ์กระดาษไปสู่สื่อสิ่งพิมพ์ออนไลน์


ทั้งนี้ หนังสือการ์ตูนไทยมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านเนื้อหา รูปแบบการเข้าถึง และการผสมผสานทางวัฒนธรรม แสดงถึงความเอาใจใส่ต่อสังคมและความคิดสร้างสรรค์ของนักเขียนการ์ตูนทั้งในแง่ของรูปแบบ เนื้อหาและการนำเสนอ สะท้อนความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยได้เป็นอย่างดี ผู้สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการ “หนังสือการ์ตูนไทยไฉไลกว่าที่คิด” ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๖๔ วันจันทร์ - วันศุกร์ เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๖.๓๐ น. วันเสาร์และวันอาทิตย์ เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๗.๐๐ น. หยุดวันนักขัตฤกษ์ ณ ห้องวชิรญาณ ๒ และ ๓ อาคาร ๒ ชั้น ๑ สำนักหอสมุดแห่งชาติ



(จำนวนผู้เข้าชม 1950 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม
-
นโยบายเว็บไซต์ |
มาตรฐาน