สามพระพุทธปฏิมา ณ พระนครคีรี

           พระพุทธรูปสำคัญองค์แรกประจำพระนครคีรีที่จะนำเสนอคือ “พระพุทธสุวรรณเขต” (จำลอง) เป็นพระพุทธรูปที่จัดสร้างขึ้นใหม่ ที่ฐานด้านหน้ามีจารึกข้อความ “พระพุทธสุวรรณเขต” ซึ่งทางจังหวัดเพชรบุรี ได้มอบให้อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๒ เป็นปีเดียวกับที่มีพิธีเปิดอุทยานประวัติศาสตร์ พระนครคีรี และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี โดยพระพุทธสุวรรณเขต (จำลอง) แต่เดิมประดิษฐานอยู่ ณ ศาลาด้านข้างพระปรางค์แดง ปัจจุบันย้ายมาประดิษฐาน ณ หอพิมานเพชรมเหศวร์ ด้านหลังพระพุทธรูปศิลปะล้านนา (จำลอง) ณ หอพิมานเพชรมเหศวร์ (อาคารหลังกลาง) ซึ่งเป็นอาคารที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) ทรงใช้บรรทมในวันธรรมสวนะ ซึ่งทรงถืออุโบสถศีลเช่นเดียวกับหอเสถียรธรรมปริตในพระบรมมหาราชวัง
           สำหรับพระสุวรรณเขตองค์จริงนั้นปัจจุบันประดิษฐานอยู่ ด้านหลังพระพุทธชินสีห์ ณ อุโบสถ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร จังหวัดกรุงเทพมหานคร ประวัติพระสุวรรณเขต แต่เดิมเป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ มีชื่อว่า “พระศรีสรรเพชญสัตตพันพาน” เป็นพระประธานประดิษฐาน ณ วัดสระตะพาน จังหวัดเพชรบุรี หน้าตักกว้าง ๙ ศอก ๒๑ นิ้ว ตำนานปรัมปราเล่าสืบต่อกันว่า ในอดีตการแปรสภาพพระพุทธรูปโลหะให้กลายเป็นพระพุทธรูปทองคำ นั้นสามารถทำได้โดยการฝังแร่กายสิทธิ์ที่ชื่อ สุวรรณเขต หรือ สุวรรณขีด ลงไปในเม็ดพระศก (ผม) ขององค์พระพุทธรูป จะทำให้โลหะนั้นกลายเป็นทองคำทันที และเชื่อกันว่าน่าจะมีแร่สุวรรณเขตอยู่ในเม็ดพระศกของพระศรีสรรเพชรสัตตพันพาน และพระพุทธรูปองค์นี้ได้อยู่คู่บ้านคู่เมืองเพชรบุรีมาโดยตลอด
           จนกระทั่งในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ประมาณพุทธศักราช ๒๓๖๗(ตรงกับรัชกาลที่ ๓) กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์ได้ทรงอัญเชิญ โดยชะลอจากวัดสระตะพาน เมืองเพชรบุรี มาเป็นพระประธานในอุโบสถวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร (การเคลื่อนย้ายครั้งนั้นได้รื้อออกเป็นท่อนๆแล้วนำมาประกอบที่กรุงเทพฯ) และมีชื่อเรียกต่อมากันว่า “พระสุวรรณเขต” หรือ “หลวงพ่อโตวัดบวร” หรือที่เป็นรู้จักกันว่า “หลวงพ่อเพชร” อันเนื่องจากเคยเป็นพระพุทธรูปที่มาจากเมืองเพชรบุรี เมื่อพระพุทธรูปองค์นี้มาเป็นพระประธาน ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงเวลาที่มีความนิยมทำเม็ดพระศกพระพุทธรูปขนาดเล็ก ดังนั้นพระยาชำนิหัตถการช่างวังหน้าของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิ์พลเสพ จึงได้ทำพระศกพระสุวรรณเขตเสียใหม่ กล่าวคือจากเดิมที่มีพระศกขนาดใหญ่ (เช่นเดียวกับพระพุทธชินสีห์) กลายเป็นมีพระศกขนาดเล็กแทนตามความนิยมในช่วงเวลานั้น วิธีการทำพระศกคือการทำด้วยดินเผาและลงรักปิดทอง อย่างไรก็ตามยังคงเห็นเค้าลางของรูปแบบศิลปกรรมเดิมที่สะท้อนให้เห็นว่าพระพุทธรูปองค์นี้มีความเก่าแก่ อาทิ ขอบไรพระศก และ พระพักตร์ค่อนข้างเหลี่ยม เป็นต้น


           พระพุทธรูปสำคัญองค์ที่สองประจำพระนครคีรีที่จะนำเสนอคือ “พระไพรีพินาศ” (จำลอง) ประดิษฐาน ณ พระปรางค์แดง พระนครคีรี เมืองเพชรบุรี เป็นพระพุทธรูปขนาดย่อม หน้าตักกว้าง ๓๓ ซม. และมีความสูงถึงปลายรัศมี ๕๓ ซม. สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้มีพระวินิจฉัยในสาสน์สมเด็จว่า “พระไพรีพินาศเป็นพระพุทธรูปแบบมหายานปางประทับ นั่งประทานอภัย กล่าวคือ มีพระพุทธลักษณะเหมือนพระปางมารวิชัยหัตถ์ขวาที่วางอยู่บนพระชานุขี้น”
           เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวช มีเรื่องเล่าปรากฏในเอกสารต่าง ๆ ว่ามีผู้ไม่หวังดีกลั่นแกล้งต่าง ๆ นานา โดยเจตนาจะไม่ให้ได้รับราชสมบัติ ที่เห็นชัดก็คือ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยใกล้จะเสด็จสวรรคตมีผู้ไปทูลอ้างรับสั่งให้ไปเฝ้า เมื่อเสด็จไปก็ถูกกักบริเวณให้อยู่ใน พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ถึง ๗ วัน ผู้ที่ต้องสงสัยว่าเป็นคนวางแผน ก็คือ กรมหลวงรักษ์รณเรศ ซึ่งแสดงตนเป็นหัวเรือใหญ่ กีดกันไม่ให้สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎฯ ได้ราชสมบัติ ท่านผู้นี้เคยแกล้ง พระธรรมยุติที่เข้าไปรับบาตรในวัง โดยแกล้งเอาข้าวต้มร้อน ๆ ใส่บาตร บาตรเหล็กถูกของร้อนก็ร้อน ไปด้วยพระทนความร้อนไม่ได้ก็ต้องโยนบาตรทิ้ง และกรมหลวงรักษ์รณเรศเป็นคนมักใหญ่ใฝ่สูง จนถึงคิดจะเป็นพระเจ้าแผ่นดินเสียเองถ้ารัชกาลที่ ๓ สวรรคต ทั้งยังเคยเจรจามั่นหมายไว้ว่า ถ้ามีวาสนาใหญ่โตจะมีสิทธิ์ขาดในแผ่นดินแล้ว ก็จะทำลายล้างสิ่งที่สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎฯ ทำไว้จนหมดสิ้น
           เผอิญมีผู้ทำฎีกากล่าวโทษกรมหลวงรักษ์รณเรศด้วยข้อหาร้ายแรงหลายเรื่อง โปรดให้ชำระมีความผิดฉกรรจ์ จึงโปรดให้ลงพระราชอาญาแล้วให้สำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๓๙๑ กล่าวกันว่าในเวลาใกล้เคียงกับที่กรมหลวงรักษ์รณเรศถูกสำเร็จโทษนั้นมีคนอัญเชิญพระพุทธรูปศิลาแบบมหายาน ปางนั่งประทานอภัย มาถวายสมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎฯ ที่วัดบวรนิเวศวิหาร จึงโปรดถวายพระนามว่า “พระไพรีพินาศ” เป็นนิมิตหมายว่าหมดศัตรูแล้ว ต่อมาเมื่อเสวยราชสมบัติได้ประมาณ ๒ ปี คือ พุทธศักราช ๒๓๙๖ ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล “ผ่องพ้นไพรี” เนื่องจากทรงหลุดพ้นจากการเบียดเบียนของศัตรูเป็นงานใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ด้วยเหตุนี้จึงนับถือกันว่า “พระไพรีพินาศ” เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์อาจบันดาลให้ศัตรูพ่ายแพ้ไปในที่สุด ซึ่งพระนามของพระพุทธรูปองค์สำคัญนี้ว่า “พระไพรีพินาศ” มีหลักฐานเป็นกระดาษซึ่งพบในพระไพรีพินาศเจดีย์ มีอักษรเขียนว่า “พระสถูปเจดียสิลาบัลลังองค์ จงมีนามว่า พระไพรีพินาศเจดียเทิญ” และอีกด้านเขียนว่า “เพราะตั้งแต่ทำแล้วมา คนไพรีก็วุ่นวายยับเยินไปโดยลำดับ” หลักฐานดังกล่าวได้ค้นพบเมื่อวันจันทร์ที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๐๗ ระหว่างการซ่อมแซม พระเจดีย์ ๙๖ ปี วัดบวรนิเวศวิหาร


           พระพุทธรูปสำคัญองค์สุดท้ายประจำพระนครคีรีที่จะนำเสนอคือ “พระนิรันตราย” (จำลอง) ประดิษฐาน ณ วิหารวัดพระแก้วน้อย พระนครคีรี เมืองเพชรบุรี เป็นพระพุทธรูปนั่ง ปางสมาธิ หล่อด้วยทองคำ เบื้องหลังมีเรือนแก้วเป็นพุ่มพระมหาโพธิ มีอักษรขอมจำหลักลงในวงกลีบบัวเบื้องหน้า ๙ เบื้องหลัง ๙ ยอดเรือนแก้วมีรูปพระมหามงกุฎตั้งติดอยู่กับฐานชั้นล่างรองฐานพระซึ่งเป็นที่สำหรับรับน้ำสรงพระ มีท่อเป็นศีรษะโคแสดงเป็นที่หมายพระโคตรซึ่งเป็นโคตมะ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริแบบสร้างขึ้น จากเหตุการณ์เมื่อปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๙๙ กำนันอินและนายยังบุตรชาย ขุดพบพระพุทธรูปหล่อด้วยทองคำเนื้อหก น้ำหนัก ๘ ตำลึง ที่ชายป่าแขวงเมืองปราจีนบุรีห่างจากดงศรีมหาโพธิ์ประมาณสามเส้น ในขณะที่กำลังขุดมันนกกันอยู่ โดยก่อนหน้านั้น ฝันว่าจับช้างเผือกได้ จึงให้พระเกรียงไกรกระบวนยุทธ์ ปลัดเมืองฉะเชิงเทรา พาเข้ามา ณ กรุงเทพฯ เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ในวันพระฤกษ์เฉลิมพระราชมณเฑียรสีตลาภิรมย์ แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญมาประดิษฐานที่หอเสถียรธรรมปริตร ครั้นเมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๔๐๓ มีผู้ร้ายลักพระกริ่งองค์น้อยซึ่งตั้งอยู่กับพระทองคำองค์นี้ไป แต่พระทองคำองค์นี้ผู้ร้ายควรที่จะลักไปด้วย ก็เผอิญแคล้วคลาด เรื่องทราบถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงถวายพระนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “พระนิรันตราย” แล้วทรงพระราชดำริแบบให้เจ้าพนักงานหล่อพระพุทธรูปปางสมาธิ ตามพุทธลักษณะ ครอบพระพุทธรูปองค์เดิมมาจนถึงทุกวันนี้

---------------------------------------------------
สามารถอ่านต่อเพิ่มเติมได้จาก พนมกร นวเสลา. พระพุทธรูปจำลองบนพระนครคีรี . ใน www.phranakhonkhiri.com หัวข้อ คลังความรู้

---------------------------------------------------
ข้อมูลจาก : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี
---------------------------------------------------

อ้างอิง : กรมศิลปากร. พระพุทธรูปสำคัญ. กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2545. ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม และ ขจร สุขพานิช. พระเกียรติประวัติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ: มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2547. ดำรงราชานุภาพ,สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยา. ตำนานพระพุทธรูปสำคัญ. กรุงเทพฯ.กรมศิลปากร,2496. ทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสิทร์ รัชกาลที่ ๔. (พิมพ์ครั้งที่ 6). กรุงเทพฯ: บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), 2558.

(จำนวนผู้เข้าชม 5514 ครั้ง)

Messenger